ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
มีการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการด้านสื่อ ของสำนักจุฬาราชมนตรี
ที่มีคำสั่งแต่งตั้งมานานเดือนแล้ว
ในฐานะประธานที่เคยทำหน้าที่เช่นนี้มานานนับสิบปี
หากแต่เมื่อได้มาอยู่ท่ามกลางสื่อมุสลิมที่มีชื่อเสียง มีบทบาทในสังคมมุสลิมมายาวนาน
ก็เกิดอาการเกร็ง ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะตั้งคำถาม
และฟังคำตอบจากท่านทั้งหลาย
เนื่องเพราะเรื่องของศาสนา
โดยเฉพาะศาสนาอิสลามมีความละเอียดอ่อนมาก จำเป็นต้องศึกษาให้ลึกซึ้ง
มิฉะนั้นก็อาจกล่าวถ้อยคำที่ไม่ถูกกาละ และกลายเป็นความเข้าใจผิดกันได้
ประเด็นสำคัญที่เราคุยกันวันนั้น
คือเรื่องคุณธรรม จริยธรรมของสื่อมุสลิม
ซึ่งก็ควรจะต้องมีแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ แต่อาจมีนัยสำคัญแตกต่างกันบ้าง
เช่น เรื่องวาทกรรมที่สร้างและสั่งสมความเกลียดชัง
เมื่อพูดถึงคุณธรรมในศาสนา
ก็อาจหมายถึงการคิดดี ทำดี สมาทานศีล เป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติ
แต่หากพิเคราะห์คำว่าจริยธรรม คือการประพฤติ ปฏิบัติที่ดีในทางวิชาชีพสื่อ
นับว่าหลักการ คำสอนของอิสลาม ในเรื่องจริยธรรมสื่อนั้น
ได้ลงหลักปักฐานในแผ่นดินนี้มานานนับพันปีแล้ว
ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์
ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เขียนไว้ว่า การได้มาซึ่งข่าวสาร
หนังสือพิมพ์พึงใช้วิธีที่สุภาพและซื่อสัตย์
คำว่าซื่อสัตย์นี้
ตรงกับบุคลิกภาพของศาสดามูฮัมมัด ที่ได้ชื่อว่าอัล-อามีน แปลว่า ผู้ซื่อสัตย์
ผู้มีความยุติธรรม และเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ คนที่เข้าใจแก่นแท้ของอิสลาม
ก็จะเข้าใจได้ว่า การเป็นผู้ซื่อสัตย์นั้น คือการเคารพหลักการ “พูดความจริง”
ในแง่วิชาการด้านสื่อสารมวลชน
การยึดมั่นในหลักการพูดความจริง
ของพี่น้องมุสลิม โดยเฉพาะที่ประกอบอาชีพสื่อมวลชน นั่นเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุด
เพราะมันเป็นการเชื่อมร้อยระหว่างความเชื่อทางศาสนา และหลักการทำงานโดยวิชาชีพ
นอกจากการยึดมั่นในหลักการนี้แล้ว
การพูดความจริงต่อหน้าผู้ปกครองที่อธรรม
หรือการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำอย่างตรงไปตรงมา ก็ถือเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม
และเป็นบทพิสูจน์ความศรัทธาของผู้นั้นด้วย
อิสลามเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียม
และมีอิสระในด้านความคิด ความเชื่อ และการกระทำ
แต่ก็เป็นความอิสระที่มีขอบเขตตามกฎเกณฑ์ของศาสนา
ทำนองเดียวกันกับการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชน
ก็ต้องเป็นการใช้เสรีภาพภายใต้ความรับผิดชอบ
อิสลามในแง่ความคิด
ความเชื่อเช่นนี้ ย่อมต้องมีความกล้าหาญในเชิงจริยธรรม
นั่นคือกล้าที่จะพูดความจริงต่อหน้าอธรรม ในมิติของสื่อ
ก็คือการกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครอง อย่างตรงไปตรงมา
อิสลามสนับสนุนให้พูดในสิ่งที่ถูกต้อง
กล้าเสนอความคิดและแนวคิดต่างๆ โดยไม่หวาดหวั่นภัยอันตรายใดๆ
ท่านศาสดามูฮัมมัด
กล่าวว่า
“การญิฮาด(การต่อสู้ในหนทางอัลลอฮฺ)ที่ดีเลิศที่สุด
คือการที่เจ้ากล้าพูดความจริงต่อหน้าผู้มีอํานาจหรือหัวหน้าผู้อธรรม” (
สุนัน อบี ดาวูด 4/124 เลขที่ 4344)
เมื่อมองในภาพนี้
ก็จะเห็นว่าหลักการการเป็นสื่อมวลชนที่ดี กับหลักศาสนานั้น
แทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน
ไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสร่วมวงเสนาว่าด้วยสื่อมวลชน 2 วง 2 เรื่อง
เรื่องหนึ่งคือ “เขียน แชร์ แชท อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย”
ในงานประชุมเครือข่ายบรรณาธิการภาคเหนือ ที่โรงแรมไพลิน พิษณุโลก อีกเรื่องหนึ่งคือ การเสวนาเรื่อง “ปลุกสำนึกจริยธรรมสื่อ จุดเปลี่ยนสังคมไทย” จัดโดยศูนย์คุณธรรม
(องค์การมหาชน) ที่โรงแรมแกรนด์เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ
เวทีที่กรุงเทพนี้
มีสื่อมวลชนมุสลิมที่เป็นตัวแทนของสมาคมสื่อสารมวลชนมุสลิมแห่งประเทศไทย คุณวสันต์
ทองสุข อุปนายก สมาพันธ์เครือข่ายสื่อมุสลิมไทย คุณมูฮัมหมัด เฟาซี เยนา เลขาธิการ
บรรณาธิการบริหาร ดิ อะลามี คุณเอกราช มูเก็ม รวมทั้งท่านอื่นๆที่สังกัดอยู่ในองค์กรวิชาชีพทั้งสอง
การเข้าไปมีบทบาทในวงกว้างของสื่อมุสลิมสำคัญที่สุดคือการไปสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการของอิสลาม
โดยเฉพาะในกลุ่มสื่อมวลชนที่มิใช่มุสลิม แม้ว่าอาจจะได้ผลมากหรือน้อย
แต่นั่นก็เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของมุสลิมทุกคน
ในเวทีนั้น
ท่ามอิมามวสันต์ ทองสุข ได้เสนอมุมมองในแง่จริยธรรมสื่อที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะการอ้างอิงถึงหลักการศาสนา ความเชื่อและศรัทธาในอัล-กุรอาน
ว่าเป็นหลักการชนิดเดียวกับหลักจริยธรรมสื่อ
ผมเชื่อว่าหยดน้ำเล็กๆหลายๆหยดนี้
วันหนึ่งก็จะกลายเป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ได้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1154 วันที่ 10 -16 พฤศจิกายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น