บางโมงยาม ก็อยากเล่าเรื่องใกล้ตัว ในฐานะคนหนังสือพิมพ์ ที่อยู่ในอาชีพนี้มาค่อนชีวิต ผ่านกาลเวลา ผ่านยุคสมัยตั้งแต่ยุคเครื่องพิมพ์ฉับแกระ ต้องใช้เท้าเหยียบให้เครื่องเดิน และระหว่างพิมพ์ มันจะมีเสียงดัง ฟังเหมือนคำว่าฉับแกระ ๆ จนถึงยุคดิจิตอล ที่ชิ้นเหล็กเล็กๆไม่ใหญ่ไปกว่าฝ่ามือ สามารถที่จะสื่อสารครบวงจร ทั้งภาพ เสียง ตัวหนังสือ กราฟฟิค
นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงตัวเรียงตะกั่ว ซึ่งน่าจะสาบสูญไปจากระบบการพิมพ์แล้ว
บนเส้นทางคนหนังสือพิมพ์ เกือบ 40 ปี มีหลายเรื่องราว ที่อยากถ่ายทอดประสบการณ์ วิชา ความรู้แบบ “ของจริง” ให้กับคนทำสื่อรุ่นหลัง ซึ่งความปรารถนานี้ส่วนหนึ่งสำเร็จแล้ว ด้วยบทบาท “ครูคนข่าว” ที่สอนเด็กวารสาร นิเทศศาสตร์ หลายมหาวิทยาลัยมาเกือบ 20 ปี
แต่ระหว่างทางนั้น ใช่ว่าจะมีเฉพาะประสบการณ์ทำงาน ที่แปรรูปเป็นงานวิชาการเท่านั้น แต่ยังมีประสบการณ์นอกตำรา ที่ไม่มีใครเขียนไว้อีกไม่น้อย หนึ่งในนั้นอาจเป็นเรื่องของ งานในเชิงวิพากษ์ วิจารณ์ งานเขียนบทความ เขียนคอลัมน์ ซึ่งไม่ได้แปลว่า ใครก็ได้สามารถมาทำหน้าที่นี้ แต่ต้องเกิดจากการอบรมบ่มเพาะ ความใส่ใจในความรู้แขนงต่างๆ และกว่าจะเข้าถึงพื้นที่เช่นนี้ได้ คอลัมนิสต์ คนข่าวอีกไม่น้อย ต้องผ่านบทเรียน จังหวะและโอกาสที่แตกต่างกัน หากแต่ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการเป็นมวยแทน
วิถีของคนเขียนคอลัมน์ นสพ.รายวัน ในตำแหน่งหน้า 3 หรือหน้า 5 นั้น ไม่ได้มากันง่ายๆ อย่างน้อย ต้องคล้ายพระบวชหลายพรรษา วิชาแก่กล้า จึงจะเป็นที่ยอมรับและสามารถมีพื้นที่ มีชื่อ มีคอลัมน์เป็นของตัวเอง
แต่ก็มีโอกาสที่ละอ่อนทางขีดเขียน มีอายุงานไม่นานปี จะเข้าถึงพื้นที่นั้นได้ ถ้าบังเอิญลูกพี่มีกิจธุระบ่อยครั้ง หรือเมามายยังไม่สร่าง เมื่อถึงเวลาส่งต้นฉบับ
เอ็งเขียนแทนพี่ด้วย'
คำๆนี้ จุดความฝันให้บรรเจิด เป็นโอกาสทองที่ต้องรีบคว้าไว้ ถึงแม้เป็นเพียง 'มวยแทน' แต่หลายคนที่เติบโต ก้าวหน้า มีพื้นที่ที่เรียกกันว่า เป็นคอลัมนิสต์ มาจนถึงวันนี้ได้ ก็เพราะบทบาทมวยแทนนี่เอง
พี่หัตถกร พรหมสุวรรณ นักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ และดารานักแสดงละครโทรทัศน์หลายเรื่อง เจ้าของคอลัมน์ตัวจริงล่วงลับไปเนิ่นนาน แต่โอกาสที่พี่หยิบยื่นให้เมื่อเกือบ ๔๐ ปีก่อน ยังออกดอกออกผลมาจนถึงวันนี้
และจากวันนั้น “จอกอ” ก็มีคอลัมน์เป็นของตัวเอง มีงานเขียนวิพากษ์สังคม ต่อเนื่องยาวนาน ไม่เคยขาดหาย ไม่เคยหนีหน้าไปไหน
หลังจากเป็น 'มวยแทน' เขียนคอลัมน์แทนเขามาไม่นานวัน สายวันหนึ่ง 'สุขสันต์ สมพงษ์' พี่ชายพ.อ.วินัย สมพงษ์ หัวหน้ากองบรรณาธิการ ก็กวักมือเรียกเข้าห้อง ในใจคิดครั่นคร้ามว่า คงโดนเอ็ดแน่ เพราะริจะไปเขียนคอลัมน์แทนนักข่าวรุ่นใหญ่ คงมีบางถ้อยคำที่เขาไม่พอใจ คงถูกตำหนิ ติเตียนและคงไม่มีโอกาสเขียนคอลัมน์อีก
แต่ทันทีที่ลงนั่งตรงหน้าสุขสันต์ สมพงษ์ คำที่เขากล่าวกลับชุบชูหัวใจให้สดใสกาววาวอีกครั้ง
เอ็งเขียนหนังสือดีนี่ เปิดคอลัมน์ประจำเลยดีไหม ชื่อคอลัมน์อะไรดี'
เขาปล่อยถ้อยคำออกมาเป็นชุด แทบไม่มีช่องว่างสำหรับคำตอบ แต่เมื่อนาทีแห่งความงงงันผ่านไป ผมก็ได้ยินเสียงตัวเองตอบคำแผ่วๆ เหมือนมันล่องลอยมาจากแดนไกล
'คาบลูก คาบดอก ครับ'
เออดี ฟังดูกึ่งๆ ไม่ได้ ไม่เสีย เริ่มเขียนตั้งแต่ฉบับพรุ่งนี้เลยนะ'
บทสนทนาเพียงไม่กี่ประโยคนี้ เป็นจุดเริ่มต้น การเรียน ก.ไก่ ทางการขีดเขียนของ”จอกอ”
ราวเดือนพฤศจิกายน 2525 คอลัมน์ 'คาบลูก คาบดอก' ก็ปรากฏขึ้นแทนที่ คอลัมน์ บก.พูด ที่หน้า ๓
เป็น “คาบลูก คาบดอก” ชื่อเดียวกับชื่อคอลัมน์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐวันนิ้
วันคืนเปลี่ยนผัน ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน 40 ปี คาบลูกคาบดอก ตายไปนานแล้ว แต่ตัวหนังสือที่ผมขีดเขียนหลายเรื่องราวผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ ยังโลดแล่นราวมีชีวิต และมันจะไม่มีวันตาย
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1137 วันที่ 14 -20 กรกฎาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น