กลุ่มเห็นต่างเคลื่อนพลเข้าศาลากลาง
ฝ่ายค้านยื่นหนังสือเวที ค.3 ควรเลื่อน เหตุไม่ชี้แจงผลกระทบที่ชัดเจน
ย้ำให้เปิดเวทีพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่ฝ่ายหนุนแย้งไม่ควรเลื่อน
เนื่องจากล่าช้ามากว่า 6 เดือน ต้องผ่านอีก 3 ขั้นตอน ด้านผู้บริหาร กฟผ.ยันเดินหน้าจัดเวที ค.3 ชี้แจงเหตุชะลอเงินบริจาคสมาคมพัฒนาแม่เมาะ
เพราะรอ สตง.ตรวจสอบ
-
ขอให้เลื่อน ค.3
เมื่อวันที่
15 ก.ย. 60
เวลา 09.00 น.
เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอำเภอแม่เมาะ และตัวแทนชาวบ้าน อ.แม่เมาะ นำโดยนายวิวัฒน์ ปินตา
นางพนิดา ทักษิณาพิมุข นายกสมาคมพัฒนาแม่เมาะ ได้เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดลำปาง
พร้อมชูป้ายคัดค้านจะไม่ยอมรับการทำ ค.3 และจะไม่รวมทำ ค.3 ในวันที่ 23 ก.ย.60 นี้
ซึ่งกลุ่มชาวบ้านได้เตรียมหนังสือ
4 ฉบับ ยื่นถึง นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พล.อ.ชัยณรงค์ แกล้วกล้า ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก พล.ต.กิตติศักดิ์ แม้นเหมือน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 และ พล.ต.ต.นิยม ด้วงสี ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ลำปาง
เพื่อขอให้มีการเลื่อนการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
(ค.3) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
เครื่องที่ 4-7
เนื่องจาก กฟผ.แม่เมาะ
ยังไม่มีการชี้แจงถึงผลกระทบที่ชัดเจนของโครงการขยายกำลังการผลิตจาก 600 เมกะวัตต์ เป็น 655 เมกะวัตต์
-
ไม่มีการชี้แจงผลกระทบ
นายวิวัฒน์ ปินตา
ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการประชุม ค.1 และ
ค.2 ชาวบ้านได้เสนอประเด็นการแก้ปัญหาและเยียวยาในหลายประเด็น แต่ยังไม่เห็นแผนงานที่
กฟผ.แม่เมาะจะดำเนินการแต่อย่างใด
ควรจะชี้แจงต่อประชาชนอย่างจริงใจว่า อ.แม่เมาะจะเสียหายอีกเพียงใด และจะรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างไรบ้าง ซึ่งนอกจาก กฟผ.ยังปฏิเสธสิ่งที่เคยรับผิดชอบมาโดยตลอด
คือการชะลอบริจาคงบประมาณให้แก่สมาคมพัฒนาแม่เมาะ ปีละ 30
ล้านบาท
ซึ่งเป็นสมาคมที่ทำงานด้านการศึกษา
และที่ผ่านมาได้มอบทุนการศึกษาให้เด็กและเยาวชนใน อ.แม่เมาะจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีการยกเลิกกิจกรรมที่เคยสนับสนุน
รวมถึงกิจกรรมอื่นๆอีกหลายงาน ดังนั้นก่อนถึงการจัดงาน
ค.3 ควรจะออกมาชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบอย่างชัดเจนด้วย และให้เลื่อนการจัดงานออกไป จนกว่า
กฟผ.จะตกลงแผนและวิธีการแก้ไขเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
-
ไม่ใช่อำนาจผู้ว่าฯ
ด้านนายสมชัย
กิจเจริญรุ่งโรจน์
รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
กล่าวว่า
การเลื่อนจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
(ค.3) ไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด
ซึ่งจะได้รับหนังสือไว้และจะนำเรียนผู้ที่มีอำนาจในการดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้
กลุ่มชาวบ้านยังได้มีการขึ้นป้ายคัดค้านบริเวณหน้าไปรษณีย์ อ.แม่เมาะ ซึ่งแหล่งข่าวในพื้นที่ระบุว่าต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาทำการปลดป้ายคัดค้านออกไปทั้งหมดแล้ว
-
ลงชื่อหนุน ค.3
ต่อมาวันที่
18 ก.ย.60
เวลา 17.30 น.
