วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

คนแม่เมาะหนุนค.3'สุรทร'ขอ500ล.ดูแลชีวิตชาวบ้าน

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

กฟผ.จัด ค.3 ราบรื่น ชาวบ้านต่างแสดงความเห็นหนุนโรงไฟฟ้าทดแทน  “สุนทร ใจแก้ว” เจ้าเก่ายันเสนองบประมาณ 500 ล้านดูแลคุณภาพชีวิตชาวบ้าน  ด้าน “ศุกร์” นายก อบต.บ้านดง เสนอยกมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน  ท่ามกลางเจ้าหน้าที่คุมเข้ม ประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 2 พันคน  นำร่างรายงาน เสนอ สผ.ในขั้นต่อไป

เมื่อวันที่ 23 ก.ย.60  ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นายวุฒิชัย เสาวโกมุท รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.3) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 - 7 จาก 600 เมกะวัตต์ เป็น 655 เมกะวัตต์   โดยมี ประชาชนในพื้นที่ 5 ตำบลของ อ.แม่เมาะ ได้แก่ ตำบลแม่เมาะ ตำบลสบป้าด ตำบลนาสัก ตำบลบ้านดง และตำบลจางเหนือ  จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการสรุปและดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

โดยบริเวณพื้นที่จัดประชุมได้มีการคุมเข้มผู้ที่เข้าร่วมเวทีครั้งนี้อย่างเข้มงวด มีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ กฟผ.แม่เมาะ ตั้งจุดตรวจสอบผู้ที่ผ่านเข้าออกตั้งแต่ถนนทางเข้าวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ ถนนภายในทุกเส้นทาง มีการตั้งเครื่องสแกน โลหะและวัตถุระเบิด ตรวจสอบกระเป๋า โทรศัพท์มือถือ ผู้เข้าประชุม เพื่อป้องกันการพกอาอาวุธต่างๆเข้ามาในห้องประชุม ขณะที่ห้องประชุม คึกคักเป็นอย่างมาก เพราะมีประชาชนสนใจเข้าร่วมเวทีครั้งสุดท้ายประมาณ 2,300 คน  และมีผู้ลงชื่อแสดงความคิดเห็น 51 คน  โดยส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน เนื่องจากเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันต้องการให้ทาง กฟผ.แม่เมาะดูแลในเรื่องของคุณภาพชีวิตของชาวบ้านอย่างเคร่งครัด ไม่ให้เหมือนที่ผ่านมาเพราะชาวบ้านและผู้ที่ได้รับผลกกระทบในอดีต ยังคงกังวลกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาขึ้นแล้วก็ตาม

นายสุนทร ใจแก้ว  อดีตนายก อบต.สบป้าด หนึ่งในผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอให้ กฟผ.อุดหนุนงบประมาณปีละ 500 ล้านบาท ดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวแม่เมาะ คนละ 2,000 บาท ต่อคนต่อเดือน  แก้ไขระบบลูกจ้างให้รับคนในพื้นที่เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง กฟผ. เพื่อความมั่นคงในอาชีพ และการดูแลด้านความปลอดภัย เนื่องจากใน อ.แม่เมาะมีคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยมาก ต้องสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อปพร.  เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ต้องเข้ามาดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

เห็นด้วยในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน แต่ กฟผ.จะต้องเน้นย้ำเรื่องผลกระทบ เสียง กลิ่น ฝุ่นละออง คุณภาพอากาศ โดยนำเสนอข้อมูลผ่านทาง ครม. นายรัฐมนตรี ให้ กฟผ.เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ ไม่อยากให้คนแม่เมาะทะเลาะกัน กฟผ.ต้องทำตามระบบเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาน  นายสุนทร กล่าว

ด้านนายศุกร์ ไทยธนสุกานต์ นายก อบต.บ้านดง กล่าวว่า  จากรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯที่ผ่านมา ได้เรียกร้องให้มีการศึกษาครอบคลุมทั้ง 44 หมู่บ้าน การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าต้องเดินหน้าต่อไป ขณะเดียวกันการกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องยกระดับขึ้น สผ.ต้องนำรายงานฉบับนี้ผนวกเป็นกฎหมาย  เดิมรายงานฉบับ 600 เมกะวัตต์มีกฎหมายแร่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพชุมชนละ 2 แสนบาท  ซึ่งเป็นรูปธรรมแต่เห็นว่างบประมาณน้อยไป ดังนั้นจะต้องเพิ่มวงเงินงบประมาณในกองทุนนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้  พร้อมกันนี้ อยากให้ กฟผ.ตรวจสอบและดูแลความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนเส้นทางลำเลียงของรถพ่วงเขต ต.บ้านดง  แต่ละวันมีรถผ่านโดยเฉลี่ย 500 กว่าคัน  และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง  ให้ กฟผ.กำหนดขอบเขตรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้มีการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ด้วย

