วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

แลกถ่านหินกับสุสานหอย วัดใจไฟฟ้า รักษ์โลก

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

ลังผ่านมา 10 ปี ศาลปกครองสูงสุดก็สั่งยุติการแสวงหาข้อเท็จจริง คดีพิพาทเรื่องสุสานหอย ระหว่างชาวบ้านกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยคาดว่าจะมีคำวินิจฉัยเร็วๆนี้ หลังจากศาลปกครองกลางได้ตัดสินให้เพิกถอนประทานบัตรในพื้นที่แหล่งที่พบซากหอยขมดึกดำบรรพ์ แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ยังโต้แย้งกันอยู่ จนกว่าศาลสูงจะตัดสินขั้นสุดท้าย

น่าสนใจท่าทีของ กฟผ.ที่เปิดกว้างสำหรับการรักษาแหล่งโบราณ หรือสุสานหอย สำหรับการเรียนรู้ ทั้งที่มีถ่านหินสะสมอยู่ถึง 126 ตัน ผลิตไฟฟ้าได้ 30 ปี ตีมูลค่าได้ 2 แสนล้านบาท แต่มูลค่าทางใจ และการพบซากสุสานหอยที่ประเมินมูลค่ามิได้ เป็นสมบัติของชาติ สำคัญกว่า

เราอาจติดภาพ “ผู้ร้าย” ของ กฟผ.ที่มุ่งแต่จะระเบิดทำลายผืนดิน ภูเขา เพื่อขุดค้นหาถ่านหิน แหล่งพลังงานสำคัญในการผลิตไฟฟ้า หรือมีภาพของผู้ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เป็นปรากฏการณ์ร่วมในหลายพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ แต่เราอาจมองข้ามความจริงในหลายครั้งทั้งอดีต และปัจจุบันว่า กฟผ.และแม่เมาะ ก็มีคุณต่อแผ่นดินนี้ไม่น้อยไปกว่าองค์กร หรือคนอื่นๆ และพวกเขามีใจที่จะรับรู้ว่าคุณค่าของผืนแผ่นดิน ที่มีสมบัติล้ำค่า เช่น สุสานหอย ติดตรึงอยู่นั้น มากกว่างานในภารกิจรับผิดชอบ คือผลิตไฟฟ้าให้คนเกือบทั้งประเทศใช้

เรื่องของสุสานหอย ผ่านมาเนิ่นนาน อาจจำเป็นต้องทบทวนและฉายภาพทั้งหมดให้เห็น โดยผ่านงานวิจัย อ้างอิงผู้เขียน คือ mae moh ในส่วนที่ว่าด้วยที่มาและความสำคัญ โดยลำดับความตั้งแต่ภารกิจของเหมืองถ่านหิน

 เหมืองถ่านหินลิกไนต์ อำเภอแม่เมาะตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มีพื้นที่เต็มโครงการประมาณ 150 ตรารางกิโลเมตร เป็นเหมืองแบบเปิด คือเหมืองที่พัฒนามาจากเหมืองหาบ ใช้เครื่องจักรเปิดหน้าดินออกเป็นชั้นๆจนถึงชั้นถ่าน

มีการขุดหน้าดินเพื่อนำถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยแปรสภาพพลังงานที่สะสมอยู่ในถ่านหินให้เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยใช้น้ำเป็นตัวกลาง ประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ 2 ส่วน คือ พื้นที่ทำเหมืองลิกไนต์และโรงจักรผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงหลัก

ผลการสำรวจพบว่า แอ่งสะสมตัวของแหล่งถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะ เป็นแอ่งระหว่างหุบเขามีลักษณะรีคล้ายรูปไข่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 135 ตารางกิโลเมตร มีส่วนกว้างสุด 8.8 กิโลเมตร และส่วนยาวสุด 18.3 กิโลเมตร มีโครงสร้างธรณีวิทยาเป็นแบบกระทะหงาย (Syncline) มีแนวชั้นลิกไนต์โผล่ปรากฏบริเวณขอบแอ่งทั้งทางด้านตะวันออก และตะวันตกและค่อยๆ ลาดเอียงลงไปทางตอนกลางแอ่งจนถึงระดับความลึกประมาณ 450 เมตร

และมาถึงตอนที่พูดถึงการค้นพบสุสานหอย

ในบริเวณประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะได้มีการค้นพบซากหอยขมดึกดำบรรพ์ บริเวณเขตประทานบัตรที่ 14349/15341 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี ได้เข้าสำรวจร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 4 ครั้ง

พบว่าเป็นซากหอยขมสกุล Bellamya สะสมตัวเป็นชั้นเมื่อประมาณ 13 ล้านปีมาแล้ว มีลักษณะเป็นชั้นรูปเลนส์ หนาที่สุด 12 เมตร และแผ่ออกไปครอบคลุมพื้นที่ประมาณกว่า 50 ไร่ ซึ่งมีความหนาที่สุดในประเทศไทย และเป็นชั้นซากหอยน้ำจืดที่หนาที่สุดในโลก

ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีคุณค่าที่จะมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ทางธรรมชาติวิทยา และให้กระทรวงอุตสาหกรรมกันพื้นที่ 43 ไร่ออกจากแปลงประทานบัตรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ต่อไป

ความโดยสรุป บอกชัดว่า นี่เป็นชั้นซากหอยน้ำจืดที่หนาที่สุดในโลก ความเป็นที่สุดในโลกนั้น ไม่เพียงเป็นความภาคภูมิใจของคนแม่เมาะ และคนลำปาง แต่ต่อไปข้างหน้า เมื่อขั้นตอนคดีความผ่านพ้นไป สถานที่นี้ ย่อมมีศักยภาพที่จะต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ศึกษาหาความรู้ ทั้งสำหรับคนไทย และต่างประเทศได้

ความไม่พยายามยื้อพื้นที่เพื่อภารกิจหลักของ กฟผ.คือผลิตไฟฟ้า แต่กลับให้ความสำคัญและยอมรับคุณค่าทางใจ ย่อมเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีได้ 

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1143 วันที่ 25 - 31 สิงหาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์