การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
กำหนดจัดงาน “ตามรอยศรัทธามหากุศล รฤกในองค์มหาราชา รัชกาลที่ 9 ณ เขลางค์อริยะนครแห่งล้านนา” ในวันที่ 29-30 กันยายนนี้
ณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม อำเภอเมืองลำปาง
ร่วมเสพสุนทรีย์แห่งศรัทธาอย่างอิ่มบุญอิ่มใจภายใต้ศิลปกรรมของศาสนสถานสำคัญอันงดงามแห่งนครลำปาง-วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
ด้วยปรากฏการณ์ใหม่แห่งการแสดงแสง-เสียงแบบร่วมสมัย ที่ร้อยเรียงการเล่าเรื่อง
“เขลางค์อริยะนคร” ประกอบสื่อมัลติมีเดีย ร่วมกับการขับขานและบรรเลงดนตรีของศิลปิน
นักร้อง นักดนตรี ทั้งพื้นเมืองและระดับอาเซียน โดยวงดนตรี Chamber
Orchestra
ร่วมกับวงดนตรีไทยร่วมสมัยชั้นนำแห่งกรุงรัตนโกสินทร์-วงฟองน้ำ
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยกาดตองตึง
อาหารพื้นถิ่น ไม่ว่าจะเป็นข้าวปั้น หรือยำไข่น้ำแร่ สาธิตการเขียนลายไก่บนเซรามิก
การทอผ้าพื้นเมือง สาธิตการทำโคมล้านนา และร่วมประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ถวายรัชกาลที่ 9 และที่เป็นไฮไลต์ก็คือ การแสดงคอนเสิร์ตที่แบ่งเป็น 8 ช่วงด้วยกัน
การแสดงช่วงที่ 1 “บรรเลงเพลงเปิดการแสดงโดยวงฟองน้ำ / Chamber Orchestra” โดยจะเป็นช่วงเปิดงาน ซึ่งพิธีกรจะแนะนำภาพรวมของการแสดงครั้งนี้
การแสดงช่วงที่ 2 “เขลางค์อริยะนครแห่งล้านนา เรืองรุ่งด้วยพุทธศาสนามานับสหัสวรรษ”
เขลางค์นคร คือ
อริยะนครที่สำคัญแห่งอาณาจักรล้านนาที่มีมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าและรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนามานานนับสหัสวรรษ
การแสดงช่วงที่ 3 “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ของบุรพกษัตริยาธิราช”
แผ่นดินไทยได้เป็นแผ่นดินธรรม หมายถึง
แผ่นดินที่มีผู้ปฏิบัติธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง ส่วนแผ่นดินทอง
หมายถึง แผ่นดินที่ประชาชนได้รับประโยชน์และความสุขอย่างทั่วถึงตามควรแก่อัตภาพ
ก็ด้วยพระเมตตาบารมีและคุณูปการแห่งบุรพกษัตริยาธิราชเจ้าของไทย
ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจและความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติตั้งแต่อดีตสืบมาจนถึงปัจจุบัน
การแสดงช่วงที่ 4 “อุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลมหาชนชาวสยาม”
ด้วยความเสียสละความสุขส่วนพระองค์และการอุทิศพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทั้งหมดนี้เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า
สมดังพระราชปณิธานเมื่อครั้งทรงครองสิริราชสมบัติที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
การแสดงช่วงที่ 5 “วงฟองน้ำ วงดนตรีไทยร่วมสมัยแห่งยุครัตนโกสินทร์”
วงดนตรีที่บอกเล่าพัฒนาการของวงดนตรีไทย
ที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การดนตรีแห่งยุครัตนโกสินทร์
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
การแสดงช่วงที่ 6 “ด้วยธรรมแห่งมหาธรรมิกราชาทรงดำรงค์ไว้ซึ่งความยุติธรรม”
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นมหาธรรมิกราชาจะทรงไว้ซึ่งการผดุงความยุติธรรม
เพื่อความสงบสุขของแผ่นดิน ประดุจดังพระอัยการชื่อท้าวมาลีวราช
ผู้มีวาจาสิทธิ์ในเรื่องรามเกียรติ์
การแสดงช่วงที่ 7 “ทวยราษฎร์เป็นสุขสวัสดีใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์”
ด้วยพระบารมีแห่งพระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์
พสกนิกรทุกหมู่เหล่าจึงมีชีวิตอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา
การแสดงช่วงที่ 8 “Finale”
เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยคือศูนย์รวมใจของไทยทุกหมู่เหล่า
แนวเพลงเป็นการรวมน้ำใจขับขานเพลงไทยร่วมสมัยที่คุ้นหู
เพื่อร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9
ทั้งนี้ ศิลปินรับเชิญในงานมีมากมาย ได้แก่
โก้ มิสเตอร์แซ็กแมน / กิตตินันท์ ชินสำราญ จากรายการเดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ /
ภานุทัต อภิชนาธง (ครูแอ๊ดหน้อย) ศิลปินพื้นเมือง / ศรวณีย์ พรพิทักษ์พงศ์
วงสวนพลู / ศิลปินดนตรีสากล 3 พี่น้อง วง V-TRIO ในวันที่ 29 กันยายน
ซึ่งได้รับทุนจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ / คิว วงฟลัวร์ ในวันที่ 30 กันยายน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่1145 วันที่ 8 - 14 กันยายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น