วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560

หนังสือพิมพ์-วารสารศาสตร์ กอดคอกันตาย !?

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

มีประเด็นที่เถียงกันยังไม่รู้เรื่อง เรื่องความตายของหนังสือพิมพ์ กับอวสานของภาควิชาวารสารศาสตร์ อีกหลายประเด็น ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะการมองหลายๆมุม หลายๆเหตุผล และการไม่ด่วนรวบรัดสรุปเพียงเห็นปรากฏการณ์อย่างผิวเผิน

อาจได้คำตอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือหาทางออก บนพื้นฐานของความเป็นจริง

วารสารศาสตร์ตายแล้ว หนังสือพิมพ์สูญหาย หรือวารสารศาสตร์ไม่มีวันตาย หนังสือพิมพ์เป็นอมตะนินิรันดร์กาล ข้อถกเถียงนี้ไม่มีผิด ไม่มีถูก ตราบใดที่มันอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ วิจารณ์ ตรงไปตรงมา ด้วยเหตุผล ด้วยตัวอย่างที่อ้างอิงได้ โดยปราศจากอคติ ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน

ต่างคนต่างมอง ในจุดที่ตัวเองยืนอยู่ ความคิดความเห็นจึงมีทั้งที่ตรงกันและต่างกัน วันนี้จะพูดถึงในสองบทบาท สองมุมมองของ”จอกอ”  บทบาทหนึ่งคืออาชีพสื่อมวลชนตลอดชีพ อีกบทบาทคือคนสอนหนังสือมหาวิทยาลัย เพื่อพยายามจะตอบโจทย์นี้ให้ได้คำตอบที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

ถ้าโจทย์คือ วารสารศาสตร์ตายแล้ว หรืออย่างน้อยๆก็ใกล้ตาย คำถามนี้ก็เป็นผลสะท้อนมาจากการทยอยกันล้มหายตายจากของสื่อประเภทสิ่งพิมพ์ ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสารในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา

นี่ก็เรียกว่าเป็นความท้าทายสำหรับคนที่ยังทำหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อยู่

หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ที่ผมทำที่ลำปาง หรือแม้แต่นิตยสาร ดิ อะลามี่ นิตยสารเฉพาะกลุ่มที่ผมเป็นที่ปรึกษา และช่วยผลิตงานบางส่วนให้เขา ก็อยู่ในกลุ่มที่ท้าทายนี้ด้วย

ทำไมลานนาโพสต์ยังอยู่ได้ ทำไม ดิอะลามี่ ยังอยู่ได้ เหตุผลหนึ่ง ก็คือเป็นกิจการขนาดเล็ก ที่สามารถบริหารต้นทุนได้ แต่เหตุผลในเชิงวารสารศาสตร์ ก็คือนโยบายการบริหาร นโยบายข่าวที่มุ่งไปยังตลาดเฉพาะ หรือ Niche Market

กล่าวเฉพาะ “ลานนาโพสต์” รวมทั้งสื่ออื่นๆในเครือลานนาโพสต์ “จอกอ”ไม่ได้ต้องการคนอ่านจำนวนมากมาย คนฟังวิทยุ คนติดตามเพจ เว็บไซต์ เคเบิลทีวีเป็นหมื่น เป็นแสน แต่เราต้องการกลุ่มเป้าหมายในจำนวนที่แน่นอนจำนวนหนึ่ง แน่นอนว่าจะต้องมีจำนวนพอสมควรที่จะทำให้อยู่ในระดับที่พอคุ้มทุน

เมื่อเป้าหมายคือตลาดเฉพาะ ก็ต้องผลิตเนื้อหาที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มด้วย กรณีลานนาโพสต์ คือ การเป็นหนังสือพิมพ์ชุมชน เป็น Community Newspaper ที่พยายามเสนอข่าวใกล้ตัว ใกล้ชิดคนในพื้นที่ เช่น ข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวการเมืองท้องถิ่น ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนในประเด็นทุจริตคอรัปชั่นในพื้นที่

การผลิตเนื้อหา เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายเฉพาะตอบโจทย์อะไร

ชัดที่สุด ก็คือการตอบโจทย์ความอยู่รอดของสื่อดั้งเดิม เช่นสื่อหนังสือพิมพ์ ที่เนื้อหาจะไม่ไปทับซ้อนกับข่าวประเภท Routine ซึ่งเป็นปัญหาหรือปรากฏการณ์ร่วมของสื่อในเมืองใหญ่ ที่พึ่งพาข่าวกระแส และไม่พยายามที่จะสร้างเนื้อหาที่แตกต่าง ครั้นบริหารล้มเหลว ก็โยนความผิดให้ออนไลน์ ให้สื่อวิทยุโทรทัศน์

นั่นคือปัญหาส่วนหนึ่งของสิ่งพิมพ์ ที่ทำให้มายาคติ ว่า ไม่ควรจะผลิตบัณฑิตหรือให้ความสำคัญกับภาควิชาวารสารศาสตร์อีกต่อไป

ผลสะท้อน ก็คือการปรับหลักสูตร การเรียน การสอนด้านนิเทศศาสตร์ ลดความสำคัญของภาควิชาวารสารลง เพราะเชื่อว่าตลาดแรงงานด้านหนังสือพิมพ์ และสิ่งพิมพ์ กำลังหมดไปและใกล้จะถึงกาลอวสาน

ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าวที่บอกถึงภาวะล่มสลายของภาควิชานี้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คิดอ่านปรับภาควิชาวารสาร ไปอยู่ภายใต้ภาควิทยุและโทรทัศน์ ที่พวกเขาเชื่อว่ายังมีอนาคต โดยอาจเรียกภาควิชาใหม่นี้ว่า broadcast and digital journalism

เมื่อกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดต่อๆมาก็ผิดไปหมด

เพราะมายาคติในเรื่องวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ที่มาจากปัญหาการบริหารจัดการ และการปรับตัวอย่างเป็นด้านหลัก จึงทำให้ภาควิชาวารสารศาสตร์หวั่นไหวไปด้วย

 เมื่อ 40 ปีก่อน หนังสือพิมพ์รายวันหลายสิบฉบับก็ทยอยล้มหายตายจากไป ด้วยปัจจัยอื่นๆมากมาย แต่ละยุค แต่ละสมัย ปัญหาก็แตกต่างกันไป ประเด็นจึงอยู่ที่การปรับตัว ไม่ได้อยู่ที่ออนไลน์ ดิจิตอล หรือคอนเวอร์เจนท์

อีกหลายสิบปีข้างหน้า หนังสือพิมพ์ก็ยังอยู่ ภาควิชาวารสารศาสตร์ ที่สอนให้คนคิดเป็น วิเคราะห์ วิจารณ์ วิพากษ์ อย่างมีความรับผิดชอบก็ยังอยู่ และจะอยู่เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างสื่อที่วูบวาบไปตามยุคสมัย คนเรียนวารสาร นิเทศ ที่วิ่งไล่ตามดิจิตอล กับสื่อที่มีความน่าเชื่อถือ คนเรียนวารสารที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ ชัดเจนและมั่นคงในการผลิตเนื้อหาคุณภาพ ไม่ว่าจะไปปรากฏในแพลตฟอร์มแบบไหนในวันนี้ พรุ่งนี้ และตลอดไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1142 วันที่ 18 - 24 สิงหาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์