วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สับสนที่ธรณีสูบใครเจ้าของ ป่าไม้เงียบกริบ 9 หลังพังราบ กฟผ.ยันไม่เกี่ยว

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

ธรณีสูบ บ้าน 9 หลังพังราบ  เร่งรื้อถอนเพื่อความปลอดภัย นักธรณีวิทยาหาเหตุพบชั้นดินเหนียวไม่เกาะตัวกัน ยันไม่เกี่ยวกับรอยเลื่อนเถิน ตามข่าวลือขณะที่ กฟผ.แม่เมาะ แจงไม่ใช่ผลกระทบจากการทำเหมือง ย้ำแรงสั่นจากการขุดเจาะต่ำกว่ากฎหมายกำหนด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบพื้นที่ เบื้องต้นให้การช่วยเหลือจากเงินทดรองราชการรายละ 3 หมื่นบาท
 
จากเหตุการณ์ดินทรุดตัวแยกออกจากกัน บริเวณบ้านห้วยคิง หมู่ 6 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง  ส่งผลกระทบให้บ้านเรือน 9 หลังคาเรือน ได้รับความเสียหาย ผู้อยู่อาศัยรวม 22 คน ต้องขนย้ายข้างของออกจากบ้าน เพื่อไปอาศัยบ้านญาติ และบางรายได้อาศัยห้องพักที่หน่วยงานจัดไว้ให้เป็นการชั่วคราวก่อน เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 60 ที่ผ่านมา โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.แม่เมาะ ได้ระดมพลเข้ารื้อบ้านหลังแรก หวั่นบ้านพังลงมา หลังดินยังมีการทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง

            -แผ่นดินทรุด บ้าน 9 หลังกระทบ
หลังจาก ทีมงานชุดเฝ้าระวัง จำนวน 5 นาย 2 ชุด พร้อมรถอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่าง ในเขตพื้นที่เกิดเหตุ  ได้รายงานผลการร่วมสำรวจบริเวณที่เกิดเหตุ เมื่อ เวลา 20.30 น. วันที่ 17 ต.ค. 60 พบว่า  บริเวณพื้นดินที่ยุบตัวลง มองเห็นปริมาณน้ำในผิวดินได้ชัดเจน ส่วนบริเวณพื้นดินปีกด้านซ้ายมือ หน้าบ้านหลังที่1 ที่เดิมยังมีสภาพราบเรียบในตอนกลางวัน แต่ช่วงที่ออกสำรวจได้มีดินทรุดตัวเกิดขึ้น และแผ่ขยายออกไป มองเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณด้านข้างแนวเสาไฟฟ้า  ส่วนปีกขวาด้านข้างของบ้านหลังที่1 เกิดการทรุดตัวของดินโดยรอบให้เห็นได้อย่างชัดเจน ขณะที่ช่วงตอนเย็นพื้นที่ยังราบเรียบ  โดยก่อนหน้านี้ ทางอำเภอแม่เมาะ ร่วมกับเทศบาลตำบลแม่เมาะเข้าทำความเข้าใจกับราษฎรกรณีการรื้อถอนบ้านก่อนดินจะยุบตัวทำให้บ้านเสียหายมากขึ้น โดยราษฎรเข้าใจ และยินยอมจะรื้อถอนบ้านออกไปก่อนที่จะพัง

           -รื้อบ้าน หวั่นพัง
           วันที่ 18 ต.ค.60 นายนิมิตร ผดุงศิลป์ไพโรจน์ นายอำเภอแม่เมาะ พร้อมด้วย น.ส.ชญากร วงศ์อะถะ รองนายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลแม่เมาะ  เจ้าหน้าที่จาก กฟผ.แม่เมาะ  และชาวบ้าน เข้ามาช่วยดำเนินการรื้อถอนให้ โดยจะทำการรื้อถอนบ้านหลังแรก ซึ่งเป็นบ้านของนางเพ็ญ ไชยขันแก้ว อายุ 58 ปี ก่อน เนื่องจากเป็นหลังที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เกรงว่าบ้านจะเกิดถล่มทรุดตัวลงมาด้วย จึงต้องทำการรื้อถอนออก ส่วนบ้านหลังอื่นๆอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการรื้อถอนต่อไป   โดยเบื้องต้น กฟผ.แม่เมาะ ให้การช่วยเหลือ แก่ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน โดยนำรถบรรทุกช่วยขนสัมภาระและสิ่งของจากประชาชนผู้อยู่อาศัยออกจากพื้นที่เกิดเหตุ ทั้ง 9 หลังคาเรือน พร้อมทั้งจัดหาที่พักบริเวณแฟลตรับรอง ให้เป็นที่พักชั่วคราวแก่ผู้เดือดร้อนจำนวน 3 ห้อง

