ลองนึกภาพของโลกที่กำลังหมุนไป
ยุคแห่งการใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็นเครื่องบ่งบอกว่าทันสมัย
จะมีอะไรสงบนิ่งท่ามกลางสิ่งที่ว่านี้ถือเป็นจุดดึงดุดที่ทรงพลังได้เช่นเดียวกัน
ร้านยาแผนโบราณเก่าแก่กว่าร้อยปีนามว่าร้าน
“บุญส่ง”ตั้งอยู่ย่านถนนคนเดินกาดกองต้า หรือตลาดจีนเก่าแห่งนครลำปาง เป็นตัวแทนหนึ่งของความสงบท่ามกลางยุคดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัดเจน
เพียงเพราะที่นี่มีความเป็นโบร่ำโบราณ และเป็นที่ตั้งแห่งศูนย์รวมสมุนไพรไทย-จีน
หนึ่งเดียวในลำปางและภาคเหนือตอนบน ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ขายสมุนไพรและจัดยาแผนโบราณ
ชั่งเป็นขีดเป็นกรัม ดีดลูกคิดซื้อขายกัน แบบดั้งเดิม ไม่มีระบบหน้าร้านออนไลน์
ไม่มีโฆษณา
“ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน
แต่ธุรกิจของเราไม่เคยได้รับผลกระทบ หรือต้องผันตัวเองไปตามกระแสโลก นั่นเพราะเรามีจุดยืนที่ชัดเจน
คือขายยาแผนโบราณและสมุนไพรทุกชนิด ใครต้องการอะไรมาที่นี่ที่เดียวได้ครบทุกอย่าง
เราเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ที่ส่งต่อศาสตร์แห่งภูมิปัญญามานับร้อยปีโบราณที่ใครลอกเลียนไม่ได้” อรรถกฤติ
กาญจนรักษ์ เจ้าของร้านซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่สาม บอกเล่าอย่างภาคภูมิใจ
อรรถกฤติ
เล่าถึงตำนานของร้าน “บุญส่ง” แห่งนี้ว่า มีมาตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยอากง(นายกิมเวช แซ่เอี๊ยบ)ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอจีน
เดินทางมาตามครอบครัวที่อพยพโยกย้ายจากภัยสงครามมาอยู่ลำปาง พบรักกับอาม่า(นางกิม
) สาวชาวอำเภอเถิน ร่วมกันก่อร่างสร้างตัวจากร้านขายยาเล็กๆ
เดินทางไปเสาะแสวงหาสมุนไพรในป่าบ้าง ซื้อจากชาวบ้านบ้าง
เอามาจัดเป็นยาต้มรักษาโรค ดังนั้นยาทุกตัวจะต้องผ่านมือของทุกคนในครอบครัว
ซึมซับเป็นคลังความรู้ที่หาเรียนที่ไหนไม่ได้
“ช่วงระหว่างสงคราม
อากงเป็นไข้ป่าเสียชีวิต อาม่า เตี่ยผม(นายบุญส่ง กาญจนรักษ์ ) และแม่ ก็สานต่อธุรกิจยาแผนโบราณตั้งชื่อว่าร้านบุญส่ง
เรื่อยมาถึงยุคผมถือเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ผมมีพี่น้อง 3 คน ทุกคนในครอบครัว
ช่วยกันทำงานในกิจการของครอบครัว โดยไม่ทำอาชีพอื่น ชี้ให้เห็นว่ากิจการของเราเลี้ยงครอบครัวได้ค่อนข้างมั่นคงยืนยาว
เพราะมันเป็นธุรกิจที่ลอกเลียนแบบได้ยาก ทุกคนในครอบครัวเรารู้จักสมุนไพรทุกชนิด
จับอะไรขึ้นมาก็รู้ชื่อรู้สรรพคุณ”
นั่นคือจุดแข็งของธุรกิจเล็กๆแต่แข็งแกร่งได้ยาวนานเป็นผลของการสืบสอดทั้งความรู้
ศาสตร์แห่งแพทย์แผนโบราณที่ต้องอาศัยประสบการณ์ รู้จริงอย่างลึกซึ้ง
เหนืออื่นใดยังต้องมีความปลอดภัยได้รับการรับรองแพทย์แผนโบราณจากกระทรวงสาธารณะสุข
ปัจจุบันถือว่าเป็นหนึ่งเดียวในภาคเหนือตอนบน อีกเจ้าหนึ่งที่รู้กันคือที่พิษณุโลก
และนี่คือจุดแข็งในเรื่องของการยืนอยู่ในธุรกิจที่มีคู่แข่งน้อยมาก
คลังแห่งสมุนไพรหลายร้อยชนิดถูกรวมรวมไว้ที่นี่
หากแต่เส้นทางของการดินทางของสมุนไพรหรือตัวยาแต่ละชนิด
ล้วนเดินทางมาจากสายป่านและความสัมพันธ์ที่ผูกพันกันมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ
