ข้อพิพาทว่าด้วย
สัญญาทาสระหว่างผู้ประกาศข่าวรายหนึ่ง กับผู้บริหารสถานีทีวีดิจิตอลช่องหนึ่ง
ที่ถูกรายงานผ่าน “สำนักข่าวอิศรา” เมื่อสัปดาห์ก่อน
อาจมีอีกหลายประเด็นที่จำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน
และรอบด้าน
หาไม่แล้วอาจกระโดดไปเข้าข้างคนผิดโดยไม่รู้ตัว ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
สำคัญผิด และวิพากษ์วิจารณ์กันแบบผิดๆต่อไป
เรื่องของคนสองคน เรื่องของคนสองฝ่าย
มีข้อเท็จจริง มีรายละเอียดอีกมาก ที่ต้องฟังความรอบด้าน
อันเป็นหลักการพื้นฐานของการทำหน้าที่สื่อมวลชน ซึ่งสำนักข่าวอิศรา ก็ได้ทำหน้าที่เช่นนั้นแล้วอย่างเที่ยงตรง
คือการรายงานด้านผู้ประกาศ หรือพิธีกรซึ่งเขาอธิบายว่าถูกผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลแห่งนั้น
เอารัดเอาเปรียบ และเรียกสัญญานั้นว่า “สัญญาทาส”
ในขณะที่
ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลที่ถูกกล่าวหา บอกกับสำนักข่าวอิศราว่า
ความผิดอยู่ที่ความประพฤติของผู้ประกาศข่าว และสถานีได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว
ที่จะประนีประนอมและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
แต่ประเด็นสำคัญคือ ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่าย
ยอมรับตรงกันว่า มีการจ้างงาน และจ่ายค่าตอบแทนในรูปของเงินเดือน เดือนละ 3 แสนบาท กำหนดลักษณะงานและเงื่อนไขการจ่ายเงิน คือ การอ่านข่าว 4 ชั่วโมงต่อวัน วันละ 1 หมื่นบาท หากผู้ประกาศข่าว
ในฐานะผู้รับจ้างไม่ได้อ่านข่าว ก็จะไม่มีรายได้
และไม่สามารถไปอ่านข่าวในสถานีอื่นได้
สัญญานี้เป็นสัญญาจ้างทำของ
ซึ่งถือเอาผลสำเร็จของงานเป็นสาระสำคัญ ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มิใช่ข้อพิพาทเรื่องสัญญาจ้างแรงงาน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ถึงแม้จะมีการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนเช่นเดียวกับพนักงานทั่วไปก็ตาม
จะรู้กฎหมายหรือไม่ก็ตาม เมื่อผู้รับจ้าง
ตกลงเซ็นสัญญาจ้างทำของ ก็ถือว่าผูกพันตามสัญญาแล้ว
หากเห็นว่าข้อความในสัญญาไม่ถูกต้อง เป็นการเอารัดเอาเปรียบ ไม่เป็นธรรม เช่น
การห้ามมิให้ไปรับงานพิธีกร ผู้ประกาศ ในสถานีโทรทัศน์แห่งอื่น ภายในอายุสัญญา
ก็ต้องโต้แย้งเสียตั้งแต่ทำสัญญา แต่เหตุที่ผู้รับจ้างเป็นผู้ประกาศ
เซ็นสัญญาโดยไม่ทักท้วงข้อกำหนดในสัญญา ก็เพราะเห็นว่าอัตราค่าตอบแทนสูง
ซึ่งเป็นการยินยอมรับความเสี่ยงเอง กับเงินเดือนที่ผู้ว่าจ้าง ผู้บริหารสถานีบอกว่า
เงินเดือนของผู้ประกาศข่าวรายนี้ในสถานีโทรทัศน์เดิมของเขาเคยรับแค่หลักหมื่นเท่านั้น
