สู้กันไม่จบ
ปัญหาสายไฟแรงสูงพาดผ่านบ้านเรือนชาวบ้าน ต่างงัดหลักฐานแสดงยันความบริสุทธ์
ชาวบ้านอ้าง กฟผ.ทำเอกสารเป็นเท็จ ขณะที่ กฟผ.แจง
มีการรอนสิทธิ์ที่ดินไปแล้วตั้งแต่ปี 2529
พร้อมจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้กับเจ้าของบ้านอย่างถูกต้อง
กรณีนางจรัสศรี
พันธ์ศรีนวล ราษฎรบ้านเลขที่ 116 หมู่ 4 ต.สบป้าด
อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
ร้องเรียนกับหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการเดินสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านในบริเวณบ้านของตนเอง
ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
โดย กฟผ.ไม่ได้แจ้งให้ทราบ และไม่มีการจ่ายค่าทดแทนใดๆ
ทั้งที่ตนเองมีสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอย่างถูกต้อง
นางจรัสศรี
พันธ์ศรีนวล เปิดเผยว่า
บ้านพักอาศัยของตนเองในปัจจุบัน มีใบ นส.3 มีระวางชัดเจน ซึ่งตนได้นำไปจำนองไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่ปี
2540 จนถึงปัจจุบัน โดยเอกสารได้มีการรับรองอย่างถูกต้องทั้งหมด
แต่ไม่ได้มีการนำ นส.3 ไปออกโฉนดเพราะยังติดจำนองกับ
ธกส.อยู่
ตนเองได้ปลูกสร้างบ้านตั้งแต่ปลายปี
36 โดยได้อยู่เย็นเป็นสุขเรื่อยมา
กระทั่งปี 54
ก็มีคนเริ่มเข้ามาข่มขู่ครอบครัวของตนเอง ไปแจ้งความว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นเขตแนวสายไฟเป็นที่ของ
กฟผ. ต่อมาได้มีการลากสายไฟแรงสูงเข้ามาผ่านพื้นที่บ้านของตน เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 57 ทำให้ได้รับความเดือดร้อน
มีคนเข้ามาข่มขู่แม่ของตนที่บ้าน ให้รื้อคอกหมูถ้าไม่รื้อจะฟ้อง ตนจึงได้ยื่นร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช.
ศูนย์ดำรงธรรม และ มทบ.32 ให้เข้ามาช่วยแก้ไขให้ถูกต้อง แต่ทาง กฟผ.ไม่มีหลักฐานสักอย่างว่าที่ดินเป็นของเขา
โดยมีการสร้างหลักฐานเท็จ มีการทำเอกสารซื้อที่ดิน เมื่อปี 2529 เป็นชื่อของนายวัฒนา
จันทร์เขียว อดีตสามีของตนเอง
โดยมีการซื้อขายตอนนายวัฒนาอายุ 11 ปี ตอนนั้นที่ดินเป็น สค.1
อยู่ และยังไม่ได้เป็นของพ่อตนเอง เนื่องจากพ่อซื้อที่ดินต่อมาเมื่อประมาณปี 34 ซื้อจากนายต๊ะ คงชนะ
ลูกชายเจ้าของที่ดินเดิม
จากนั้นพ่อก็ยกที่ดินให้กับตนในปี 36 จึงได้ไปทำใบ
นส.3 และนำที่ดินเข้ากู้กับ ธกส.ปี 40
ถึงปัจจุบัน กระทั่ง
กฟผ.เข้ามาเดินสายไฟแรงสูงเมื่อปี 57 และอ้างเอกสารหลักฐานต่างๆ
แต่ตนเองตรวจสอบแล้วพบว่าเลขที่ในใบ สค.1 ก็ไม่ถูกต้อง
เพราะทาง กฟผ.ระบุว่าเป็น เลขที่ 27 หมู่ 4 ต.สบป้าด อ.แม่ทะ จ.ลำปาง
ที่ถูกต้องคือ เลขที่ 27 หมู่ 11 ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง
และที่ดินบ้านนางอุษาที่อยู่ติดกันก็เลขที่ สค.1
ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน โดยชื่อของคนซื้อที่ดินก็เป็นนายวัฒนาเหมือนกันด้วย
คนที่มาทำเอกสารไม่ใช่คนในพื้นที่ ก็คงไม่รู้ว่าพื้นที่ หมู่ 4 ต.สบป้าด กับหมู่ 11 ต.หัวเสือเป็นคนละที่กัน
ก็เลยโมเมใส่ไปเรื่อย ซึ่งไม่ใช่ความจริง
นางจรัสศรี
กล่าวว่า อีกประเด็นหนึ่งได้มีการทำแผนที่ขึ้นมาบอกว่าพื้นที่บ้านของตนเองและนางอุษาเป็นพื้นที่ว่าง
โดยตัดต่อภาพนำต้นไม้มาใส่เข้าไปในรูป ส่วนคอกหมูมีอยู่ 4 คอก
ก็ใส่ในแผนที่ว่ามีคอกเดียว ซึ่งเอกสารเหล่านี้มาจาก กฟผ.ที่ส่งมาให้ตน และบอกว่าพื้นที่บ้านของตนเป็นเขตแนวสายไฟ ซึ่งเดิมเขตสายไฟอยู่ตามถนน แต่ตอนนี้คร่อมพื้นที่บ้านของตน
