
อย่างที่รู้กันว่า
ทุกวันนี้ชุมชนได้รุกคืบขยับขยายเข้าไปในธรรมชาติจนสภาพดั้งเดิมแทบไม่เหลือหรอ
เราเคยเห็นปลาหมอเป็น ๆ ดิ้นอยู่ริมถนน นกกระปูดท่าทางมึนงงยืนนิ่งอยู่กลางทาง ลูกนกกวักโดนรถทับแบนแต๊ดแต๋
และที่สร้างความสะเทือนใจอย่างที่สุดก็คือ เต่าร่างแหลกเหลวกลางถนน
การใช้รถใช้ถนนอย่างระมัดระวังช่วยรักษาชีวิตบนโลกใบนี้ได้อีกมาก
ขณะเดียวกันการไม่นิ่งดูดายที่จะช่วยเหลือก็สำคัญเช่นกัน
รศ. สพญ. ดร. นันทริกา ชันซื่อ
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้เผยแพร่วิธีปฏิบัติเมื่อพบเต่าโดนรถทับ หลังมีคนประสบเหตุแล้วโพสต์ถามกันมากมาย
ซึ่งข้อมูลนี้มีประโยชน์มาก และไม่แน่ว่า สักวันหนึ่งเราอาจได้ใช้
1. ก่อนยกเต่าขึ้นมาให้หาแผ่นแข็งมารองคล้ายเวลาขนย้ายคน
เพราะกระดองที่แตกถ้ายกไม่ดีจะเจ็บมาก โดยเฉพาะถ้าหักด้านล่างด้วย
2. ถ้ามีเลือดออกให้ห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาด
หรือผ้าก๊อซพัน หรือกดแปะทิ้งไว้ ไม่ต้องดึงออก หรือเช็ดเอาก้อนเลือดออก
เพราะจะทำให้เลือดออกมาอีก
3. ถ้ากระดองหลังแตกมากจนยุบลง
หรือเห็นเนื้อแดง ๆ ออกมามาก ต้องระวังอย่าให้ผ้าที่ห้ามเลือดกดทับหนักไป
จะทำให้หายใจไม่ได้ เพราะปอดของเต่าอยู่ด้านหลัง
4. ถ้ากระดองแตกมากให้ใช้ผ้ารอง
แล้วใช้เทปพันไม่ให้ขยับเขยื้อนขณะหายใจ หรือขณะขนส่งมาก
5. ควรให้เต่าป่วยอยู่แห้ง
ไม่ต้องแช่น้ำ เพราะจะทำให้น้ำเข้าไปในช่องอก ช่องท้อง และติดเชื้อโรคตายได้
6. ควรให้เต่าป่วยได้รับความอบอุ่นพอควร
ไม่เอาไว้ในที่เย็นเช่นห้องแอร์ เพราะเต่าเป็นสัตว์เลือดเย็น
ระบบภูมิคุ้มกันจะดีขึ้นในอุณหภูมิที่สูงคืออุ่น ๆ
7. อย่าเสียงดังและรบกวนเต่าป่วยมาก
เขาจะเครียด ทำให้อาการแย่ลง
8. ถ้าเป็นไปได้ควรป้องกันแสงให้ไม่สว่างไป
หรือคลุมให้ค่อนข้างมืดบางส่วน แต่ต้องมีอากาศถ่ายเทด้วย เพื่อให้เต่าผ่อนคลาย
9. อย่าพยายามให้น้ำ หรืออาหาร
เต่าสามารถอดอาหารได้หลายวัน และจะให้น้ำเกลือเมื่อพบหมอต่อไปได้
การป้อนที่ผิดจะทำให้เขาตายได้
10. รีบพาไปหาสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด
การทิ้งไว้เพื่อลุ้นว่าจะดีขึ้น หรือหายเองอาจทำให้มีแมลงมาไข่ที่แผล หนอนขึ้น
ติดเชื้อ เลือดออกไม่หยุด และตายอย่างทรมาน
11. หากหาสัตวแพทย์เต่าไม่ได้
ให้พาไปหาสัตวแพทย์หมาแมวก็ได้ แล้วโทรศัพท์หาหมอเต่าของศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โทรศัพท์ 0-2251-8887 หรือหมอเต่าที่รู้จัก
เพื่อให้หมอกับหมอคุยกันและแนะนำวิธีการรักษา เพื่อช่วยรักษาชีวิตในเบื้องต้นก่อน
ทั้งนี้
สัตวแพทย์จะทำแผลซ่อมกระดอง รักษาการติดเชื้อ บำรุงให้สารน้ำเป็นหลัก
ทำทุกวันจนกว่าจะมีเนื้อขึ้นมาแข็ง ๆ โดยอาจใช้เวลาประมาณ 4-12
เดือน ส่วนข้อสุดท้ายจะลืมเสียไม่ได้ คือ ข้อ 12. รศ. สพญ. ดร. นันทริกาบอกว่า สวดมนต์ แผ่เมตตา
ขอให้เขามีชีวิตรอดต่อไปเถิด...เพี้ยง !!!
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1150 วันที่ 13 - 19 ตุลาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น