เรียกว่า
เป็นการรูดม่านปิดฉากการแสดงของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อย่างหมดจดงดงาม
และยืนยันได้ชัดเจนว่า
คณะกรรมาธิการสื่อ สปท.อันประกอบด้วยคนสื่อตัวจริงเพียง 1 คนนั้น ไม่ได้รู้เรื่อง
รู้ราวเรื่องสื่อเลยแม้แต่น้อย
มีเพียงความคิดแบบอำนาจนิยม บวกกับจินตนาการเท่านั้น
ที่ผลิตรายงาน เป็นชิ้นเป็นอัน มาอย่างน้อย 2
ชิ้น ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา
หนึ่งคือรายงาน เรื่อง “การปฏิรูปการสื่อสารมวลชน : ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ
ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์
หนึ่งคือ รายงานเรื่อง “ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูป
การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media)
รายงานและร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสื่อฯ กำลังอยู่ในขั้นตอน
กำจัดแนวคิดแปลกปลอมออกไป เพื่อให้เหลือเนื้อแท้ในการที่สื่อจะกำกับ
ดูแลกันอย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานความเป็นจริง
รายงานเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย หรือการกำกับ
ควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านมติที่ประชุม สปท.เกือบเอกฉันท์
แต่ไม่ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม เนื่องเพราะแนวคิดในการกำกับแบบเบ็ดเสร็จ
สร้างอาณาจักรแห่งความหวาดระแวง และการให้อำนาจหน่วยงานรัฐ ละเมิด “ข้อมูลส่วนบุคคล”
คำว่า ข้อมูลส่วนบุคคล
หมายถึงข้อเท็จจริงที่เป็น “สิ่งเฉพาะตัว” ของบุคคล ไม่ว่าในแง่มุมใด
ลายพิมพ์นิ้วมือ ลักษณะเฉพาะบุคคล ประวัติอาชญากรรม ชื่อ รหัส หมายเลข
สิ่งใดก็ตามที่บ่งชี้ตัวบุคคลได้
คือข้อมูลอันเป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายรัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้
การยืมมือ กสทช.ซึ่งปกติก็สับสน แยกแยะบทบาท
หน้าที่ไม่ได้ชัดเจน
ให้มาเป็นหน่วยงานหลัก กำหนดเงื่อนไขการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือ ว่าจะต้องสแกนลายนิ้วมือ
ใบหน้าของคนซื้อ พลิกกฎหมาย กสทช.หลายตลบ ก็ไม่เห็นว่า
กสทช.จะมีอำนาจละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลนี้ได้อย่างไร
แม้แต่หน่วยงานรัฐด้วยกัน จะขอให้ตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล เช่น
ข้อมูลประวัติอาชญากรรม โดยอาจมีเหตุที่ต้องเข้าถึงข้อมูลนั้น ก็ยังต้องให้ เจ้าของข้อมูล
ลงลายมือชื่อให้ความยินยอม
น่าสงสัยว่า ความวิตกกังวลว่า คนใช้สื่อสังคมออนไลน์
จะทำให้สังคมนี้เสียหายร้ายแรง จนต้องใช้อำนาจล้วงเข้าไปในข้อมูลส่วนบุคคล
ใช้อำนาจละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
เจ้าของจินตนาการรายงานการคุมสื่อสังคมออนไลน์ฉบับนี้
เข้าใจความเป็นสื่อสังคมออนไลน์อย่างถ่องแท้หรือไม่
พวกเขามองสื่อสังคมออนไลน์ แต่ในด้านที่เลวร้าย
และไม่เข้าใจว่า ช่องทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์
หรือยูทูป เป็นเพียงเครื่องมือ ชนิดหนึ่งในการกระทำความผิด
เมื่อคนใช้เครื่องมือไปในทางที่ผิด หรือละเมิดบุคคลอื่น
เขาก็ต้องรับผิดตามกฎหมายเฉพาะที่มีอยู่แล้ว เช่น
การกระทำผิดบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ เป็นความรับผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
พ.ศ.2550
ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น
ไม่ได้อยู่ที่ช่องทางหรือเครื่องมือการใช้สื่อสังคมออนไลน์
แต่อยู่ที่ความไร้ประสิทธิภาพ ความไม่เข้าใจวิธีการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ
โดยเฉพาะหน่วยงาน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
(บก.ปอท.) ซึ่งเคยมี พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ เป็นผู้บังคับการ
เป็นพิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการสื่อ
สปท.เจ้าของมันสมองคิดคุมสื่อด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จนี้เอง
หากมองทั้งระบบ ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์
ก็เหมือนกับเครื่องมือสื่อสารชนิดอื่นๆ คือมีทั้งด้านดีและร้าย
การมีอยู่ของสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ความเลวร้ายต่างๆ ถูกจับจ้อง และบันทึกไว้
หลายเหตุการณ์สื่อสังคมออนไลน์ได้ถูกกระจายออกไปในวงกว้าง คนดี
ความดีของบางคนที่ร้อยวันพันปี อาจไม่เคยมีใครมองเห็น
ก็ถูกบันทึกไว้ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ เช่น กรณีชัด อุบลจินดา ฮีโร่แห่งเมืองกระบี่
คงไม่ถึงกับต้องรบกวนพระคุณเจ้า
มาให้ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ
แม้ในระบบศีลธรรม ซึ่งเป็นหลักแห่งความดีงามของศาสนา
จะเป็นพื้นฐานของจริยธรรมสื่อ แต่จริยธรรมสื่อเป็นหลัก เป็นแนวปฏิบัติเฉพาะวิชาชีพ
ที่เป็นคนละเรื่องราวกับหลักศีลธรรม
จะต้องเรียกวิธีคิดคุมสื่อออนไลน์ที่โลกเขาไปไกลถึงยุค 4.0 แต่คนยังล้าหลังนี้ได้อย่างไร
การใช้กระบองทุบแล้วลากเข้าถ้ำ เป็นเรื่องที่เห็นกันอยู่แต่ในยุคหินเท่านั้น
หมายเหตุ : รายงานของกรรมาธิการสื่อ สปท.
ไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติ เป็นเพียงข้อเสนอซึ่งหากเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้ผ่านระบบคิดอย่างครบถ้วน
และรอบด้าน ไม่สามารถปฏิบัติได้ไม่ว่าในแง่กฎหมายและข้อเท็จจริง รายงานนี้ก็ตกไป
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1136 วันที่ 7 - 13 กรกฎาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น