ลำปางเป็นเมืองรถม้ามาตั้งแต่ยุคไหนๆ
ฉายาเมืองรถม้าก็ยังคงอยู่กันมาถึงทุกวันนี้
เพราะยังมีรถม้าวิ่งรอบเมืองให้บริการท่องเที่ยว และมีวิถีคนเลี้ยงม้าให้ได้พบเห็นจากจุดจอดรถม้าในตัวเมือง
และในหมู่บ้านคนเลี้ยงม้า แถวบ้านหม้อ วัดเจดีย์ซาวหลัง รวมทั้งฟาร์มม้าหลายแห่งในลำปางยังเลี้ยงม้าป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
และยังมีแหล่งท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
โปรเจกต์ที่น่าสนใจของคนเลี้ยงม้ากลุ่มเล็กๆที่มีฝันอันยิ่งใหญ่ร่วมกันกำลังจะสร้างอาณาจักรแห่งความสุขสนุกสนานผ่านกิจกรรมการขี่ม้าขึ้นที่ลำปางอย่างน่าสนใจ
จากประสบการณ์ตลอดชีวิตที่คลุกคลีอยู่กับม้าในฐานะลูกหลานคน
“บ้านหม้อ” ชุมชนที่เป็นต้นทางรากเหง้าของวิธีเลี้ยงม้า อย่าง “น้อย” สุรกิจ เสาร์ใจ กับภรรยาคู่ใจ
“ตา” ญานิศา ทรัพย์ทอง สร้างสนามฝึกขี่ม้าที่บ้านสวน บนพื้นที่กว่า 30 ไร่
ที่บ้านห้วยทราย ต.ต้นธงชัย อ.เมืองลำปาง
ไว้เป็นสนามฝึกขี่ม้าสำหรับนักกีฬาฝึกแข่งขัน และใช้เป็นสนามฝึกบังคับม้า
เพื่อใช้บริการท่องเที่ยว นี่เป็นฝันแรกสำเร็จ จากนั้นจึงได้ชักชวนพี่น้องที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกันมาร่วมสร้างฝันสร้าว
‘โรงเรียนฝึกขี่ม้า และศูนย์อาชาบำบัด’ ภายใต้ชื่อ ‘โพนี่แคมป์’ ซึ่งหมายถึง แคมป์ของม้าตัวเล็กๆ
ดูน่ารักชวนให้อยากเข้าไปเยี่ยมชม
“
จากประสบการณ์ที่เราอยู่กับม้า ทั้งเลี้ยง
และอยู่ในวงการซื้อขายม้าเล็กเพื่อใช้งานท่องเที่ยว
และวงการแข่งขันขี่ม้าเป็นเหมือนฐานที่แข็งแรงในเรื่องของมิตรภาพจากวงการคนเลี้ยงม้า
คนขี่ม้าทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันเรามีม้าอยู่ 10 ตัว
และเพื่อนๆที่เลี้ยงม้าตามบ้านอีกหลายคน จึงมีความคิดว่า ในลำปางมีสนามฝึกขี่น้อยมาก
เราสร้างคอกฝึกขี่และบังคับม้าไว้ใช้ในงานของเราอยู่แล้ว
แต่เพื่อนพี่น้องในกลุ่มเราก็ปรึกษาหารือกันว่า น่าจะทำให้เป็นศูนย์เรียนรู้ไปด้วย
ขณะเดียวกันก็มีผู้สนใจเรียนและฝึกขี่ม้า
รวมถึงผู้ปกครองเด็กๆที่รู้จักกันให้ความสนใจอยากให้ลูกเรียนขี่ม้า
แต่โรงเรียนฝึกขี่ม้าทั่วไปมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
เราจึงจะเป็นทางเลือกหนึ่งให้เด็กๆมีโอกาสมาฝึกขี่ม้า และพัฒนาเป็นนักกีฬาในอนาคต”
จากจุดเริ่มต้นแนวคิดดังกล่าว
จุดประกายให้ ‘โพนี่แคมป์’ วางตัวเองเป็น ศูนย์เรียนรู้
การฝึกขี่และบังคับม้า ล่วงเลยไปถึงเป้าหมายของการเป็นศูนย์อาชาบำบัดแห่งแรกของจังหวัดลำปาง
เป้าหมายที่ว่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่ก็ไม่ไกลเกินเอื้อมถึง แม้โครงการนี้อยู่ในระหว่างพัฒนาสร้างคอกม้า
และพื้นที่ฝึกขี่ม้าที่มีมาตรฐาน
การจัดทัพของทีมขับเคลื่อนโครงการนี้เองก็ไม่ธรรมดา โดยมีการรวมเอาคนที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านมาสานฝันร่วมกันแบบค่อยเป็นค่อยไป
ทั้งผู้มีประสบการณ์ทำคลินิกม้ามานานเป็นที่รู้จักยอมรับในวงการเลี้ยงม้า ทีมผู้ฝึกม้า ที่มีทักษะเรื่องการดูแลบังคับและขี่ม้าเป็นทุนเดิม นอกจากนี้ยังมี ผู้มีประสบการณ์ด้านการจัดกิจกรรมและงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์
และงานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชน
มาร่วมขบวนในการวางแผนงานและการเชื่อมโยงภารกิจร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชน
เสริมกำลังเครือข่ายของการเชื่อมโยงงานสายการแข่งขันและวงการเลี้ยงม้าอีกแรงหนึ่ง
