
โครงการ
“ปิดทองหลังพระ”ลำปางเดินหน้า ปลูกแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามรอย ร.9 นำร่องแล้ว 272
หมู่บ้าน ดันโครงการที่แล้วเสร็จเข้าแผนพัฒนาจังหวัด
ปี61 กว่า 10 ล้านบาท หวังสร้างเศรษฐกิจชุมชนโดยคนในพื้นที่ครบทุกหมู่บ้าน
ศุกลรัตน์ จันทร์มณี ผู้อำนวยการกลุ่มศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปาง
ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยการนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนา
ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พ.ศ.2557-2560 โดยกำหนดพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมาย
ดำเนินการไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
ส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้เน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่
(Area-based
Approach) เป็นหลัก
และให้มีการบูรณาการการทำงานในพื้นที่ร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ประชน
ในการเชื่อมโยงข้อมูลระดับพื้นที่ เพื่อทราบปัญหาและความต้องการที่แท้จริง
ของชุมชน นำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์หรือแผนชุมชน ตามแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 'ในหลวง
รัชกาลที่ 9' ทั้งนี้ทางจังหวัดลำปาง
มีหมู่บ้านเป้าหมายการพัฒนา จำนวน 272 หมู่บ้าน มาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2557
(ยุค ผวจ.นายธานินทร์ สุภาแสน ประจำปีงบประมาณ 2558) มาจนถึงปัจจุบัน
แบ่งพื้นที่รับผิดชอบ
เป็น 3 โซน คือ พื้นที่โซนเหนือ
ประกอบด้วย อำเภอเมืองปาน แจ้ห่ม วังเหนือ และงาว พื้นที่โซนกลาง ประกอบด้วย
อำเภอเมืองลำปาง เกาะคา ห้างฉัตร แม่เมาะ และแม่ทะ และพื้นที่โซนใต้ ประกอบด้วย อำเภอเสริมงาม
สบปราบ เถิน และแม่พริก โดยมีนายอำเภอแต่ละพื้นที่เป็นแกนประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยรัฐจัดสรรงบประมาณ ใช้ในการรวมรวมข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน ให้ทุกอำเภอตามจำนวนของหมู่บ้านๆ
ละ 3,000 บาท รวม 272 หมู่บ้าน(จาก 932 หมู่บ้าน) เป็นเงิน 816,000 บาท
และสนับสนุนระดับจังหวัดจำนวน 205,000 บาท สำหรับใช้ในการบริหารจัดการ กำกับดูแล
ติดตามประเมินผลการดำเนินงานของทุกอำเภอ ในการร่วมเดินสำรวจข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ-สังคมของครัวเรือนและสภาพพื้นที่ภาพรวมของหมู่บ้าน
จับพิกัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยมองเห็นปัญหาทุน
และศักยภาพชุมชนนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหากำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่มีการรับรองความถูกต้องของข้อมูล
ร่วมกัน และใช้เทคโนโลยี GPSและ GIS สารสนเทศภูมิศาสตร์และงานด้านไอทีมาจัดข้อมูลให้สามารถคลิกดูได้สะดวก
“หัวใจสำคัญของการจัดทำแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์หรือโครงการปิดทองหลังพระความสำคัญอยู่ที่ทีมงานในการที่จะเข้าไปเป็นตัวขับเคลื่อน
ช่วยเหลือ ดูแลหมู่บ้านให้ชาวบ้านสามารถเดินได้ตนเองได้ในที่สุด
ซึ่งระยะของการอยู่รอดนั้นจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ที่รัฐจะเป็นพี่เลี้ยงให้ การทำงานโครงการปิดทองหลังพระ
ทุกขั้นตอนมีรูปแบบวิธีการทำงานที่มุ่งเน้นให้เห็นถึงหลักการทำงานที่ต้องลงมือ
ปฏิบัติจริง และใช้ข้อมูลที่มีอยู่เดิม รวมทั้งข้อมูลที่ต้องสำรวจใหม่นำ ไปสู่แผนพัฒนาของหมู่บ้าน
ที่ผ่านมา เราพบว่า หลายหมู่บ้านมีศักยภาพหลายด้าน ที่ยังไมได้ถูกพัฒนาด้วยคนในท้องถิ่นเอง
เช่น บางแห่งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ได้ บางมีแหล่งน้ำ มีวัตถุดิบสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนใหม่ๆที่ยังไม่มีใครในหมู่บ้านนั้นทำ
ขณะนี้ หลายหมู่บ้านเริ่มจะเห็นภาพและรู้จักวิธี ลุกขึ้นมาคิดและทำโครงการต่างๆ
ส่วนเรื่องงบประมาณ มีหลายช่องทางที่หน่วยงานต่างๆพร้อมจะสนับสนุน
หรือแม้กระทั่งงบประมาณประจำปีของท้องถิ่นก็นำงบประมาณลงระดับพื้นที่ได้อย่างเกิดประโยชน์”
ทั้งนี้การจัดทำแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ
ตามลักษณะของแผนงาน โครงการมี 3 รูปแบบคือ1. โครงการที่ดำเนินการเองโดยหมู่บ้าน
ซึ่งไม่ใช้งบประมาณ2. โครงการที่ดำเนินการร่วมระหว่างหมู่บ้านกับ อปท.
หรือส่วนราชการ โดยลักษณะใช้แรงงานของชาวบ้าน อปท.
หรือส่วนราชการสนับสนุนงบประมาณจัดหาวัสดุ3.
โครงการที่ขอรับการสนับสนุนเนื่องจากเกินขีดความสามารถของหมู่บ้าน ขณะนี้ทางจังหวัดได้นำแผนโครงการ
272 หมู่บ้านเข้าขอรับการสนับสนุนตามแผนพัฒนาจังหวัด ปี 2561 ประมาณ 10 ล้านบาท
สร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก
โครงการปิดทองหลังพระเปรียบเสมือนการสร้างรากฐาน
เสาเข็มที่แข็งแกร่งให้กับพื้นที่ระดับชุมชนและหมู่บ้าน
เตรียมความพร้อมตัวเองให้สอดรับกับแนวทางการพัฒนาจังหวัด
และแนวทางของหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อผลักดันให้แนวทางตามพระราชดำริ
เป็นขุมทรัพย์ของเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนนั้นๆอย่างแท้จริง และมีเป้าหมายขยายพื้นที่ให้ครบ
ทุกหมู่บ้านโดยเร็ว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1137 วันที่ 14 - 20 กรกฎาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น