โลกของการเรียนรู้ในยุค
4.0 เป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับด้านดิจิทัล
ได้ปฏิวัติกระบวนการผลิต การบริการ หรือการบริโภคอย่างมหาศาล ปัจจุบันจะเห็นว่า ผู้ผลิตอุตสาหกรรมใหญ่หลายรายนำหุ่นยนต์มาใช้ในโรงงานแทนคน
เกษตรกรควบคุมการรดน้ำผ่านแอปพลิเคชันมือถือ
บริษัทอสังหาฯ ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติสร้างอาคาร ส่วนผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ
ได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น หลากหลายขึ้น ขณะเดียวกัน การแข่งขันในตลาดรุนแรงขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น โลกในยุค 4.0 จึงกว้างใหญ่ไพศาล มีแหล่งเรียนรู้สาธารณะที่กระจายอยู่ทั่วไป
ซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ใหม่อยู่ตลอดเวลา
“ลำปาง เส้นทาง Hub ความฮู้” จึงเริ่มต้นขึ้น
โดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) องค์การมหาชนในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
เพื่อกระตุ้นให้ทั้งชาวลำปางและคนต่างถิ่น
ได้เข้าถึงขุมสมบัติทางองค์ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้าน
และนำไปต่อยอดเสกสรรค์งานใหม่ๆ ในบริบทที่แตกต่างกัน เนื่องจากจังหวัดลำปาง
นับว่ามีความได้เปรียบของทรัพยากรทางธรรมชาติและศิลปวัฒธรรมเป็นทุนเดิม
เมื่อผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
ทุนเหล่านี้จะนำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตในยุค 4.0 ได้อย่างดี
เส้นทางดังกล่าว
เริ่มจาก 2
เรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ของลำปาง คือ “รถม้าลำปาง”
และ “เซรามิกลำปาง” เป็นการรวบรวมแหล่งเรียนรู้เรื่องราวทั้งประวัติศาสตร์ของรถม้าและเซรามิก
กระบวนการผลิตตลอดทั้งกระบวนการ
จากแหล่งดินขาวไปสู่โรงงานไปสู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์อันสวยงามตระการตา
หรือจากม้าเป็นรถม้าและอาชีพคนขับรถม้าที่จุนเจือรายได้และเศรษฐกิจชุมชนมายาวนาน
รวมทั้งการถ่ายทอดทักษะเฉพาะทาง อาทิ การวิเคราะห์ดิน การออกแบบเซรามิก
การปลูกหญ้าแพงโกล่า การประกอบรถม้า ฯลฯ เปิดประตูต้อนรับให้ผู้มาเยือนได้ทดลอง
ทดสอบ เป็นการฝึกฝนความเชี่ยวชาญและเพิ่มพูนประสบการณ์ด้วยตนเอง ซึ่งนอกจากจะสร้างความเพลิดเพลินเจริญใจ
ยังครบเครื่องเรื่องความรู้
นอกจากองค์ความรู้ด้านรถม้าและเซรามิกแล้ว
OKMD
ยังได้รวบรวมและกำลังจัดทำฐานข้อมูลและแผนที่รวมแหล่งเรียนรู้สาธารณะอันหลากหลายของจังหวัดลำปาง
โดยอาศัยความร่วมมือภายใต้คณะกรรมการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้
เพราะแค่จังหวัดเดียว ยังมีองค์ความรู้/ภูมิปัญญาอีกจำนวนมากรอให้ผู้คนได้เข้ามาค้นหาและพัฒนา
ซึ่งทั้งหมดนี้ สามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ www.lampanghubhoo.com รวมทั้งสื่อต่างๆ ทั้งแผนที่ คลิปวิดีโอ ฯลฯ
ที่จะเผยแพร่ในจังหวัดตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม
การยกระดับทักษะความรู้ดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียน คนไทย 4.0 ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ
สื่อสังคม (Social media) และนวัตกรรมต่างๆ
ในการแสวงหาความรู้และต่อยอดศักยภาพของตนเอง เพื่อปรับตัว
การแสวงหาความรู้คู่ปัญญาจึงเป็นเรื่องสำคัญ มิใช่สำหรับภาคธุรกิจเพียงอย่างเดียว
แต่สำหรับประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย ดังนั้น
การเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้คนมีทักษะหลากหลาย (Multi-skilled) ความคิดสร้างสรรค์ และความคิดเชิงวิพากษ์ รองรับการเข้าสู่ยุคสังคมดิจิทัล
ไม่ใช่แค่เงื่อนไข แต่เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน
“ลำปาง
เส้นทาง Hub
ความฮู้” จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนลำปางและนักท่องเที่ยว ได้รู้จักลำปางในมุมมองใหม่ที่สนุกอย่างสร้างสรรค์
สานฝันการพัฒนาเมืองที่ (ผู้คน) มั่นคง
(ชุมชน) มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1146 วันที่ 15 - 21 กันยายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น