วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

นักวิชาการยืนยัน พระแก้วดอนเต้าไม่ใช่พระแก้วมรกต



จำนวนผู้เข้าชม Home Remedies For Wrinkles

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร. เพ็ญสุภา สุขคตะ ได้โพสต์ตั้งคำถามไว้ในเฟสบุกถึงผู้รู้ทั้งหลายว่า ทำไมวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคาของเรา จึงนำป้าย “วิหารลายคำ” มาติดที่วิหารพระพุทธ ทั้งที่แต่ไหนแต่ไรมา ผู้คนทั่วไปต่างก็เรียกวิหารแห่งนี้ว่าวิหารพระพุทธมาโดยตลอด อีกประการหนึ่งคือ ป้ายคำบรรยายว่า เชิญนมัสการ “พระแก้วมรกต” ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อมูล ควรเรียกว่า “พระแก้วดอนเต้า” จึงจะถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพราะพระแก้วดอนเต้าที่ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุลำปางหลวงนั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกตที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ป้ายวิหารลายคำปัจจุบันได้ถูกปลดออกแล้ว คงเหลือเพียงป้ายที่เรียกพระแก้วดอนเต้าว่า พระแก้วมรกต ที่ยังรอการคลี่คลาย

ระหว่างนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุรพล ดำริห์กุล นักวิชาการจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมากกับชาวลำปางเกี่ยวกับพระแก้วดอนเต้าไว้ในเฟสบุกว่า พระแก้วดอนเต้าไม่ได้ทำจากมรกต (Emerald) แต่สร้างจากหินมีค่าสีเขียวประเภทหยกอ่อน (Nephrite) เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดเล็กกว่าพระแก้วมรกต ศิลปะล้านนา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย

เรื่องราวในตำนานพระแก้วดอนเต้าที่เกี่ยวกับนางสุชาดาไม่ระบุช่วงเวลาแน่ชัด แต่จากการวิเคราะห์เนื้อความในตำนาน อาจารย์สุรพลพบเนื้อความที่สะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชนลุ่มน้ำกกในจังหวัดเชียงราย ซึ่งก็คือชาวเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง บริเวณวัดพระแก้วชมภูและใกล้เคียงในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ดังนั้น ตำนานพระแก้วดอนเต้าจึงเป็นตำนานที่เขียนขึ้นใหม่ในยุคหลัง โดยมีความสัมพันธ์กับชาวเมืองเชียงแสนที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ ซึ่งคงบูรณะวัดพระแก้วชมภู และประดิษฐานพระแก้วดอนเต้าที่นำมาจากเชียงแสนด้วย จนเกิดเป็นตำนานพระแก้วดอนเต้า และต่อมาวัดพระแก้วชมภูก็เปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระแก้วดอนเต้า

อาจารย์สุรพลกล่าวว่า ได้เคยมีข้อเสนอทางวิชาการว่า พระแก้วดอนเต้าองค์นี้ ควรจะเป็นพระแก้ว พระพุทธรูปสำคัญของเมืองเชียงแสนในอดีต ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 ระบุว่า ในปี พ.ศ. 1929 พระเถระชื่อศิริวังโสได้นำพระพุทธรูป คือ พระแก้วและพระคำ พร้อมด้วยพระบรมธาตุ ไปประดิษฐาน ณ วัดเกาะดอนแท่น เมืองเชียงแสน ต่อมาเมื่อกองทัพของพระยากาวิละแห่งนครลำปางและเจ้าฟ้าเมืองน่านไปตีเมืองเชียงแสนแตกในปี พ.ศ. 2346 ก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของพระแก้ววัดเกาะดอนแท่นอีกเลย

อาจารย์สุรพลเชื่อว่า พระแก้ววัดเกาะดอนแท่น เมืองเชียงแสน คงถูกเคลื่อนย้ายมาอยู่เมืองลำปางในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 24 พร้อมชาวเมืองเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมา อีกทั้งเมื่อมีการตรวจสอบเอกสารช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 24 ก่อนที่ชาวเชียงแสนจะอพยพมา ก็ไม่เคยปรากฏหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับพระแก้วดอนเต้าเลย แสดงให้เห็นว่า ก่อนหน้านี้พระแก้วดอนเต้ายังไม่อยู่ที่เมืองลำปาง

และที่กล่าวกันว่า พระแก้วดอนเต้าเป็นพระแก้วมรกตจำลองแทนพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรนั้น อาจารย์สุรพลมีข้อโต้แย้งตามหลักฐานและเหตุผลทางวิชาการ คือ

ประการแรก พระแก้วดอนเต้ามีคติความเชื่อเกี่ยวกับการประดิษฐานต่างจากพระแก้วมรกต โดยจะต้องมีพระพุทธรูปตั้งคู่อยู่เสมอ เรียกว่า พระพี่เลี้ยง อีกทั้งพุทธศิลป์ก็แตกต่างกัน จึงไม่ใช่พระพุทธรูปจำลองของพระแก้วมรกต

ประการที่สอง วัดพระธาตุลำปางหลวงถือเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองลำปาง แต่ไม่เคยปรากฏหลักฐานและเรื่องราวใด ๆ เกี่ยวกับพระแก้วดอนเต้า เมื่อศึกษาหอพระแก้ว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วดอนเต้ามาแต่โบราณ ก็พบว่าสร้างขึ้นสมัยต้นรัตนโกสินทร์ อาจารย์สุรพลจึงมั่นใจว่า พระแก้วดอนเต้าถูกนำมาที่วัดพระธาตุลำปางหลวงราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 25 (ปี พ.ศ. 2400-2450) พร้อมกับการสร้างหอพระแก้วให้เป็นที่ประดิษฐาน

จากหลักฐานต่าง ๆ อาจารย์สุรพลได้ข้อสรุปว่า พระแก้วดอนเต้านั้น เพิ่งเข้ามาอยู่ในเมืองลำปางช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 (ปี พ.ศ. 2350-2400 ) และมีความน่าเชื่อถือว่า ควรจะเป็นพระแก้ววัดเกาะดอนแท่น เมืองเชียงแสน ซึ่งถูกเคลื่อนย้ายมาพร้อมกับชาวเชียงแสนอพยพ ระยะแรกคงประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วดอนเต้า โดยมีการสร้างตำนานพระแก้วดอนเต้าขึ้นใหม่ในระยะนี้ด้วย ต่อมาได้ถูกเคลื่อนย้ายมายังวัดพระธาตุลำปางหลวงอย่างเงียบ ๆ ในปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ทั้งนี้ อาจารย์สุรพลคาดว่า คงเกี่ยวข้องกับเหตุที่ในช่วงเวลานั้น เจ้านายฝ่ายกรุงเทพฯ พยายามรวบรวมพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ของเมืองต่าง ๆ ไปไว้ที่กรุงเทพฯ จนเกิดกระแสให้ชาวบ้านชาวเมืองต้องปกป้องพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ของตนไว้ด้วยการนำไปซุกซ่อน


ขอขอบคุณผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ทั้งสองท่าน ที่ได้จุดประกายและคลี่คลายความเข้าใจอันคลาดเคลื่อน ไม่เฉพาะกับคนทั่วไป สำคัญที่คนลำปางเอง ควรได้รับรู้ข้อมูลจริงของบ้านเมืองเรามากที่สุด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1138 วันที่ 21 -27 กรกฎาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์