การตรวจสอบพบทุจริต ร้านค้าที่ยังไม่ได้ติดตั้งเครื่องรูดเงินอิเลคทรอนิคส์
หรือ EDC แต่เก็บบัตรสวัสดิการรัฐ
หรือบัตรคนจนของชาวบ้านไว้
เพื่อฮุบเอาเป็นประโยชน์ของตัวเอง ไม่ใช่เป็นเพียงวิธีการที่ไม่ถูกต้อง
ตามคำของคลังจังหวัดเท่านั้น หากนี่ยังหมายถึงเจตนาทุจริต ที่จะรวบรัดตัดตอน
ให้เจ้าของบัตรต้องจำยอมซื้อสินค้าของเขาโดยไม่มีเงื่อนไข
เป็นการทำการค้าที่ไร้จรรยาบรรณ
คิดถึงแต่ผลประโยชน์
ซึ่งควรจะต้องได้รับการลงโทษถอนออกจากทะเบียนร้านธงฟ้า
และถูกลงทัณฑ์ด้วยมาตรการทางสังคม ด้วยการไม่ซื้อ ไม่ขาย ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า
ร้านค้าชนิดนี้ไม่ควรทำธุรกรรมใดๆด้วย
เพียงเริ่มมาไม่นาน บัตรคนจน
ก็กลายเป็นช่องทางหาผลประโยชน์ของร้านค้า ของคนที่เป็นเจ้าของบัตรในหลายรูปแบบ
เช่น ร้านธงฟ้าตั้งราคาสินค้าชนิดเดียวกับที่ขายในร้านปกติ ในราคาที่สูงกว่า
จำกัดให้ใช้บัตรเฉพาะสินค้าบางประเภท หรือใช้บัตรแลกเป็นเงินสด
นอกจากกรณีที่ร้านค้าจะต้องรับผิดตามกฎหมาย
จากการเก็บบัตรของชาวบ้านไว้แล้ว ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ก็จะต้องถูกลงโทษ
ร้านค้าถูกเพิกถอนทะเบียนธงฟ้า เจ้าของบัตรก็จะต้องถูกระงับวงเงิน
เจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องไม่เพิกเฉยต่อร้านค้า เจ้าของบัตร
ที่ทำผิดวัตถุประสงค์ของการใช้บัตรคนจน โดยเฉพาะที่ลำปางมีการเก็บบัตรไว้นับพันใบ
เป็นเงินรวมๆแล้วนับแสนบาท
ถือเป็นความผิดสำเร็จ หากไม่มีการจัดการตามกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐละเว้นการปฎิบัติหน้าที่
สำคัญก็คือ
คนรากหญ้า ที่เป็นตาสีตาสา ไม่รู้เรื่อง ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมร้านค้ากังฉิน
ก็ตกอยู่ในภาวะจำยอม ให้เขายึดบัตรไป และเอาเงินในบัตรนั้นไปในที่สุด
นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องเฝ้าติดตาม
อย่างน้อยจะได้เห็นภาพเปรียบเทียบ ร้านค้าที่สุจริต ตรงไปตรงมา ซึ่งยังมีอีกกว่าร้อยล้านที่สมัครเข้าโครงการ
เป็นร้านค้าที่สมควรให้การอุดหนุน
อาจมีการตั้งข้อสังเกตว่า
ไม่ควรเรียกบัตรที่เขามีชื่อทางการว่า บัตรสวัสดิการรัฐ เป็นบัตรคนจน เพราะอาจจะเกิดการแยกแบ่งชนชั้น คนจน คนรวยได้ ซึ่งหากติดตาม
จะพบว่าชื่อบัตรคนจน ไม่ได้มีผลกระทบต่อคนที่เขาถือบัตรแต่อย่างใด
แต่สิ่งที่เป็นประเด็นก็คือความรู้ทั่วไปของสังคมไทยที่มีต่อบัตรคนจน
เพราะประชากรทั้งประเทศ มีคนที่ถือบัตรคนจนเพียง 11.43
ล้านคนเท่านั้น
ฟังคำอธิบายของคุณจตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
โครงการแจกบัตรสวัสดิการ มีผลทางจิตวิทยาเพราะช่วงสร้างบรรยากาศจับจ่ายและการบริโภคในประเทศคึกคักขึ้น
แต่ผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นมีไม่ถึงร้อยละ 0.1 ของจีดีพี เนื่องจากการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการเป็นการทยอยใช้เป็นรายเดือนและเป็นเม็ดเงินเดิมจากโครงการที่เคยมีอยู่แล้ว
เช่น รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี จึงไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวแรง
หลายคนยังยังงงๆ กับ
“บัตรคนจน” ว่าคืออะไร
แล้วใช้ทำอะไรได้บ้าง? อธิบายง่ายๆ คือ บัตรคนจนมี 2 ประเภทแบ่งตามรายได้ คือ
1.กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
จะได้รับเงินอุดหนุนเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 300 บาทต่อเดือน
รวมทั้งค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ค่ารถเมล์และรถไฟฟ้า 500 บาทต่อคนต่อเดือน ค่ารถโดยสาร
บขส. 500 บาทต่อคนต่อเดือน ค่ารถไฟ 500 บาทต่อคนต่อเดือน
2. กลุ่มที่มีรายได้เกิน
30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
จะได้รับเงินอุดหนุนเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวน 200 บาทต่อเดือน
รวมทั้งค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ค่ารถเมล์และรถไฟฟ้า 500 บาทต่อคนต่อเดือน,
ค่ารถโดยสาร บขส. 500 บาทต่อคนต่อเดือน,
ค่ารถไฟ 500 บาทต่อคนต่อเดือน
ความพิเศษของบัตรนี้คล้ายกับบัตรเครดิตผสมบัตร
ATM ที่สามารถนำไปรูดซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคตามร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ได้
แค่รูดบัตรจ่ายเงินผ่านเครื่อง EDC จากนั้นรับใบเสร็จโดยในใบเสร็จจะแสดงยอดที่ใช้จ่ายไปและยอดคงเหลือในบัตร
แต่จะไม่แสดงรายละเอียดว่าสินค้าแต่ละรายการนั้นราคาเท่าใดผู้ใช้ต้องบวกลบคูณหารให้เสร็จก่อนไปรูดบัตร
คนที่ถือบัตรเครดิต
ที่ทำยาก อนุมัติยาก เช่น กรุงเทพ กรุงไทย กรุงศรี เรียกว่าดูดีมีชาติ ตระกูล
และคงรวยจริง เพราะแบงก์เหล่านี้ ตรวจ โปรไฟล์ เข้มมาก ส่วนคนถือบัตรคนจน
ก็อาจถูกลดเกรดไปเป็นพลเมืองชั้นสอง และอาจไม่มีใครกล้าโชว์บัตรคนจน
เพราะบางคนเห็นว่า ความจนเป็นความด้อยค่าชนิดของมนุษย์
แต่เอาเข้าจริงแล้ว
คนถือบัตรเครดิตวงเงิน 3 ล้าน คนถือบัตรคนจนวงเงิน 300 ล้าน สิ่งที่เขาเท่ากันกันคือความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1151 วันที่ 20 - 26 ตุลาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น