วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ตำนานเล่าขาน

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

แนวภูเขาทางด้านทิศตะวันออกของเมืองลำปางนอกจากดอยพระบาทแล้ว ที่ต่อเนื่องกันมาก็คือ “ดอยงาม” ปราการสูงทะมึนแห่งนี้ มองเห็นได้จากในเมือง และบางมุมเรายังเห็นไปถึงองค์เจดีย์สีขาวของวัดม่อนพระยาแช่ตั้งอยู่ลิบ ๆ ท่ามกลางผืนป่าเขียวขจี

วัดม่อนพระยาแช่เป็นวัดเก่าแก่บนเนินเขา เชื่อมโยงแนวความคิดเรื่องเขาพระสุเมรุ อันเป็นแกนกลางของความเชื่อเรื่องจักรวาลในพระพุทธศาสนา จึงไม่แปลกหากเทือกดอยบริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของวัดอีกหลายวัด เช่น วัดพระบาท วัดม่อนจำศีล วัดม่อนปู่ยักษ์ ฯลฯ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุรพล ดำริห์กุล นักวิชาการจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัดม่อนพระยาแช่ไว้ในเฟซบุกของท่านว่า ดอยงามนั้น ปรากฏในตำนานว่าเป็นที่อยู่ของพระสุพรหมฤาษี ผู้สร้างเขลางค์นครเมื่อปี พ.ศ. 1223 และได้มอบให้พระเจ้าอนันตยศ พระราชโอรสองค์เล็กของพระนางจามเทวีปกครอง ด้วยเหตุนี้ ดอยงามจึงมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งยังเป็นที่สถิตของอารักษ์ผีเมืองและผีขุนน้ำ

พระสุพรหมฤาษีเป็นผู้มีวิชาผสมยา สามารถชุบคนแก่ให้กลายเป็นคนหนุ่มได้ ต่อมามีพระยาลัวะจากขุนแม่ระมิงค์ เชียงใหม่ ชื่อพระยาวุฑโฒ เดินทางมาขอให้พระฤาษีชุบตัวให้ ในการชุบตัวต้องนอนแช่น้ำยาในอ่างยา แต่ปรากฏว่าพระยาวุฑโฒเสียชีวิต สถานที่ที่พระยาวุฑโฒนอนแช่ในอ่างน้ำยาตายจึงถูกเรียกขานว่า “ม่อนพระยาแช่” และภายหลังได้มีการสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นบนม่อนแห่งนี้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุรพลกล่าวว่า จากการตรวจสอบภาคเอกสารไม่พบเรื่องราวใด ๆ ของพระธาตุม่อนพญาแช่ปรากฏในสมัยล้านนาก่อนพุทธศตวรรษที่ 25 เลย ทว่าจากการวิเคราะห์ตำนานพระธาตุม่อนพญาแช่ ซึ่งพบชื่อ “เมืองกุกกุตตะนคร” ในเมืองเวียงดินปรากฏอยู่ ทั้งนี้ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ชื่อที่เกี่ยวกับกุกกุตตะนครดังกล่าว มักจะเกี่ยวข้องกับกุกกุตตนที หรือแม่น้ำกก ซึ่งสะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชนลุ่มแม่น้ำกกในจังหวัดเชียงราย นั่นคือชาวเมืองเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนอพยพมาอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวังตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ได้มีการเกิดขึ้นของตำนานใหม่ ๆ หลายฉบับ อาทิ ตำนานพระแก้วดอนเต้า

อีกทั้งเมื่อตรวจสอบโบราณสถานองค์พระธาตุม่อนพระยาแช่ ที่เป็นเจดีย์ก่ออิฐขนาดเล็ก ศิลปะแบบพม่า ไม่มีร่องรอยของการบูรณะทับซ้อนแต่อย่างใด ซึ่งศิลปะแบบพม่าที่ปรากฏในเมืองลำปางและล้านนาทั่วไปนั้น จะเป็นศิลปะพม่าแบบอมรปุระ-มัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นศิลปะพม่ายุคหลัง สร้างขึ้นโดยชาวพม่าและชาวไทยใหญ่ ซึ่งเป็นคนในบังคับของอังกฤษที่เข้ามาค้าขายและทำธุรกิจในล้านนาช่วงหลังจากปี พ.ศ. 2400 เป็นต้นมา รวมทั้งรูปแบบเจดีย์พระธาตุม่อนพระยาแช่ก็เป็นศิลปะพม่ายุคหลัง (อมรปุระ-มัณฑะเลย์)

ดังนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุรพลจึงสรุปว่า พระธาตุม่อนพระยาแช่เป็นพระธาตุเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 25 มานี้เอง

นอกจากจะเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้ว วัดม่อนพระยาแช่ยังเป็นที่ตั้งของโครงการ “เฮาฮักม่อนพระยาแช่” ซึ่งจัดกิจกรรมทำฝาย ปลูกต้นไม้ และป้องกันไฟป่าอยู่เนือง ๆ อีกทั้งยังเป็นห้องเรียนธรรมชาติของกลุ่ม “มะค่าหลวง” อีกด้วย นับเป็นวัดที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติและชุมชนดีทีเดียว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1140 วันที่ 4 - 10 กรกฎาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์