เป้าหมายสำคัญที่จะนำพาโพนี่แคมป์ไปสู่การเป็นศูนย์อาชาบำบัด
“ตา” ได้ไปเรียนหลักสูตรอาชาบำบัด
ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเรียนรู้ทักษะด้าน การดูแลเด็กออทิสติค เพื่อใช้ม้าช่วยในการบำบัด
ที่เรียกกันว่า Hippotherapy ซึ่งคำว่า Hippo มาจากภาษากรีก แปลว่า “ม้า” ส่วนคำว่า therapy แปลว่า
“การบำบัด”คนไทยเรียกว่า
“อาชาบำบัด”
ซึ่งงานวิจัยที่สนับสนุนให้เห็นถึงผลดีของอาชาบำบัดมากพอสมควร
โดยมักได้ผลดีกับเด็กพิเศษกลุ่มที่มีความผิดปกติด้านระบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ
ในกลุ่มเด็กออทิสติกที่มีปัญหาทางด้านการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
“เราอยู่กับม้ามาหลายรูปแบบ
มีคนมาเรียนขี่ม้ากับเราอยู่แล้ว
รวมถึงเป็นกลุ่มคนที่สนใจและเป็นนักกีฬาที่เขาอยากเปลี่ยนบรรยากาศและสถานที่ฝึกเราก็รองรับได้เป็นแบบกึ่งกีฬากึ่งท่องเที่ยว ส่วนเราเองก็ฝึกลูกๆให้ขี่ม้าเป็นอยู่แล้ว
ดังนั้นการฝึกขี่ม้าให้เด็กจึงอยู่ในกิจวัตรของเราอยู่แล้ว ดังนั้น
เมื่อวางเป้าหมายที่จะรับสอนเด็กขี่ม้าก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง
ขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองศึกษาการฝึกเด็กขี่ม้า ก่อนจะรับนักเรียนรุ่นแรกในปลายปีนี้ ส่วนโครงการรับเด็กพิเศษที่จะเข้ามาฝึกขี่ม้านั้น
เราก็ต้องเรียนทักษะการดูแลเด็กๆหลายด้าน ทั้งด้านจิตวิทยา
และทักษะการดูเด็กขั้นพื้นฐาน แต่เราจะเน้นให้เด็กที่มาอยู่กับเรามีความสนุกสนาน
และเรียนขี่ม้าอย่างปลอดภัย มากกว่าการฝึกแบบเคร่งเครียดแบบนักกีฬา และเราอยากให้
โพนี่แคมป์ เป็นเหมือนโรงเรียนนอกเวลาที่ส่งเสริมสถาบันครอบครัว ให้พ่อ
แม่ลูกมาทำกิจกรรมวันหยุดร่วมกัน ในระหว่างที่เข้ามาเรียนขี่ม้าด้วย ” ตา ญาณิศา บอกเล่าถึงเส้นทางฝัน
โพนี่แคมป์ด้วยรอยยิ้ม
ขณะที่ น้อย สุรกิจ ซึ่งดูแลเรื่องการบริหารจัดการคอกม้า
และงานฝึกขี่ม้าร่วมกับทีมฝ่ายฝึกขี่ม้า
บอกว่า ปัจจุบัน กีฬาขี่ม้าเป็นกีฬาที่ขาดแคลนนักกีฬามาก
เนื่องจากอัตราค่าเรียนขี่ม้าค่อนข้างสูง คนทั่วไปจึงมีโอกาสน้อย แต่โพนี่แคมป์
จะเป็นสถานที่เปิดโอกาสให้ เด็กและเยาวชนที่สนใจมีโอกาสเข้ามาเรียนด้วยค่าเรียนที่ไม่สูงมากนัก
“โพนี่แคมป์จะเป็นศูนย์เรียนรู้
รอบด้านเกี่ยวกับม้า เพราะลำปางถือว่าเป็นเมืองที่มีม้าสายพันธุ์ลูกผสม (pony) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ตัวไม่ใหญ่มากนักเหลือแห่งเดียวในประเทศไทยที่ควรอนุรักษ์ไว้
การถ่ายทอดความรู้ในหมู่คนเลี้ยงม้าด้วยกัน
และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะเชื่อมโยงวิถีคนเลี้ยงม้าทุกรูปแบบ
จะว่าไปแล้ว “โพนี่แคมป์” อาจจะไม่ใช่องค์กรการกุศล แต่ที่นี่กำลังถูกสร้างและทอฝันให้เป็นทั้งบ้านหลังที่สองของคนสนใจเรียนขี่ม้า และเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน อย่างน้อยก็รองรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการขี่ม้ามาช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและ การฝึกขี่ม้า ศูนย์อาชาบำบัดก็ต้องสร้างรายได้ให้เลี้ยงตัวเองได้ในระบบเพื่อความยั่งยืนด้วยเช่นกัน”
มาเที่ยวลำปางเมืองรถม้า
และขี่ม้าที่ลำปาง คงจะเป็นโปรแกรมที่ถูกใจใครอีกหลายคน สโลแกน
“เมืองต้องห้ามพลาด” จะพลาด”โพนี่แคมป์ไปได้อย่างไรกัน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1146 วันที่ 15 - 21 กันยายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น