โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง
เปิดตัวเครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้มหมุนรอบตัว มูลค่า 166
ล้านบาท เครื่องแรกของภาคเหนือ ให้บริการได้วันละ 60 คน เตรียมพร้อมให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างเต็มรูปแบบเดือน
ก.ย.นี้ หลังจากที่ตรวจพบว่าประชากรในประเทศไทยทุก
ชั่วโมงจะมีผู้ป่วยมะเร็งตาย และป่วยด้วยโรคมะเร็งเพิ่มถึง 2
คน
เมื่อวันที่
11 ส.ค.60 ที่ผ่านมา นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์
อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานเปิดตัว เครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้มหมุนรอบตัว Volumetric Modulated Radiation
Therapy หรือ VMAT ที่กลุ่มงานรังสีรักษา โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง
พร้อมเข้าตรวจเยี่ยมห้องควบคุมและการให้บริการ
รวมทั้งมีการแถลงข่าวร่วมกับ นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง นายแพทย์ดลสุข พงษ์นิกร
รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ และแพทย์หญิง ทัศน์วรรณ อาษากิจ หัวหน้ากลุ่มงานรังสีรักษา เกี่ยวกับการเปิดใช้บริการเครื่องฉายรังสีดังกล่าว
ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องที่ 2 ของประเทศไทย
และเป็นเครื่องแรกของภาคเหนือ มีมูลค่า 166,300,000
บาท ให้บริการผู้ป่วยได้ประมาณ
60 คนต่อวัน
นายแพทย์ธีรพล
โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเหนือผู้ป่วยมะเร็งเกิดขึ้นชั่วโมงละ
2 ราย และเสียชีวิตชั่วโมงละ 2 ราย ซึ่งคิดเป็นภาพรวมทั้งประเทศแล้วทั้งปีมีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตทั้งประเทศ
70,000 ราย
ในภาคเหนือเสียชีวิต 13,000 กว่าราย ซึ่งประเภทผู้ป่วยมะเร็ง
ผู้ชายมะเร็งตับจะเป็นอันดับ 1 ตามด้วยมะเร็งปอด
และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนผู้หญิง อันดับ 1
จะเป็นมะเร็งเต้านม รองลงมาคือ มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับจะตกไปเป็นอันดับ 4 สาเหตุของการเป็นมะเร็ง
เกิดได้จากภายในตัวผู้ป่วยเอง เช่น กรรมพันธุ์ เมื่อระยะหนึ่งถูกกระตุ้นด้วยวัย
ก็ทำให้เกิดโรคซึ่งแก้ไขได้ยาก อีกส่วนมาจากอาหารการกิน สิ่งแวดล้อม อากาศ ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น
การติดเชื้อที่ปากมดลูก ทำให้เกิดมะเร็งได้
สำหรับเครื่องฉายรังสีดังกล่าวนี้
จะสามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มต้น หรือมะเร็งที่ไม่รุนแรง โดยจุดเด่นคือ จะมีความแม่นยำกำจัดที่ตัวเนื้อร้ายโดยตรง
ไม่กระจายไปรอบข้าง และบางครั้งถึงหายขาดได้ รวมทั้งใช้เวลาน้อยมาก
เพียง 5 นาทีก็สามารถจัดการมะเร็งได้เทียบเท่ากับของเดิมที่ต้องใช้เวลานาน 15-20 นาที และผลข้างเคียงของการฉายแสงทั้งหลายที่เคยเกิดขึ้น
ให้ได้รับผลข้างเคียงน้อยมากที่สุด
โดยเฉพาะมะเร็งที่มีขนาดเล็ก เมื่อพบโดยเร็วและเครื่องมีความแม่นมาก
ทำลายเซลข้างเคียงได้น้อย ก็จะรักษาให้หายได้ ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องมีบาดแผลเลย โดยการใช้เครื่องฉายรังสีนี้ไม่ได้ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง
สามารถรักษามะเร็งได้ทุกประเภท แต่ต้องดูความเหมาะสมว่าจะรักษาด้วยเครื่องนี้ได้หรือไม่
แต่สิ่งที่คาดหวังคือ เจอเร็ว ก้อนเล็ก
หวังรักษาหายขาด ใน 1 วันจะให้บริการผู้ป่วยได้ประมาณ 60 ราย เครื่องฉายรังสีเครื่องนี้ เป็นเครื่องแรกของภาคเหนือ แต่เป็นเครื่องที่ 2 ของประเทศ
โดยอีกเครื่องหนึ่งตั้งอยู่ที่ธรรมศาสตร์ทำงานเหมือนกันทุกอย่าง
นายแพทย์อดิศัย
ภัตตาตั้ง
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง
กล่าวเพิ่มเติมว่า
ในหนึ่งปีมีคนไข้มะเร็งที่ต้องใช้การรักษาโดยรังสีรักษาเกือบ 2,000
คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
สามารถรักษาด้วยเครื่องฉายรังสีธรรมดา ส่วนอีกกลุ่มคือมีก้อนขนาดเล็ก สามารถรักษาได้ด้วยเครื่องฉายรังสีใหม่ ซึ่งทุกสิทธิ์การรักษาสามารถเข้าถึงการรักษาได้
แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รักษาด้วยเครื่องฉายรังสีใหม่นี้
ต้องพิจารณาตามเหตุผลและความจำเป็นที่แพทย์วินิจฉัย ทางโรงพยาบาลมะเร็ง ลำปาง
พร้อมที่จะยกระดับการรักษามะเร็งผู้ป่วยในภาคเหนือให้เท่าเทียมกับผู้ป่วยแห่งอื่นในประเทศไทย
สำหรับเครื่องฉายรังสีเครื่องใหม่นี้
ติดตั้งเสร็จแล้ว แต่ยังคงจะต้องมีการทดสอบด้านเทคโนโลยี
ให้เกิดความแม่นยำมากที่สุด
ซึ่งตามแผนจะเปิดให้บริการในช่วงต้นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
นอกจากนี้ นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า มะเร็งบางชนิดมีระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงนาน
ประชาชนต้องช่วยตัวเองในการเรียนรู้การเกิดมะเร็ง
ชนิดไหนที่ตรวจได้และสังเกตได้ด้วยตัวเอง หรือไปรับการตรวจจากแพทย์เป็นระยะ เช่น
มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่มีเวลาเกิดมาก
กระทรวงสาธารณสุขได้ออกวิธีแนะนำการตรวจสอบด้วยตัวเองไว้จำนวนมาก
จึงฝากให้ประชาชนหมั่นศึกษาและเอาใจใส่ตัวเอง
หากพบในเริ่มแรกก็ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1142 วันที่ 18 - 24 สิงหาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น