เรื่องที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือ คนนอกวงการ
อาจไม่เคยรู้มาก่อน ว่าอัตราเงินเดือนของสื่อมวลชน
ที่ดูเหมือนเป็นกิจการที่ไม่ทำกำไรมากนัก กลับสูงถึงสูงมากขนาดนี้
สูงกว่านายกรัฐมนตรี สูงกว่าผู้บริหารบริษัทเอกชนทั่วไป
แต่เฉพาะในอุตสาหกรรมสื่อด้วยกัน อัตราเงินเดือนระดับนี้ อยู่เฉพาะกลุ่มเล็กๆ คือผู้บริหารระดับสูง ผู้ประกาศข่าวระดับดาราเท่านั้น
เรียกกันในทางเศรษฐศาสตร์ว่า ในอุตสาหกรรมสื่อ ก็มีภาวะ “รวยกระจุก
จนกระจาย”เช่นเดียวกัน
และย่อยลงไปในอีกในอุตสาหกรรมสื่อด้วยกัน
ก็มีบางกิจการ ที่จ่ายหนักโดดขึ้นมาจากแห่งอื่นๆ
เช่นกิจการสื่อที่อยู่ในภาวะใกล้ล้มละลายแห่งหนึ่ง
อัตราเงินเดือนที่ตั้งกันเองในระดับผู้บริหาร ไม่น้อยกว่า 7 ตำแหน่ง ล้วนแตะระดับ 1 ล้านบาท/เดือน เงินเดือน 1
คนจ้างนักข่าวระดับกลางได้ 30 คน
และจ้างนักข่าวทั่วไปได้อีกหลายสิบคน แต่ไม่มีใครเสียสละยอมลดเงินเดือนตัวเอง
สำหรับคนหน้าจอ
ซึ่งอาจรวมผู้บริหารบางคนที่กล่าวถึงนั้นด้วย ทั้งระบบ ล้วนมีเงินเดือน
ค่าตอบแทนมากกว่าคนหลังจอหลายเท่า ฟังคำอธิบายของป๋า ประณต วิเลปสุวรรณ
ผู้บริหารไทยรัฐทีวี บอกว่าเพราะคนเหล่านั้น
เขามีสิ่งที่เรียกว่า 0n the air performance พูดง่ายๆสั้นๆ
ก็คือ พวกเขามีศักยภาพในการเป็นคนหน้าจอ ขึ้นกล้อง ขายได้ คนดู
ซึ่งเป็นหัวใจของงานทีวี
ข้อโต้แย้งของผม ก็คือ คนหลังจอ
ถึงแม้จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า 0n the air performance แต่มีใครบอกได้ว่า
ศักยภาพของคนหลังจอในด้านอื่นๆ เช่น การจัดการบริหารข่าว
ความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องเทคนิคต่างๆ ความรู้อื่นๆที่จำเป็นสำหรับงานข่าว
งานโทรทัศน์ เขาด้อยกว่าคนหน้าจอ
และอยู่ๆ คนหน้าจอ ผู้ประกาศข่าว พิธีกร
เงินเดือนสูง จะเดินไปนั่งหน้าจอ อ่านข่าว ประกาศข่าว หรือเป็นพิธีกร
โดยที่ไม่มีคนหลังจอซึ่งล้วนแล้วแต่ทำงานหนัก และมีความสามารถได้หรือ
นี่ยังไม่ได้พูดถึงประเด็น
ของคนหน้าจอที่จัดอยู่ในกลุ่มดารา หรือพยายามแสดงราคาเป็นดาราหน้าจอ
หรือกระทั่งเป็นดาราที่มาอ่านข่าวเอง แต่ไม่รู้เรื่องข่าว และอีกหลายคนหน้าจอที่สร้างปัญหาการทำงานให้นักข่าวภาคสนาม
ด้วยความอ่อนด้อยประสบการณ์ และการที่ไม่เคยอยู่ในสนามข่าวมาก่อน
ไม่ต้องถึงกับให้คนหลังจอ
ได้เงินเดือนใกล้เคียงหรือเท่ากับคนหน้าจอก็ได้ ให้เพียงความเป็นธรรมในฐานะมนุษย์ที่ควรให้มนุษย์ด้วยกัน
ที่เขาทำงานหนัก รับผิดชอบ และไม่สามารถไต่บันไดฝันไปสู่ความเป็นดาราได้
แต่นั้นก็เพียงพอ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น