บนถนนเวียงเหนือ
หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า ถนนวัฒนธรรม ศูนย์สาธิตการตลาดชุมชนท่ามะโอตั้งอยู่ในบ้านของ
‘พี่แอ๋ว’ สุธามาศ เจนเจริญพันธ์ โดยด้านหน้าแบ่งพื้นที่ต่อเติมเป็นร้านค้า
หากเราเดินเข้าไป จะพบว่าภายในพื้นที่เล็กๆนี้อัดแน่นไปด้วยสินค้าเพื่อสุขภาพและสินค้าแฮนด์เมด
ซึ่งส่วนใหญ่ทำโดยคนในชุมชนท่ามะโอ มีบ้างที่มาจากต่างอำเภอ
ไกลที่สุดก็จากจังหวัดลำพูน
ก่อนหน้านี้สุธามาศทดลองปลูกข้าวหลากหลายในผืนนาของครอบครัวที่มีพื้นที่กว่า
16 ไร่ ผ่านไปกว่า 2 ปีจึงพบว่า ข้าวไรซ์เบอร์รีที่ปลูกโดยวิถีเกษตรอินทรีย์นั้น
เหมาะกับครอบครัวของเธอมากที่สุด เมื่อได้ผลผลิต 700-800 ตัน
เพียงพอที่จะเก็บไว้กินและแจกจ่ายคนใกล้ชิด จึงเริ่มคิดจะเปิดหน้าร้านหน้าบ้านของตนเองบนถนนวัฒนธรรม
เพื่อขายข้าวไรซ์เบอร์รี แต่จากการแนะนำของ ประทีป เมืองแก่น และสดศรี
ขัตติยวงศ์ ซึ่งขณะนั้นกำลังขับเคลื่อนชุมชนท่ามะโอให้มีกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
บ้านของสุธามาศจึงไม่เพียงวางจำหน่ายข้าวไรซ์เบอร์รี
แต่ยังได้ชักชวนให้คนในชุมชนท่ามะโอนำสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบในชุมชนมาวางจำหน่ายด้วย
และนี่คือจุดเริ่มต้นการดำเนินงานของศูนย์สาธิตการตลาดชุมชนท่ามะโอในปี พ.ศ. 2558
ชาวบ้านที่นำสินค้ามาวางจำหน่ายในศูนย์ฯ
มีมากถึง 20
กว่าคน สินค้าส่วนใหญ่ผลิตโดยคนในชุมชนและใช้วัตถุดิบคือพืชพรรณในชุมชน
ตั้งแต่ของกินขึ้นชื่ออย่างข้าวหมาก ข้าวแต๋นน้ำอ้อย ซึ่งต้นอ้อยนั้นสุธามาศปลูกเอง
หีบเอง ไอศกรีมโบราณหน้าตาน่ารักน่ากินทำจากผลไม้ตามฤดูกาล คุกกี้ แยมโรล ขนมเทียน
ขนมปัง เค้ก ขนมเหล่านี้แปรรูปจากข้าวไรซ์เบอร์รี หรือไม่ก็ผลไม้ ส่วนชารางจืดและชาเชียงดาก็เป็นสินค้าเด่นที่ผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาดเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีข้าวไรซ์เบอร์รี
ข้าวกล้องหอมมะลิ จากไร่ของสุธามาศ ส่วนข้าวสังข์หยดและข้าวญี่ปุ่นปลูกที่อำเภอเกาะคา
ผงแกงฮังเล ผงข้าวซอย ผักปลอดสารพิษ ด้านของใช้ก็เช่น สบู่น้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี
แชมพูสมุนไพร น้ำยาล้างจาน ยาดม-ยาทาสมุนไพรหลากหลายสูตรและสรรพคุณ น้ำหมัก
ปุ๋ยมูลไส้เดือน รวมไปถึงสินค้าแฮนด์เมดกระจุกกระจิก ที่หยิบจับแล้วเป็นต้องซื้อกลับไปเป็นของฝากจนได้ขณะที่มุมหนึ่งของร้านยังจัดวางข้อมูลท่องเที่ยว
