วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

หนังสือพิมพ์กำลังจะตาย นิเทศศาสตร์หายใจรวยริน !?

จำนวนผู้เข้าชม Home Remedies For Wrinkles

            ย่างน้อยนับจากปี 1996 ที่ภาพอินเทอร์เนตชัดขึ้นในสังคมไทย เป็นห้วงระยะเวลาเดียวกับที่ ภาคการหนังสือพิมพ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปลี่ยนชื่อเป็น ภาควิชาวารสารสนเทศ และ “จอกอ” ได้เสนองานวิจัย อันอาจถือเป็นงานชิ้นแรกๆ ที่ตอบรับการเปิดศักราชใหม่ของสื่อออนไลน์ นั่นคืองานวิจัย เรื่อง Cross Media

เป็น Cross Media ที่เป็นเงื่อนไขในการจบการศึกษาระดับปริญญาโท ในปีนั้น

ปีที่สังคมไทยเริ่มตั้งวงเสวนา ว่าด้วยอนาคตของหนังสือพิมพ์ ว่า หนังสือพิมพ์กำลังจะตาย งานวิจัยชิ้นนี้ก็พยายามหาคำตอบถึงอนาคตของหนังสือพิมพ์ในยุคที่อินเทอร์เนตเริ่มส่งประกายแวววาว ในขณะที่บางคนเชื่อว่า หนังสือพิมพ์จะยังคงแข็งแรงและอยู่ต่อไปได้ เช่นเดียวกับยุคการมาถึงของวิทยุและโทรทัศน์ก่อนหน้านั้น ซึ่งหนังสือพิมพ์ไม่ถูกกระทบจากสื่อภาพและเสียงที่ดูน่าจะตื่นเต้นเร้าใจกว่าการอ่านสื่อกระดาษเลย

ผ่านมากว่า 20 ปีแล้วข้อถกเถียงนี้ก็ยังไม่หมดไป แต่กลับทวีความร้อนแรงมากขึ้น ทั้งจากการเติบโตขยายตัวของสื่อโทรทัศน์ จากเดิม 7 ช่องอนาล็อก  ก้าวกระโดดขึ้นเป็น 48 ช่องดิจิตอล และปรากฏการณ์ล้มหายตายจากของสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร พร้อมๆกับการโครงสร้างผู้รับสารที่เปลี่ยนไปจากคนในยุค Baby Boomer  เป็น  Gen  Y  

ถึงกระนั้น หนังสือพิมพ์ก็ยังไม่ตาย แต่คนอ่านน้อยลง โฆษณาน้อยลง ภาวะลุ่มๆดอนๆ ไม่แน่นอนในอนาคตของหนังสือพิมพ์ กระทบไปถึงสถาบันการศึกษา ที่จัดการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ โดยคนเรียน JR หรือวารสาร ลดลงน่าใจหาย ในขณะที่ ประชาสัมพันธ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่อสารแบรนด์ ไปจนถึงศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ ยังไม่วูบวาบชัดเจนเหมือนวารสาร

นักวิเคราะห์ด้านการสื่อสารบางคน  อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า พฤติกรรมผู้รับสารยุคใหม่ อาศัยพึ่งพาข้อมูล ข่าวสารจากสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย มีความหลากหลาย รวดเร็วมากกว่า แนวคิดนี้ยังรวมไปถึงการรับสารจากสื่อวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ ที่เป็นข่าว เป็นภาพข่าว ชุดเดียวกัน ที่หนังสือพิมพ์จะนำเสนอในวันรุ่งขึ้น หรือช้าไปไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะซื้อหนังสือพิมพ์อ่านอีก