กลุ่มรักแม่เมาะ
ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ อ.แม่เมาะ
ได้ตั้งโต๊ะลงชื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ
พร้อมรวมตัวกันชูป้ายสนับสนุนการจัดทำเวที ค.3
และสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนฯ
โดยมีชาวบ้านทยอยเดินทางมาลงชื่อกันอย่างต่อเนื่อง
และร่วมชูป้ายแสดงพลังกันประมาณ 100 คน พร้อมกันนี้ได้มีนายบรรพต ธีระวาส
ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ
พร้อมด้วยพนักงาน กฟผ.แม่เมาะ เข้าร่วมกิจกรรมด้วย
-
ต้องผ่านหลายขั้นตอน
กลุ่มชาวบ้านให้เหตุผลว่า การเลื่อนเวที ค.3
ออกไปจะทำให้ประเทศชาติเสียหาย
ไม่อาจประมาณค่าได้เลยอาจจะเป็นหลายพันล้านถึงหมื่นล้านบาท เพราะตามแผนได้กำหนดให้นำเข้าระบบในวันที่
13 พ.ย.61 ซึ่งเป็นไปตาม EHIA ปี 2556 ได้รับการอนุมัติแล้วเมื่อปี 58 เพราะต้องใช้เวลาถึง 3 ปี แต่เมื่อมีการขยายจาก 600
เมกะวัตต์ เป็น 655 เมกะวัตต์ ทำให้ต้องทำ EHIA
ใหม่ แต่เวลาเหลือแค่ 2 ปี ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือน
พ.ย. 61 กฟผ.ใช้เวลาทำ ค.1-ค.3.
ภายใน 1 ปี และเมื่อผ่านแล้วต้องนำเสนอ
คณะผู้ชำนาญการจากส่วนราชการและองค์กรอิสระ นักวิชาการ อีก 2 คณะ คาดว่าใช้เวลา 6 เดือน
ต่อจากนั้นนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาอีก 3 เดือน เมื่อเห็นชอบแล้วก็นำเสนอ ครม.อนุมัติ และต้องขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจาก
กกพ. ถ้าเป็นไปตามขั้นตอนดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค.61 ซึ่งจะใกล้เคียงกันแผนที่จะเตรียมความพร้อมที่จะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ
วันที่ 13 พ.ย.61 โรงไฟฟ้าทดแทนราคา 36,000 ล้านบาท
และทำให้ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคเหนือ 17 จังหวัดมีความมั่นคง
จึงเลื่อนไม่ได้อีก เป็นเหตุผลที่ต้องทำ ค.3 ในวันที่
23 ก.ย.60 จะยอมให้แม่เมาะและประเทศชาติเสียหายไม่ได้
-
นับพันแห่ไปศาลากลาง
จากนั้น
เมื่อวันที่ 19 ก.ย.60 เวลา 09.00
น.ที่บริเวณสนามด้านหน้าศาลากลางจังหวัดลำปาง ชาวบ้านในนามกลุ่มรักแม่เมาะ
เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 พร้อมด้วยตัวแทนกำนันผู้ใหญ่บ้าน
พนักงาน ลูกจ้าง กฟผ.แม่เมาะ เดินทางด้วยรถบัสและรถยนต์หลายสิบคัน รวมประมาณ 2,000 คน
มาแสดงพลังในการสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนฯ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
(ค.3) ในวันที่ 23 ก.ย. 60 กรณีการขยายกำลังการผลิตจาก 600 เมกะวัตต์ เป็น 655 เมกะวัตต์ พร้อมยื่นหนังสือคัดค้านการกระทำของเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอำเภอแม่เมาะ
น.ส.ชญากร
วงศ์อะถะ รองนายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ กล่าวว่า
ชาวแม่เมาะต้องการให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 4-7
เป็นพลังของประชาชนอย่างแท้จริง
ที่ผ่านมามีบางกลุ่มออกมาแสดงตัวคัดค้าน
แต่ก็ไม่ได้มีการสอบถามความคิดเห็นส่วนใหญ่
ซึ่งต้องการให้เกิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ค.3
ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
อ.แม่เมาะมีความเจริญขึ้นก็มาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตนเองเกิดและอาศัยอยู่แม่เมาะ
