วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ทิ้งสุสานหอยสูญถ่านหินผลิตไฟฟ้า 30 ปี กฟผ.เสียดายปัดเจ้าภาพฟื้นฟู

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

กฟผ.แม่เมาะยันคืนประทานบัตรแปลงสุสานหอยแล้วไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยว เผยเสียดายถ่านหิน 126 ล้านตัน ต้องเสียโอกาสในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ไป 30 ปี มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท  หากขุดตอนนี้ก็ไม่คุ้มเพราะถ่านหินข้างนอกดีกว่าทั้งคุณภาพและราคา  ระบุถ้าให้เป็นเจ้าภาพฟื้นฟูอาจไม่พร้อมเพราะไม่ใช่ภารกิจหลัก  

จากกรณีความเคลื่อนไหวของการฟ้องร้องคดีสุสานหอย 13 ล้านปี  เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้สิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริง ในวันที่ 21 ส.ค. 60  โดยผู้ฟ้องทั้ง 18 รายรอความหวังว่าจะทราบผลการพิพากษาของศาลในเร็ววันนี้

ส่วนทางด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แม่เมาะ  ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4  ให้หยุดดำเนินการและให้อนุรักษ์ซากหอยขม 13 ล้านปีไว้ ล่าสุดได้เปิดเผยกับลานนาโพสต์ว่า กฟผ.ได้คืนประทานบัตรแปลงดังกล่าวไปนานแล้ว และไม่ได้เข้าไปแตะต้องพื้นที่ดังกล่าวเลย เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่ของ กฟผ.แล้ว  ส่วนการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลนั้น เป็นการยื่นในเรื่องของการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.บ.ซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 เท่านั้น

ว่าที่ ร.ต. ณรงค์ศักดิ์ คุณูปถัมภ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (อฟม.) กล่าวว่า สุสานหอย 13 ล้านปี จำนวน 43 ไร่ มีความหนา 13 เมตร มีถ่านหินอยู่ประมาณ 126 ล้านตัน สามารถนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าได้ 1  โรง หากเทียบอายุการใช้งานจะได้ประมาณ 30 ปี  และกำลังการผลิตน่าจะประมาณ 600 เมกะวัตต์  ซึ่งในพื้นที่บริเวณนี้เดิม กฟผ.ได้ขอประทานบัตรไปทั้งหมด 54 ไร่ เพื่อทำการขุดถ่านหินไปผลิตกระแสไฟฟ้า  แต่เมื่อทำการเปิดหน้าดินก็พบว่ามีการสะสมของฟอสซิลหอยขม มีความหนาถึง 13 เมตร  ในตอนนั้นจึงได้แจ้งให้ผู้บริหารทราบ และมีแนวคิดว่าจะทำบริเวณนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว หลังจากขุดถ่านหินเสร็จ โดยนำเปลือกหอยมาเก็บเป็นตัวอย่างไว้แสดงโชว์ว่าสุสานหอยเคยอยู่บริเวณนี้  แต่เนื่องจากมีกลุ่มชาวบ้าน 18 ราย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอคุ้มครองพื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่ให้ กฟผ.เข้าไปดำเนินการขุดถ่านหิน เพราะต้องการให้อนุรักษ์หรือกันในส่วนของสุสานหอยไว้ไม่ให้เข้าไปแตะต้อง คล้ายกับการเก็บไว้เป็นมรดกโลก 

กระทั่งวันที่ 27 ก.ค.50   ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้คุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้ กฟผ.เข้าไปแตะต้อง  โดยมอบให้กรมศิลปากรเข้าไปดูแลพื้นที่แห่งนี้ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน พ.ศ.2504   ซึ่งต่อมา  กฟผ. ได้อุทธรณ์ต่อศาล แต่ไม่ได้ยื่นเรื่องการกันพื้นที่สุสานหอย  แต่ได้ยื่นอุทธรณ์ในกรณีผู้ที่จะเข้ามาดูแลพื้นที่ เนื่องจากกรมทรัพยากรธรณีน่าจะเป็นผู้ที่เข้าไปดูแล ซึ่งเดิม ได้ให้คำนิยามไว้ว่าสุสานหอยเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ จึงได้มอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดูแล ต่อมาได้มีกฎหมายใหม่ออกมาในปี 2551 ตาม พ.ร.บ.ซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551  ครอบคลุมไปถึงซากฟอสซิลหอยนี้ด้วย  ซึ่งระหว่างนี้เพียงแต่รอคำพิพากษาว่าใครจะเข้าไปเป็นเจ้าภาพในการดูแล ทาง กฟผ.ได้ยื่นอุทธรณ์ในเรื่องของการทำให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 ไม่ใช่ พ.ร.บ.โบราณสถานหรือโบราณวัตถุ  คาดว่าหลังจากวันที่ 21 ส.ค. 60 ซึ่งศาลสั่งยุติแสวงหาข้อเท็จจริง ก็จะมีการสรุปสำนวนที่มีอยู่ และมีการพิพากษา โดยปกติแล้วทราบว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 วันหลังจากสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง      

ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  กล่าวต่อไปว่า  นอกจากนี้ทาง กฟผ.ขอคืนประทานบัตรที่ขอไว้ครอบคลุมทั้งหมด 54 ไร่ไปแล้ว เพราะฉะนั้นสุสานหอยก็จะอยู่นอกพื้นที่เขตการทำเหมืองของ กฟผ.  ถ้าศาลปกครองสูงสุด สั่งสิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริง ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.60 แล้วมีการพิจารณาออกมา ผลจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของหน่วยงานอื่นๆแล้ว จะมีการนำถ่านหินที่อยู่ด้านล่างมาใช้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลไม่เกี่ยวกับ กฟผ.แล้ว   ส่วนการเข้าไปในพื้นที่นั้น เป็นอำนาจของศาลที่จะอนุญาต ที่ผ่านมาจึงไม่มีใครเข้าไปในพื้นที่เลย ปัจจุบันมีหญ้าขึ้นปกคลุมไปหมดทางเข้าก็ไม่มีแล้ว

เมื่อสอบถามว่าในเรื่องนี้ กฟผ.เสียอะไรไปบ้าง  ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า  กฟผ.เสียโอกาสที่ไม่ได้นำถ่านหินมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งตามแผนจนถึงปี 2561 โรงไฟฟ้าที่สร้างอยู่ปัจจุบันจะขึ้นมาแทนโรงไฟฟ้าโรงที่ 4-7  กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์   และแผนเดิมได้มีโรงไฟฟ้าทดแทนอีกโรงหนึ่ง จะมาแทนโรง 8-9 โรงละ 300 เมกะวัตต์ รวมประมาณไม่เกิน 600 เมกะวัตต์  รวมกับโรงใหม่ที่สร้างอยู่ปัจจุบันจะมีกำลังการผลิตประมาณ 1,100 เมกะวัตต์   และเหลือโรงที่ 10-13 อีก 1,200 เมกะวัตต์  ซึ่ง 4 โรงนี้ตามแผนในปี 2568 ต้องออกจากระบบเนื่องจากอายุการใช้งานเกือบ 30 ปี  ถ้ามีการก่อสร้างขึ้นใหม่อีก 1 โรง ทดแทนโรงที่ 10-13  ประมาณ 600 เมกะวัตต์ ก็จะนำถ่านหินใต้สุสานหอย 120 ล้านตันมาใช้ได้ อีก 30 ปี หากเทียบเป็นมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท  แต่ตอนนี้ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ เท่ากับว่าปี 2568  กฟผ.จะเหลือกำลังการผลิตอยู่ 1,100 เมกะวัตต์ ไปจนถึงปี 2594 ตามปริมาณถ่านที่ขุดได้ไม่เกี่ยวกับถ่านหินที่อยู่ใต้สุสานหอย   แต่หากว่าให้ขุดขึ้นมาตอนนี้ก็อาจจะไม่พร้อมแล้ว ซึ่งการขุดจะต้องมีการคำนวนพื้นที่ตามสัดส่วนต่างๆ หากมองถึงการลงทุนและเทียบกับราคาถ่านหินที่นำเข้ามาก็ไม่คุ้ม เอาถ่านหินข้างนอกเข้ามาดีกว่า ทั้งในเรื่องคุณภาพและราคา

ถามต่อว่า  กฟผ.พร้อมเป็นเจ้าภาพในการฟื้นฟูสถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือไม่ หากได้รับการร้องขอ   ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กล่าวว่า หลังจากศาลพิพากษาแล้ว  หากวันใดวันหนึ่งที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ทาง กฟผ.เข้ามาดูแลพื้นที่สุสานหอย พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในตอนนั้น กฟผ.ก็ไม่ทราบว่าจะพร้อมหรือไม่ กฟผ.ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการตรงนั้นได้เอง เพราะตอนนี้ไม่ใช่พื้นที่ของ กฟผ.แล้ว  คงต้องอยู่ที่คำสั่งของทางรัฐบาล   ประกอบกับภารกิจหลักของ กฟผ.คือการผลิตกระแสไฟฟ้า  ไม่ใช่ไปฟื้นฟู   หากรัฐบาลสั่งการก็ต้องมีการสนับสนุนเข้ามาด้วย 


เครดิตภาพ:http://www1.dpim.go.th/ppr/title.php?tid=000001071231544

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1142 วันที่ 18 - 24 สิงหาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์