-เจ้าของเล่าเหตุการณ์
ด้านนางเพ็ญ ไชยขันแก้ว อายุ 58 ปี เจ้าของบ้านหลังแรก ได้เล่าเหตุการณ์ว่า ตนเองอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้มาแล้วประมาณ 6 ปี มีอาชีพทำการเกษตร ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ก็อยู่มาตามปกติ จนเมื่อ 2 วันก่อนดินได้เกิดรอยร้าว แต่ก็ไม่มีอะไรผิดปกติ กระทั่งช่วงเวลา 03.00 น. ได้ยินเสียงหลังคาบ้านแตกดังเปรี๊ยะ จึงได้สะดุ้งตื่นและลุกออกมาดู ก็พบว่าบริเวณถนนข้างบ้านดินเริ่มทรุดตัวลงทีละนิด และแยกออก จึงได้เรียกเพื่อนบ้านทุกหลังตื่นขึ้นมาดู ซึ่งรอยร้ายได้ค่อยๆทรุดตัวลงเรื่อยๆ จนถึงเช้า ในตอนนั้นก็ไม่ได้หลับนอนเพราะกลัวว่าจะเกิดอันตราย พอฟ้าสว่างก็ได้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขอความช่วยเหลือทันที จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ พร้อมด้วยกำลังทหารจากค่ายสุรศักดิ์มนตรีเข้ามาช่วยขนของ เบื้องต้นจะย้ายไปอยู่บ้านญาติที่บ้านใหม่มงคล ที่อยู่ห่างกันไม่มากนักไปชั่วคราวก่อน

-ลงพื้นที่ตรวจสอบ
หลังเกิดเหตุ  นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พล.ต.สุรคล ท้วมเสน ผบ.มทบ.32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี นายนายนิมิตร ผดุงศิลป์ไพโรจน์ นายอำเภอแม่เมาะ นายชูชีพ บุญนาค นายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรณี ปภ.จังหวัด กฟผ.แม่เมาะ ตำรวจ ทหาร  และสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่บ้านเรือนราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากดินทรุดตัวจนบ้านพังเสียหาย บริเวณบ้านห้วยคิง หมู่ 6 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ตรงข้ามที่พักผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ (แฟลตห้วยคิง) พร้อมให้เจ้าหน้าที่จากธรณีวิทยา เร่งทำการสำรวจเพื่อหาสาเหตุ

-ไม่เกี่ยวรอยเลื่อนเถิน
นายเด่นโชค มั่นใจ  ผอ.ส่วนธรณีวิทยา สำนักงานทรัพยกรธรณี เขต 1 ลำปาง กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่ประมาณ 12.5 ไร่ หรือประมาณ 20,000 ตร.ม.  ความยาวของการเลื่อนไถล ประมาณ 200 เมตร มีรอยแตกออกไปหลายแขนงเป็นขั้นบันได ลึก 50-70 ซ.ม. ลึกสุดประมาณ 1 เมตร ความเอียงประมาณ 6 องศา โดยมีเหตุการณ์เตือนมาก่อนหน้านี้ 1 สัปดาห์แล้ว เนื่องจากท่อประปาได้แยกออก พอต่อเข้าไปใหม่ก็เลื่อนหลุดอีก จากดินเคลื่อนตัว และได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่ง ได้มีการแยกตัวและทรุดตัวลงเป็นจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ได้ว่าไม่มีโพรงอยู่ข้างใต้ เนื่องจากไม่มีการเกิดถล่มเสียงดัง  แต่ยืนยันได้ว่าไม่เกี่ยวกับรอยเลื่อนเถิน เนื่องจากรอยเลื่อนจะอยู่ตามแนวเชิงเขา แต่จุดเกิดเหตุเป็นช่วงพื้นราบ และรอยเลื่อนไม่ได้พาดผ่านมาถึงจุดดังกล่าว 

-ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ
ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน และให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ กระทั่ง นักธรณีวิทยาได้หาสาเหตุพบในเบื้องต้น มาจากชั้นดินที่เป็นดินเหนียว ไม่จับเกาะติดดินชั้นปกติ ทำให้เมื่อมีฝนตกหนักและมีการสะสมของน้ำในพื้นดินมากจึงเกิดการไถลทรุดตัว และพบว่ากรณีนี้เป็นกรณีแรกที่ตรวจพบ โดยเจ้าหน้าที่และนักธรณีวิทยา สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 ลำปาง ได้แบ่งกำลังเป็นสองชุด นำอุปกรณ์ในการเจาะชั้นดินเข้าทำการเจาะและสำรวจพื้นดินบริเวณดังกล่าว