อีกทั้งรายการประเภทเล่าข่าว ใน ตอนเช้า ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ก็ยังคงทำซ้ำ โดยใช้ข่าวจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับมาผสมผสานกับลีลาการเล่าเรื่อง การแสดงทัศนคติ ความคิดความเห็นของผู้จัดรายการ หรือผู้ประกาศข่าว เป็นนวัตกรรมการลอกข่าวมาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจซึ่งหากตีความตามกฏหมาย ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะข่าวทุกข่าวที่เรียบเรียงขึ้นใหม่ ล้วนมีลิขสิทธิ์ แต่คนทำงานสื่อ  ก็ได้แต่บ่น ปรับทุกข์กันเอง ไม่มีใครคิดจะเอาเรื่องเอาราว คนในวงการเดียวกันจริงจัง

ถึงวันนี้ เราคงจะสรุปอย่างรวบรัดไม่ได้ว่า หนังสือพิมพ์กำลังจะตาย เพราะในชุดคำอธิบายที่บอกว่า หนังสือพิมพ์จะตายนั้น มักพูดถึงเนื้อหาในข่าวกระแส ข่าวประจำวัน ที่อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเดียว ดูโทรทัศน์ช่องเดียว ก็รู้เรื่องหมดทุกสิ่งแล้ว โดยเฉพาะสื่อร้อนเช่น วิทยุ โทรทัศน์ ออนไลน์ ที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของเวลาและสถานที่
สื่อที่มาช้า และมาในเนื้อหาที่ทำซ้ำ เช่น หนังสือพิมพ์จึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อโลก

หากแต่แนวคิดนี้มองข้าม ความจริงบางเรื่องไป เช่น หนังสือพิมพ์เฉพาะกลุ่ม หนังสือพิมพ์ชุมชน  ที่เสนอเนื้อหาแตกต่างจากสื่ออื่นๆ ยังคงเป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายได้ อยู่ได้ เช่น ความพยายามที่จะพิสูจน์ศักยภาพของ “ลานนาโพสต์” หนังสือพิมพ์ชุมชน ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา

แต่มิได้แปลว่า หนังสือพิมพ์จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องบริหารจัดการ หรือปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะถึงอย่างไรการขายหนังสือพิมพ์ การตั้งราคาขายหนังสือ ก็ไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงอยู่แล้ว ความอยู่รอดนั้น ขึ้นอยู่กับโฆษณาและกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีการสื่อสาร หรือภาวะตื่นออนไลน์ของสังคมขณะนี้ แต่อย่างใด

เช่นเดียวกับนิเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการสื่อสาร อันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ความสามารถในเชิงการสื่อสาร การโน้มน้าวผู้ฟัง ผู้ชม ด้วยภาษาพูด การโน้มน้าว จูงใจ สร้างความพึงพอใจให้แก่คนอ่าน ด้วยภาษาเขียน ยังมีความจำเป็นในการอยู่ร่วมกันในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม  นิเทศศาสตร์จึงไม่มีวันตายเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์

ความคิดรวบยอด ในบริบทแบบสังคมเมืองใหญ่ ทำให้มองข้ามความจริงบางสิ่ง เช่น การอยู่รอดและความแข็งแกร่งของหนังสือพิมพ์เฉพาะกลุ่ม เช่น ความพยายามปรับรูปแบบ เนื้อหาหลักสูตรนิเทศศาสตร์ให้มีคำต่อท้ายร่วมสมัย เช่น ดิจิตอล คอนเวอร์เจนท์ โดยไม่มีเนื้อหา หรือขาดคนสอนที่เข้าใจเรื่องเหล่านั้นอย่างแท้จริง ทั้งในเชิงทฤษฏีและประสบการณ์

หนังสือพิมพ์จะยังไม่ตาย ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องปรับตัว นิเทศศาสตร์ยังมีอนาคต หากไม่ได้มุ่งที่จะเป็นเพียงคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมข่าว

นี่เป็นความจริง ตลอดระยะเวลา 40 ปีจากคนที่เฝ้ามองการเคลื่อนตัวของสื่อ จากยุคที่สื่อเกิดจากแนวคิดเชิง อุดมการณ์มาจนถึงยุคที่สื่อกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่วัดความสำเร็จกันที่กำไร-ขาดทุน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1139 วันที่ 28 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์