หลังจากสายไฟแรงสูงขึ้นแล้ว ปี 58 ตนจึงฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่
เพื่อต้องการให้ กฟผ.เข้ามาดูแลแก้ปัญหา แต่กลับได้รับการข่มขู่เพียงอย่างเดียว จนถึงทุกวันนี้ก็อยู่อย่างหวาดระแวง
กลัวจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพราะสายไฟแรงสูงกว่า 36,000 โวลต์พาดผ่านบ้านของตนเอง
ในเรื่องนี้
ลานนาโพสต์ได้สอบถามไปยัง กฟผ.แม่เมาะ
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยได้รับการชี้แจงจาก
นายสมเกียรติ พนัสชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (ช.อปน.-ห.) ว่า
สายส่งไฟฟ้าเดิมเป็นสายส่งแรงดัน 69 กิโลโวลต์ แม่เมาะ 1-
ลำปาง 1 สร้างเมื่อปี 2503 กำหนดเขตเดินสายไฟไว้ด้านละ 9 เมตร รวมสองด้าน 18 เมตร ต่อมาปี 2529 กฟ.ได้ปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าจาก 69 กิโลโวลต์เป็น 115 กิโลโวลต์ โดยไม่มีการย้ายแนวสาย
แต่ได้ประกาศเขตเดินสายไฟเพิ่มด้านละ 3 เมตร คือ จากเดิม 9 เมตร เป็น 12 เมตร รวมสองด้าน 24 เมตร
และมีการจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้แก่เจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินในส่วนที่ประกาศเพิ่มขึ้นด้านละ
3 เมตร ต่อมาปี 2553 กฟผ.มีการปรับปรุงสายส่งเส้นนี้อีกครั้ง โดยการรื้อถอนเสาเก่าออก
สร้างเสาสายส่งใหม่ในแนวเขตสายไฟฟ้าเดิม
ซึ่งระหว่างการปรับปรุง วันที่ 14 มิ.ย.54
ตรวจสอบพบว่านางจรัสศรีได้มีการก่อสร้างอาคารเลี้ยงหมูมุงสังกะสี 2 ครั้ง และอาคารเก็บของมุงด้วยกระเบื้อง 1 หลัง
รุกล้ำเข้ามาในเขตแนวเดินสายไฟฟ้าของ กฟผ.
จึงได้แจ้งการรุกล้ำและเจรจาให้ทำการรื้อถอน แต่นางจรัสศรีไม่ให้ความร่วมมือ
ไม่ยินยอมลงลายมือชื่อรับหนังสือแจ้งการรุกล้ำในแนวเขตสายไฟ
ต่อมาได้เข้าแจ้งขอให้รื้อถอนอีกแต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ
นางจรัสศรีกลับเข้าร้องเรียน กฟผ.ต่อหน่วยงานราชการหลายแห่ง รวมถึงร้องเรียนสื่อมวลชนใน
จ.ลำปาง ซึ่ง กฟผ.ได้ดำเนินการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าต่อไปตามแผนที่กำหนด
โดยก่อสร้างสายส่ง 4 วงจร ด้านบนเป็นแรงดัน 230 กิโลโวลต์ ด้านล่างเป็นแรงดัน 115 กิโลโวลต์
รวมสองด้านเป็น 24 เมตรเท่าเดิม
จึงไม่มีการจ่ายค่าทดแทนใดๆให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน
จนงานก่อสร้างเสร็จและทำการจ่ายไฟฟ้าครบ 4 วงจร เมื่อวันที่ 1 เม.ย.58 เป็นต้นมา
อปน.ได้กล่าวถึงประเด็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
กรณีมีสายไฟแรงสูงพาดผ่านบริเวณบ้านว่า
กฟผ.ได้คำนึงถึงผลกระทบและความปลอดภัยของราษฎรที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง
ดังนั้นในการปรับปรุงดังกล่าว ได้มีการออกแบบสายส่งให้ใช้พื้นที่เพียงด้านละ 12
เมตรเท่าเดิม เมื่อปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าแล้วและมีการใช้งานในการจ่ายกระแสไฟฟ้า
กฟผ.ยังได้มีการตรวจวัดค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้า
และค่าสนามไฟฟ้าในพื้นที่แนวสายส่งดังกล่าว
เพื่อยืนยันเรื่องความปลอดภัยกับการออกแบบสายส่งที่ทำการปรับปรุง
ผลการตรวจวัดอยุ่ในระดับที่มีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ซึ่ง