ไม่ว่าจะเป็นแผนที่เส้นทางจักรยาน หรือโบรชัวร์แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนท่ามะโอ
ซึ่งรถรางก็เป็นจุดขายหนึ่งที่กำลังมาแรง
แต่ละวันสุธามาศในฐานะเหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
พอถึงสิ้นเดือนก็เคลียร์ยอด ทั้งนี้ หากเป็นสินค้าทั่วไปจะหักรายได้เพื่อบำรุงศูนย์ฯ
20 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเป็นสินค้าประเภทข้าวจะหัก 15 เปอร์เซ็นต์
นับเป็นรูปแบบการบริหารจัดการที่อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นหลัก
“ถ้าเป็นวันศุกร์จะขายดีหน่อยค่ะ
เพราะมีถนนวัฒนธรรม ส่วนวันธรรมดาก็เงียบๆ” สุธามาศเล่าพลางยิ้ม
“บางวันมีฝรั่งมาเช่าจักรยานบ้าง บางวันมีคณะมาดูงาน
ก็จะแวะมาซื้อของที่ศูนย์ฯ”
ไม่เพียงของกินของใช้
ที่นี่ยังมีจักรยาน 11
คันให้เช่า คิดค่าบริการวันละ 50 บาท
ชั่วโมงละ 20 บาท แถมแผนที่เส้นทางจักรยานให้อีก
เหนื่อยกลับมายังได้นั่งกินขนม หรือไม่ก็น้ำอ้อยปั่น ไอศกรีมผลไม้ หวานเย็นชื่นใจ
ผ่านมา 2 ปีนับตั้งแต่วันที่เปิดศูนย์ฯ
ที่นี่มีสินค้าผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาวางจำหน่ายเรื่อยๆ สุธามาศมองว่า
นอกจากความหลากหลายของสินค้าแล้ว การทำแพ็กเกจสวยๆ ก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจละเลย
ซึ่งเรื่องนี้คงต้องหาทางปรับปรุงกันต่อไป
“ของกินเป็นสินค้าที่ขายง่ายค่ะ
เพราะเราเน้นวัตถุดิบจากธรรมชาติ ปลอดสารเคมีอยู่แล้ว ซึ่งคนรักสุขภาพจะชอบ” สุธามาศกล่าวว่า
แม้รายได้จากการขายสินค้าจะไม่มากขนาดเป็นกอบเป็นกำ แต่คนในชุมชนก็พอใจ
ผู้สูงอายุมีความสุขที่ได้ทำของมาขาย
คนในชุมชนได้แสดงฝีมือทำโน่นทำนี่ตามความถนัดของเขา
นี่อาจเป็นดอกผลที่แบ่งบานให้คนในชุมชนได้ชื่นใจมากกว่าเม็ดเงิน
หรือการเติบโตแบบก้าวกระโดด“เราคุยกันว่า ชุมชนท่ามะโอของเราจะค่อยๆ ขับเคลื่อนกันไปอย่างนี้ดีกว่า
ดูเป็นการเติบโตอย่างช้าๆ แต่ว่ายั่งยืน” สุธามาศทิ้งท้าย
ชุมชนท่ามะโอได้รับการคัดเลือกให้เป็น
1
ใน 12 สุดยอดชุมชนเชิงสร้างสรรค์ปี 2558
สนใจสินค้าของพวกเขา สามารถแวะไปชิมและช็อปฯ ได้ที่ศูนย์ฯ
ถนนเวียงเหนือ โทรศัพท์ 08-6349-9718 หรือเข้าไปเยี่ยมชม Facebook
: ศูนย์สาธิตการตลาดชุมชนท่ามะโอ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1135 วันที่ 30 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น