เมื่อชาวบ้านเดือดร้อนก็มาเพื่อสนับสนุนส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน โรงไฟฟ้าทดแทนก็เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตไฟฟ้า
ที่สำคัญคือประชาชนขาดพลังงานไม่ได้ ดังนั้น จะยืนยันที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าทดแทน
และให้มีการจัดเวที ค. 3 ต่อไป
-
ขอให้คุยในเวที
การมีกลุ่มคัดค้าน
และให้มีการเลื่อนการจัด ค.3 ออกไป
มีเพียงเสียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เห็นด้วย ที่ผ่านมาการจัดเวที ค.1 และ ค.2 ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างถูกต้อง
ซึ่งตนมองว่าการเกิดเวที ค.3 เป็นสิ่งที่ดี
หากชาวบ้านแสดงความคิดเห็นว่าไม่อยากให้สร้าง โรงไฟฟ้าก็ไม่สามารถเกิดได้
แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าโรงไฟฟ้าสำคัญและสร้างได้
ก็ควรจะเป็นสิทธิเสรีภาพและเป็นเสียงส่วนใหญ่ของชาวบ้านที่ต้องการให้สร้างโรงไฟฟ้า นอกจากนั้นยังเห็นว่า การขยายกำลังการผลิตเป็นสิ่งที่ดี
เพราะมีการจัดซื้อในราคาเดิมแต่ได้คุณภาพ มาตรฐาน และเทคโนโลยีที่ดีขึ้น และเมื่อพบสิ่งที่ดีกว่า
ก็ได้มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงและชี้แจงให้ประชาชนทราบ การใช้เทคโนโลยีใหม่ได้พลังงานมากขึ้น
ใช้วัตถุดิบน้อยลงถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เชื่อว่าทำให้เกิดความคุ้มค่าในอนาคต
น.ส.ชญากร กล่าว
-
ปลัดจังหวัดรับเรื่อง
สำหรับกลุ่มรักแม่เมาะ
ได้รวมตัวกันขึ้นจากสื่อสังคมออนไลน์ ทางเฟซบุ๊กโดยใช้ชื่อกลุ่มเรารักโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
โดยทางกลุ่มรักแม่เมาะได้รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน
และสนับสนุนการจัดเวที ค.3 จำนวน 3,200 คน
พร้อมแถลงการณ์คัดค้านการกระทำของกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอำเภอแม่เมาะ
กรณีที่อ้างชาวแม่เมาะไม่ต้องการโรงไฟฟ้าทดแทน ส่งมอบให้นายสุรพล
บุรินทราพันธุ์ ปลัดจังหวัดลำปาง
เพื่อนำส่งมอบให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการต่อไป
-
ผู้บริหาร กฟผ.ยันทำตามกฎหมาย
เมื่อเวลา
15.00 น. วันที่ 19 ก.ย. 60 นายบรรพต ธีระวาส ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ
กล่าวในการแถลงข่าวถึงความพร้อมในการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ (ค.3) ว่า ประเด็นข้อร้องเรียนของทางกลุ่มเครือข่ายประชาชนฯ
ทราบว่าต้องการให้ดำเนินการเรื่องเงินบริจาคของสมาคมพัฒนาแม่เมาะ
และเรื่องการขอเลื่อน ค.3
ขอชี้แจงว่า
กฟผ.แม่เมาะได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นต่อขอบเขตการศึกษา (ค.1) เมื่อวันที่ 26 เม.ย.60 มีชาวแม่เมาะให้ความสนใจเข้าร่วม 2,647 คน จากเป้าที่ตั้งไว้ 1,500 คน จากนั้นได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย
(ค.2) ระหว่างวันที่ 13-16 มิ.ย.60 โดยบริษัทที่ปรึกษา
ได้ลงพื้นที่กลุ่มย่อย 7 กลุ่ม ในพื้นที่ 5 ตำบล มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 700 คน จึงได้กำหนดจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ (ค.3) ในวันที่ 23 ก.ย.60
ก่อนที่ร่างรายงานจะถูกนำไปปรับปรุงตามข้อเสนอแนะเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์
นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เข้าสู่กระบวนการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้เวลาล่วงเลยจากแผนมากว่า 6 เดือนแล้ว
-
แจงเหตุชะลอบริจาคเงิน สพม.