กฟผ.ได้ชี้แจงให้กับราษฎรที่อยู่อาศัยใกล้กับแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงดังกล่าวได้รับทราบจนเป็นที่เข้าใจดีแล้ว
ส่วนกรณีมีการปลอมแปลงเอกสารในการจัดซื้อที่ดินนั้น
ได้ชี้แจงว่า เอกสารหลักฐานที่ กฟผ.ใช้ในการพิจารณา
ล้วนเป็นเอกสารหลักฐานทางราชการที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือทรัพย์สินที่ถูกเขตเดินสายไฟฟ้ามอบให้
มีขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิและความถูกต้องของเอกสารหลักฐานต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ปกครองในรูปคณะกรรมการจังหวัด
มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
กรณีที่ดินที่นางจรัสศรีครอบครองในปัจจุบันนั้น ในปี 2529
ตามเอกสารหลักฐานเป็นที่ดินมีหลักฐาน สค.1 เลขที่ 27 ซึ่งนายวัฒนา จันทร์เขียว อดีตสามีของนางจรัสศรี
เป็นเจ้าของและผู้ครอบครอง และได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจากการถูกเขตเดินสายไฟฟ้าจาก
กฟผ.ไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 ต.ค.29 กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่การซื้อขายที่ดิน
แต่เป็นการรอนสิทธิ์เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินเฉพาะเรื่องข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดินลดลงจากเดิมภายใต้เงื่อนไขเพื่อความปลอดภัย
เช่น ห้ามก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง หรือปลูกต้นไม้ยืนต้นภายในเขตเดินสายไฟฟ้า ซึ่ง
กฟผ.มีเอกสารหลักฐานยืนยันการรับเงินค่าทดแทน ซึ่งที่ดินถูกเขตเดินสายไฟฟ้านั้น
สิทธิครอบครองยังคงเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองเดิม ไม่ได้ตกเป็นของ กฟผ.แต่อย่างใด
เรื่องการปลอมแปลงแผนที่บ้านให้เป็นที่สาธารณะนั้น ทาง กฟผ.ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว
เนื่องจากไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว
มีเพียงหน้าที่ในการดูแลบำรุงรักษาระบบโครงข่ายระบบไฟฟ้าและพื้นที่ในแนวเขตเดินสายไฟฟ้าที่ได้ประกาศกำหนดเขตไว้
เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดความปลอดภัยในเขตเดินสายไฟฟ้าเท่านั้น
และประเด็นที่อ้างว่าสายไฟฟ้าแรงสูงเดิมอยู่นอกรั้วบ้าน
แต่ปัจจุบันมีการเดินสายข้ามผ่านบ้านของตนเองนั้น
อปน.ได้บอกว่า เมื่อปี 2553 มีการปรับปรุงสายส่ง
รื้อสายต้นเก่าออกและก่อสร้างเสาสายส่งใหม่เป็นสายส่ง 4 วงจร
ภายในแนวเขตเดินสายไฟฟ้าเดิม
ในพื้นที่ของนางจรัสศรีไม่มีการย้ายแนวสายไปจากแนวเดิม
ซึ่งได้มีการจัดทำรังวัดในการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้า
โดยมีภาพถ่ายยืนยันในพื้นที่ของนางจรัสศรี ทั้งก่อนและหลังการปรับปรุงอย่างชัดเจน
นางจรัสศรี
ได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการหลายแห่ง ซึ่งทาง อปน. และ อจม.
ได้ทำการชี้แจงข้อเท็จจริงแก่หน่วยงานแต่ละแห่งที่รับเรื่องร้องเรียนได้รับทราบแล้ว
และยังคงใช้ความพยายามในการชี้แจงให้นางจรัสศรีได้รับทราบอย่างเต็มที่ แต่นางจรัสศรีไม่ยอมรับฟัง
และไม่เชื่อถือเอกสารหลักฐานที่ได้นำไปชี้แจง โดยที่ตนเองยังคงไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ
ที่อ้างถึงมาโต้แย้งหรือหักล้างเอกสารหลักฐานของ กฟผ.
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1145 วันที่ 8 - 14 กันยายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น