วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

อาทิตย์ทรงกลด

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชา หากใครแหงนมองท้องฟ้าเมืองลำปางคงเห็นวงกลมสีรุ้งล้อมรอบดวงอาทิตย์วงมหึมา สำหรับ ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติผู้เชี่ยวชาญด้านปรากฏการณ์บนท้องฟ้าจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ ที่บรรดาสมาชิกชาวลำปางพากันโพสต์ภาพดวงอาทิตย์ในวันนั้นลงเพจของชมรมฯ มากมาย ย่อมเชื่อว่านี่ไม่ใช่เรื่องของลางบอกเหตุ หรือปาฏิหาริย์ใด ๆ แต่คือปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลด หรือเรียกเต็ม ๆ ว่าการทรงกลดแบบวงกลม 22 องศา(22 degree circular halo) เนื่องจากขนาดเชิงมุมวัดจากจุดศูนย์กลางไปยังเส้นขอบวงกลมมีค่า 22 องศานั่นเอง และถ้าเรากางนิ้วโป้งและนิ้วก้อยออกเต็มที่ แล้วยื่นออกไปจนสุดแขน ให้นิ้วโป้งอยู่ตรงดวงอาทิตย์ ก็จะพบว่า ปลายนิ้วก้อยนั้นแตะเส้นขอบวงพอดิบพอดี

ดร. บัญชาเคยเขียนบทความเรื่อง “มหัศจรรย์แห่งอาทิตย์ทรงกลด” ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดีฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 ให้ความรู้เรื่องอาทิตย์ทรงกลดแบบต่าง ๆ การทรงกลดแบบวงกลม 22 องศาเหนือท้องฟ้าเมืองลำปางในวันนั้น ดร. บัญชาอธิบายว่า เกิดจากแสงอาทิตย์ ซึ่งพุ่งผ่านผลึกน้ำแข็งแล้วหักเหไปจากเดิมเป็นมุม 22 องศา โดยแสงนั้นพุ่งเข้าทางหน้าผลึกด้านข้างหน้าหนึ่ง แล้วออกจากหน้าผลึกด้านข้างอีกหน้าหนึ่ง

ผลึกน้ำแข็งที่ว่านี้ ส่วนใหญ่อยู่ในเมฆระดับสูงที่เรียกว่า ซีร์โรสเตรตัส ซึ่งมีลักษณะคล้ายหมอกจาง ๆ แผ่กระจายออกไปทางด้านข้างในแนวระดับ แต่เนื่องจากผลึกจำนวนมหาศาลเอียงตัวในทิศทางต่าง ๆ อย่างสุ่ม ๆ ในเมฆชนิดนี้ ผลก็คือ แสงที่พุ่งออกมาจากผลึก (หรือจากเมฆเมื่อมองภาพรวม) จะเบี่ยงเบนจากแนวแสงตกกระทบเป็นมุม 22 องศาในทิศทางใดก็ได้ หมายความว่า คนที่แหงนมองฟ้าในเวลานั้นจะเห็นแสงที่หักเหมาจากทิศทางต่าง ๆ ซึ่งทำมุม 22 องศาเทียบกับดวงอาทิตย์ นั่นคือการทรงกลดจะปรากฏเป็นรูปวงกลม

ส่วนสีรุ้งที่ล้อมรอบดวงอาทิตย์เกิดจากการที่แสงสีต่าง ๆ หักเหผ่านผลึกด้วยมุมที่แตกต่างกันเล็กน้อย แสงสีแดงเบี่ยงเบนไปจากแนวเดิมน้อยสุด จึงปรากฏอยู่ตรงขอบใน คือด้านใกล้ดวงอาทิตย์ ส่วนแสงสีม่วงเบี่ยงเบนไปมากสุด จึงปรากฏอยู่ตรงขอบนอก

ดร. บัญชากล่าวว่า การทรงกลดของดวงอาทิตย์ยังมีอีกอย่างน้อย 20 รูปแบบ เพียงแต่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง หรือไม่ชัดเจนเท่าการทรงกลดแบบวงกลม 22 องศาอย่างไรก็ตาม การทรงกลดทุกรูปแบบมีหลักการเหมือนกัน คือ แสงจะตกกระทบกับผลึกน้ำแข็งในอากาศ และเกิดการเบี่ยงเบนทิศทางไปจากเดิม โดยอาจเกิดจากการสะท้อนออกจากผิวของผลึกน้ำแข็ง หรือการหักเหภายในผลึกน้ำแข็งผลึกที่ว่านี้ก็มีหลายแบบ แต่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปรากฏการณ์ทรงกลดมี 3 แบบหลัก ได้แก่ ผลึกรูปแผ่น ผลึกรูปพีระมิด และผลึกรูปแท่ง ทั้งนี้ ผลึกรูปแท่งทำให้เกิดการทรงกลดแบบวงกลม 22 องศา ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดในบรรดาการปรากฏการณ์ทรงกลด

แสงที่ตกกระทบผลึกอาจมาจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือแหล่งกำเนิดแสงที่มีความเข้มสูงเพียงพอก็ได้ ทั้งนี้ การทรงกลดที่เกิดจากดวงอาทิตย์ เรียกว่า solar halo หรือ sun halo ส่วนการทรงกลดที่เกิดจากดวงจันทร์ เรียกว่า lunar halo หรือ moon haloส่วนผลึกน้ำแข็งที่ทำให้เกิดการทรงกลดมักพบในเมฆระดับสูง (สูงกว่า 6 กิโลเมตร) โดยที่ความสูงในระดับนี้ น้ำในเมฆจะเย็นตัวกลายเป็นน้ำแข็ง เมฆที่มักทำให้เกิดการทรงกลด อาทิ เมฆซีร์โรสเตรตัส

ช่วงนี้ทั่วประเทศเกิดอาทิตย์ทรงกลดบ่อยครั้ง มีข้อแนะนำในการชมก็คือ อย่ามองไปที่ดวงอาทิตย์โดยตรง ไม่ว่าจะด้วยตาเปล่า หรือมองผ่านกล้องถ่ายรูป อาจอาศัยต้นไม้ อาคารบ้านเรือน เสา หรือเอามือบังส่วนที่เป็นดวงอาทิตย์ไว้ พอเห็นการทรงกลดแบบ 22 องศาแล้ว ดร. บัญชายังแนะนำให้ลองมองหารูปแบบการทรงกลดแปลก ๆ เพิ่มเติม ก็คงต้องอาศัยการเรียนรู้จดจำในรายละเอียดต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1137 วันที่ 14 -20 กรกฎาคม 2560)

            
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์