ระหว่างพ่อค้าคนจีนด้วยกันที่กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของซื้อขายแหล่งใหญ่
สมุนไพรทุกชนิด ต้องผ่านมือผู้เสาะหามืออาชีพ ที่ต้องไปถึงแหล่งวัตถุดิบ
ส่งป้อนไปยังคลังสินค้า สู่การแปรรูป ซึ่งหมายถึงการทำความสะอาด อบแห้ง
หรือผ่านกรรมวิธีทางแพทย์แผนจีน แผนโบราณที่ถูกต้อง เพื่อคงสภาพคุณสมบัติของตัวยา
และเก็บรักษาให้ได้นานที่สุด บางส่วนต้องนำเข้ามาจากอินโดนีเซีย ส่งต่อมาถึงหน้าร้านเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบจัดยารักษาโรค
และขายปลีกเป็นขีดเป็นกรัมตามความต้องการของลูกค้า
“ธุรกิจของเราอาจจะไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ
เราเป็นร้านเล็กๆที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไร ตั้งแต่อาคาร การจัดหน้าร้าน
ทุกอย่างสืบมารุ่นต่อรุ่นอย่างไรอย่างนั้น
ลูกค้าทุกยุคทุกสมัยจะสัมผัสได้ว่าที่นี่จะมีบรรยากาศเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จะเห็นว่าบรรจุภัณฑ์ที่เราใช้เก็บตัวยาสมุนไพรส่วนใหญ่เก็บในกระป๋อง
หรือปี๊บโบราณ ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันความชื้น ป้องกันแมลง มีความคงทน
ปี๊บเหล่านี้อายุร่วมร้อยปี แสดงถึงความเก่าแก่
ดึงดูดให้คนยุคใหม่ที่แม้ไม่ได้มาเป็นลูกค้าก็ยังชื่นชอบที่มาดูมาเห็น
ที่นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการท่องเที่ยวเส้นทางกาดกองต้าที่ใครมาต้องไม่พลาดจะแวะมา”
มุมมองที่น่าสนใจคือแม้โลกของการสื่อสารยุคดิจิทัลถาโถมเข้ามากลบกลืนวิถีชีวิตผู้คนไปมากแค่ไหน
แต่ธุรกิจของร้านบุญส่ง กลับไม่เคยสนใจ และไม่มีนโยบายจะปรับตัวเข้าหา
ไม่ว่าจะเป็นทางการตลาด การโฆษณาตามกระแสการสื่อสารโซเชียลใดๆแม้แต่น้อย
“ยุคสังคมจะทันสมัย
หรือเศรษฐกิจจะพุ่งขึ้นดิ่งลง ไปมากน้อยแค่ไหน ตลอดระยะเวลาเราไม่เคยได้รับผลกระทบ
เพราะมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เคยพึ่งพายาแผนปัจจุบันแล้วไม่หาย
สุดท้ายเขาก็ย้อนกลับมาเส้นทางธรรมชาติ พึ่งพาสมุนไพรและยาตำหรับโบราณ
เราไม่ต้องหวังให้ทุกคนมาเป็นลูกค้าเรา
แต่เราก็มีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่เดินเข้ามาไม่เคยขาดสาย
มีแต่จะเพิ่มขึ้นมากกว่าจะลดลง ร้านเราไม่มีเพจเฟสบุ๊ค ไม่มีโฆษณา
เหมือนธุรกิจสมัยใหม่ที่หันมาจับเรื่องสมุนไพรเป็นธุรกิจ แต่ร้านเราขายความเป็นตำรับโบราณที่ไม่เคยผิดพลาดจากการสุ่มเดาหรือขาดความรู้
ดังนั้นเราไม่ต้องดิ้นรนไปโฆษณาชวนเชื่อ แค่คนที่เชื่อถือเราเขาเดินเข้ามาเอง
คนเหล่านั้นบอกเล่าเรื่องราวของเราออกไปเกิดผลทางการตลาดเองโดยธรรมชาติ”
นี่คืออีกตัวตัวอย่างหนึ่งของปลาที่ว่ายทวนน้ำ
หรือคนที่เดินสวนกระแสลมถ้าไม่แกร่งจริงคงอยู่ยาก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล
ไทยแลนด์ 4.0 ธุรกิจน้อยใหญ่ต่างดิ้นรนปรับตัวกระโจนเข้าหานวัตกรรมและสิ่งล้ำสมัย
หากแต่ร้านยาแผนโบราณเล็กๆแห่งนี้ ยังคงวิถีธุรกิจแบบดั้งเดิมแต่ทว่าดึงดูดผู้คนมานับร้อยปีไม่เคยเหงาอย่างน่าอัศจรรย์ใจ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1139 วันที่ 28 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น