-สาเหตุจากชั้นดินไม่เกาะกัน
นายเด่นโชค มั่นใจ ผอ.ส่วนธรณีวิทยา สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 ลำปาง เปิดเผยว่า  จากการเจาะสำรวจของชั้นดินเพื่อเก็บตัวอย่างของดินพบว่ามีชั้นดินแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ซึ่งเป็นดินเหนียวทั้งคู่โดยดินชั้นแรกมีความลึกประมาณ 2 เมตร ผิวดินเป็นดินเหนียวสีน้ำตาลแดง ส่วนดินชั้นที่ 2 เป็นดินเหนียวสีเทา โดยจากการตรวจสอบพบว่าในเนื้อดินทั้ง 2 ชั้นไม่มีน้ำ แต่ได้มีน้ำที่ไหลซึมผ่านใต้ดินไหลตามช่วงรอยต่อ ซึ่งจากลักษณะปกติแล้วดินเหนียวจะมีคุณสมบัติที่ลื่นอยู่แล้ว ประกอบกับในพื้นที่มีฝนตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันนานจึงทำให้น้ำไหลซึมลงพื้นดินและสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก จนทำให้ดินชั้นบนอุ้มน้ำไม่ไหว จึงเกิดลื่นไถลทรุดตัวลงไป ส่วนดินชั้นล่างยังคงปกติไม่มีการยุบตัวแต่อย่างใด

ดังนั้นในเบื้องต้น พบสาเหตุการทรุดตัวของดินในครั้งนี้แล้วถึง 90 เปอร์เซ็นต์ มากจากชั้นดินเหนียวชั้นบนไม่เกาะยึดชั้นดินล่าง จึงเกิดทรุดตัวถล่มลงมา แต่ ไม่สามารถระบุได้ว่า พื้นที่ที่เกิดเหตุนั้น เป็นพื้นที่ดินดั้งเดิมหรือดินที่มีการไถกลบลงมา แต่ทั้งนี้ในพื้นที่แห่งนี้ได้ประกาศห้ามเข้าไปอยู่อาศัยอย่างเด็ดขาด เพราะการทรุดไถลของชั้นดินมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และจะทรุดตัวไถลลงไปเรื่อยเริ่มส่งผลกระทบต่อโครงสร้างที่อยู่อาศัยแล้ว และคาดว่าจะพังลงในไม่ช้านี้ เพราะฝนก็ยังตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

-กฟผ.มั่นใจไม่เกี่ยวการทำเหมือง
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า การทำเหมืองถ่านหินของ กฟผ.แม่เมาะ มีส่วนทำให้เกิดเหตุดินทรุดในครั้งนี้ด้วย ในเรื่องนี้ นายโอภาส จริยภูมิ  ผอ.ฝ่ายวางแผนและบริหารเหมืองแม่เมาะ  กล่าวว่า  เดิมพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่ กฟผ.ขอใช้จากกรมป่าไม้  แต่ได้มีการคืนพื้นที่ไปแล้วเมื่อปี 2542   ส่วนการทำเหมืองของ กฟผ.แม่เมาะนั้น ขอบบ่อเหมืองอยู่ห่างจุดเกิดเหตุประมาณ 2 ก.ม.  การระเบิดภายในเหมืองใช้แรงสั่นสะเทือน 2 มิลลิเมตรเปอร์เซก ซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว รวมไปถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทาง กฟผ.ได้ดำเนินการตามกฎหมายและมาตรฐานทุกประกาศ ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่าการเกิดเหตุการณ์ดินทรุดตัวดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนและการทำเหมืองของ กฟผ.อย่างแน่นอน

-ช่วยเหลือตามระเบียบราชการ
อย่างไรก็ตาม ส่วนการช่วยเหลือด้านอื่นๆ นั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางสรุป และทำการสำรวจพื้นที่ว่าเป็นส่วนรับผิดชอบของฝ่ายใด  เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปตามขั้นตอนราชการแล้ว ซึ่งในเบื้องต้นจะมีเงินช่วยเหลือรายละ 3 หมื่นบาท แต่ต้องดูระเบียบที่ชัดเจนอีกครั้ง

ทั้งนี้  แหล่งข่าวระบุว่า  พื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีได้ระบุชัดเจนว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งเบื้องต้นเป็นเขตของเทศบาลตำบลแม่เมาะที่ดูแลอยู่ เทศบาลจึงต้องดูระเบียบการช่วยเหลือในเบื้องต้นก่อน ซึ่งจะช่วยได้มากน้อยเพียงใดนั้นจะต้องมีการประชุมหารือกันอีกครั้ง  นอกจากนั้นยังทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ กฟผ.คืนให้กับป่าไม้ แต่ก็ไม่ได้มีการเข้าดูแลพัฒนาในพื้นที่ กระทั่งมีชาวบ้านเข้ามาจับจองและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆขึ้น จึงไม่มีเอกสารสิทธิ์  ในขณะที่ทางป่าไม้ก็ไม่ได้มีการเข้าร่วมตรวจสอบแต่อย่างใด


 (หนังสิอพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1151 วันที่ 20 - 26 ตุลาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์