นายบรรพต
กล่าวต่อไปว่า ประเด็นข้อร้องเรียนว่า
กฟผ.แม่เมาะจะชะลอการบริจาคงบประมาณแก่สมาคมพัฒนาแม่เมาะ
ซึ่งเป็นสมาคมที่ทำงานงานการศึกษาเพื่อนคนแม่เมาะเป็นหลัก ทาง
กฟผ.แม่เมาะได้สนับสนุนงบประมาณให้กับสมาคมพัฒนาแม่เมาะอย่างต่อเนื่อง มาตั้งปี 2543
ปีละ 30 ล้านบาท
รวมกว่า 500 ล้านบาท แต่ในปี 2560 นี้ ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)
ได้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ กฟผ.แม่เมาะ
ซึ่งมีอยู่หลายเรื่องที่ถูกท้วงติงมา เช่น การประกวดราคา การไปราชการต่างประเทศ และ เงินบริจาค จึงได้มีการทำหนังสือถึงผู้ว่าการ กฟผ.
ขอข้อมูลประกอบการตรวจสอบ กฟผ.แม่เมาะ
-
ถูกต้อง จ่ายทันที
กรณีจ่ายเงินบริจาคให้แก่สมาคมพัฒนาแม่เมาะ
เนื่องจากเห็นว่ากิจกรรมที่สมาคมทำ ซ้ำซ้อนกับกองทุนรอบโรงไฟฟ้าที่จัดตั้งขึ้นในปี
2551 เกี่ยวกับด้านการศึกษา
ศิลปวัฒนธรรม เป็นเหตุให้ต้องชะลอการจ่ายเงินให้สมาคมพัฒนาแม่เมาะในปี 2560 ออกไปจนกว่าการตรวจสอบจะสิ้นสุด
หากพบว่าถูกต้องจะจ่ายให้ทันที
แต่ถ้าตรวจสอบแล้วไม่ถูกต้อง
ก็คงต้องไล่เรียงไปถึงผู้ที่อนุมัติจ่ายเงินทั้ง 17
ปีที่ผ่านมา
-
รับไม่เคยตรวจสอบ
“ยอมรับว่าที่ผ่านมาทาง
กฟผ.แม่เมาะบกพร่องที่ไม่ได้มีการตรวจสอบโครงการว่ามีการใช้งบประมาณที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ รวมไปถึง
สตง.เข้ามาช้าไปจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น หาก
สตง.ระบุว่าการบริจาคดังกล่าวถูกต้อง ต่อไปก็คงต้องมาพูดคุยกันระหว่าง กฟผ.แม่เมาะ
และสมาคมพัฒนาแม่เมาะ เพื่อกำหนดหลักการและตัวชี้วัดกันใหม่
ไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณเหมือนที่ผ่านมา”
-
เชื่อมั่นทำถูกต้อง
ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ
ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ยินดีที่ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน
เชื่อว่าทุกคนต้องการที่จะเห็นความเจริญของประเทศชาติ
โดยดำเนินไปตามบริบทที่ถูกต้อง
เชื่อมั่นว่า กฟผ.ทำถูกต้องแล้ว และยืนหยัดที่จะทำต่อไป
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1147 วันที่ 22 - 28 กันยายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น