วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ลุ้นศาลสูงสั่งคดีแม่เมาะ ถอนสัมปทานเหมืองอนุรักษ์สุสานหอย

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

จากกรณีที่ชาวบ้านอำเภอแม่เมาะ ทั้งหมด 18 ราย  รวมตัวกันยื่นหนังสือฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง โดยคณะรัฐมนตรี  เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3  และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4  เพื่อให้ กฟผ.แม่เมาะหยุดดำเนินการและให้อนุรักษ์ซากหอยขม 13 ล้านปี  

ซึ่งเมื่อวันที่ 27 ก.ค.50 ศาลปกครองได้มีคำสั่งให้เพิกถอนสัมปทานเหมืองลิกไนต์ อ.แม่เมาะ และยกเลิกมติ ครม.ที่ลดพื้นที่อนุรักษ์แหล่งซากฟอสซิลหอยขม 13 ล้านปี และให้ ครม.สั่งการให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนแหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์เป็นเขตโบราณสถานภายใน 180 วัน  ซึ่งขณะนั้นผู้ฟ้องได้ทำหนังสือยื่นถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทาง กฟผ.ยุติการยื่นอุทธรณ์ต่อศาล  และให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการฟื้นฟูฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ที่เหลืออยู่ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้เพื่อการศึกษาของมนุษยชาติต่อไป รวมทั้งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชดเชยค่าเสียหายที่ได้สั่งการไถและทำลายซากฟอสซิลหอยขมดึดำบรรพ์จนย่อยยับ จาก 43 ไร่ เหลือเพียง 18 ไร่  และดำเนินการตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ด้วยความเคารพในคำสั่งศาลและด้วยจิตสำนึกในความเป็นคนที่รักและหวงแหนทรัพย์สมบัติของแผ่นดินเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีต่ออนุชนรุ่นหลังสืบไป

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวได้เงียบหายไปนานนับ 10 ปี กระทั่งเมื่อวันที่ 19 ก.ค.60  ศาลปกครองสูงสุดได้กำหนดให้วันที่ 21 ส.ค.60 เป็นวันสิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริง  ซึ่งทางผู้ฟ้องต่างมีความหวังว่าศาลจะพิพากษาคดีนี้โดยเร็ววัน หลังจากรอคอยกันมานานกว่า 10 ปี 

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์  ผู้ร่วมฟ้องคดี  กล่าวว่า หลังจากที่ศาลสั่งยุติแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว อยู่ระหว่างรอศาลนัดไต่สวนคู่กรณีอีกครั้ง ซึ่งต้องรอคำสั่งผ่านทางทนายความ ขณะนี้ไม่มีใครทราบว่าภายในพื้นที่ของสุสานหอย 13 ล้านปีเป็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรฯ แต่ที่ผ่านมาศาลได้สั่งระงับการขุดเหมืองบริเวณสุสานหอยไว้  

เมื่อสอบถามว่าคิดว่าจะต้องรอการพิพากษาอีกนานหรือไม่ นางมะลิวรรณ กล่าวว่า จากหลายคดีที่ผ่านมาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อสิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว ก็จะนัดไต่สวนคู่กรณี และมีคำพิพากษาในอีกประมาณ 1 เดือน  คาดว่าจะทราบผลในเร็วนี้ ซึ่งชาวบ้านก็ยังรอคอยความหวังอยู่

สำหรับซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ขุดพบครั้งแรกที่เหมืองแม่เมาะ อ.แม่เมาะ เมื่อเดือน มิ.ย. 46 จำนวน 43 ไร่ หลังจากที่มีการขุดค้นพบ กฟผ.ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ได้แจ้งเรื่องให้ผู้เชี่ยวชาญของกรมทรัพยากรธรณีเข้ามาศึกษาตรวจสอบ พร้อมกับการที่ได้มีการแจ้งเรื่องการค้นพบดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ และมีการมอบหมายให้ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น เป็นผู้รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการอนุรักษ์พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวนี้ จากการตรวจสอบพบว่า เป็นชั้นฟอสซิลหอยขม ที่มีความหนาที่สุดในโลก 12 เมตร   แนวทางในการอนุรักษ์พื้นที่ซากฟอสซิลหอยอายุหลายล้านปี กฟผ.ได้เคยเสนอไว้ 2 แนวทาง คือ 1.อนุรักษ์พื้นที่ซากฟอสซิลหอยไว้ 18 ไร่ โดยทำให้ไม่สามารถขุดถ่านหินลิกไนต์ขึ้นมาใช้ได้บางส่วน หรือ 2.อนุรักษ์พื้นที่ซากฟอสซิลหอยไว้ทั้งหมด 43 ไร่ โดยที่จะไม่สามารถขุดเอาถ่านหินลิกไนต์ ที่สำรวจพบในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 265 ล้านตันขึ้นมาใช้ได้เลย

ขณะนั้น คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบแนวทางที่ 2 ที่จะให้อนุรักษ์พื้นที่ไว้ทั้งหมด ภายใต้แนวคิดว่าแหล่งฟอสซิลหอยนี้เป็นมรดกโลกที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ และแนวคิดนี้ก็ได้รับความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ก.พ.47 การดำเนินการอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว น่าจะเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการทำการศึกษาเพิ่มเติม ตามที่มีผู้เสนอแนะว่าการอนุรักษ์พื้นที่ไว้ทั้ง 43 ไร่ จะส่งผลกระทบสูงต่อการดำเนินงานของ กฟผ. ผนวกกับการที่ผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ตรวจสอบพบว่า พื้นที่ฟอสซิลหอยนี้ ไม่เข้าข่ายการเป็นมรดกโลกแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ไว้เพียง 18 ไร่ จึงเป็นตัวเลือกใหม่ ซึ่ง กฟผ.ได้ทำเรื่องเสนอขอให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเดิมทันที จนในที่สุดเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.47 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ฟอสซิลหอยไว้ 18 ไร่ พร้อมกับการกันพื้นที่อีกส่วนหนึ่งเพิ่มเติมรวมเป็น 52 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งและพิพิธภัณฑ์ถาวร โดยที่พื้นที่อนุรักษ์จะแยกออกจากพื้นที่ทำเหมืองอย่างชัดเจน

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้รับทราบแนวทางดังกล่าวแล้ว กฟผ.โดยเอกชนที่เป็นคู่สัญญาในการเปิดหน้าดิน จึงได้เข้าดำเนินการในพื้นที่บริเวณที่พบซากฟอสซิลหอย ก่อนที่ต่อมาจะมีกระแสคัดค้าน โดยกลุ่มองค์กรต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ที่ไม่เห็นด้วยกับการขุดเหมืองบริเวณดังกล่าว เพราะมองว่าซากฟอสซิลหอยถือเป็นมรดกโลก ที่มีคุณค่าของจังหวัดลำปาง สมควรจะรักษาไว้ทั้งหมด ไม่ใช่อนุรักษ์ไว้เพียงบางส่วนเท่านั้น ดังนั้นจึงมีรวมตัวแกนนำและชาวบ้านรวม 18 คน จากตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะจังหวัดลำปาง ทำหนังสือยื่นแก่ศาลปกครองกลาง จนกระทั่งเมื่อวันที่  27 ก.ค.50 ที่ผ่านมาศาลปกครองมีคำสั่งอนุรักษ์แหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ อายุ 13 ล้าน ที่เหลืออยู่ 18 ไร่ และให้ ครม.สั่งการให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนแหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์เป็นเขตโบราณสถานภายใน 180 วัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1141 วันที่ 11 -17 สิงหาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์