นอกจากนั้นยังมีชาวแม่เมาะแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เช่นการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่ารองรับการอพยพ การใช้จ่ายเงินงบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เป็นต้น 

ดร. เบญจภรณ์ บุณยพุกกณะ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด กล่าวว่า จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.1) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2560 และการประเมินและจัดทำรายงาน (ค.2) เมื่อวันที่ 13 – 16 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษาได้นำข้อมูลมาเพื่อจัดทำมาตรการต่าง ๆ ให้ลดข้อห่วงกังวลของประชาชน และมาชี้แจงในประเด็นสำคัญ อาทิ

เรื่องการทำ EHIA ใหม่ สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ เพราะถือเป็นการก่อสร้างเพื่อสาธารณประโยชน์ในฐานะองค์กรของรัฐ จึงได้รับการยกเว้นจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการขอใบอนุญาต ซึ่งใบอนุญาต รง.4 กฟผ. สามารถใช้สิทธิของเครื่องจักรเดิมที่มีอยู่ โดยไม่เข้าข่ายการขยายโรงงาน ทั้งนี้ EHIA ใหม่ต้องได้รับความเห็นชอบ จึงจะดำเนินการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้

เรื่องการจ้างงานในพื้นที่ จะมีการกำหนดเป็นนโยบายปฏิบัติให้พิจารณาคัดเลือกคนในอำเภอแม่เมาะเข้ามาทำงานเป็นอันดับ โดยปัจจุบันมีการจ้างงานท้องถิ่นในชุมชนแม่เมาะ จำนวนรวมทั้งสิ้น 4,835 คน   ส่วนการแก้ปัญหาอุบัติเหตุและจราจร มีการการกำหนดมาตรการความปลอดภัยของผู้สัญจรอย่างชัดเจน โดยจัดเจ้าหน้าที่ดูแลการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน และกำหนดมาตรการลงโทษผู้ขับรถบรรทุกเถ้าลอยหรือรถบรรทุกยิปซัม และหน่วยงานที่ควบคุมดูแลการซื้อขายอย่างชัดเจน รวมทั้งจัดเตรียมรถกู้ภัยและดับเพลิงสำหรับกรณีฉุกเฉิน

สำหรับการแก้ปัญหาอาชญากรรมจากแรงงานต่างถิ่น มีการกำหนดมาตรการควบคุมและแก้ไขปัญหา อย่างเข้มงวด ไม่ให้ทำผิดกฎหมายหรือก่อปัญหากับชุมชน นอกจากนี้ยังกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาการใช้บริการด้านสุขภาพของแรงงานต่างถิ่น โดยจัดให้มีห้องพยาบาล เจ้าหน้าที่ และรถฉุกเฉิน ตลอดบริเวณพื้นที่ก่อสร้างไว้ด้วย

นอกจากนี้ เรื่องการบริหารจัดการเถ้าลอย มีแนวทางให้ชุมชนจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อซื้อเถ้าลอยจาก กฟผ. โดยปัจจุบันได้รับความเห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำให้เป็นไปตามระเบียบ กฟผ.

ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถแสดงความคิดเห็นรวมถึงข้อเสนอแนะในขั้นตอนการทบทวนร่างรายงาน EHIA (ค.3) ฉบับนี้ได้ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2560 ผ่านทาง 1.) อีเมล์ : [email protected] และ [email protected] 2.) คุณวีณิฐฐา วรเกียรติธนากร และคุณรัตติยา งามประดิษฐ์ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด 151 อาคารทีม ถนนนวลจันทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10230 และ 3.) โทรศัพท์ 0-2509-9000 กด 3201-5 ต่อ 104, 106 4.) โทรสาร 0-2509-9109

สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากจัดทำเวที ค. 3 แล้ว ต้องนำเสนอ คณะผู้ชำนาญการจากส่วนราชการและองค์กรอิสระ นักวิชาการ อีก 2 คณะ ต่อจากนั้นนำเสนอคณะกรรมการสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.)พิจารณา เมื่อเห็นชอบแล้วก็นำเสนอ ครม.อนุมัติ และต้องขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจาก กกพ. ถ้าเป็นไปตามขั้นตอนดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค.61


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1148 วันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์