วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ปัญหาสื่อ คือปัญหานายทุนสื่อ



จำนวนผู้เข้าชม

อกสารสรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการปฎิรูปการสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) และการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) หนารวมกันหลายร้อยหน้า อาจถูกซุกซ่อนไว้ที่ไหนสักแห่ง จนกระทั่งนักปฏิรูปรูปรุ่นหลัง ไม่รู้ว่าสิ่งที่พูด วิจารณ์ เสนอความเห็นต่างๆมากมาย นั้น เขาคิด เขาทำ เขาศึกษากันมาอย่างละเอียด รอบด้านแล้ว

โดยเฉพาะในยุคที่อาจารย์จุมพล รอดคำดี นั่งหัวโต๊ะกรรมาธิการสื่อ สปช.ต้องยอมรับว่า งานของกรรมาธิการชุดนี้ทำได้อย่างเป็นระบบ เป็นวิชาการ และใกล้จะเข้าถึงปัญหาแท้จริงอย่างยิ่ง

กรรมาธิการชุดนั้น กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 3 ด้าน คือการปฎิรูปด้านเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ ปฏิรูปด้านการป้องกันการแทรกแซงและครอบงำสื่อ และปฎิรูปด้านการกำกับดูแลสื่อ

ข้อหลังนี่สำคัญ เพราะปัญหาทั้งหมดมาจากการกำกับ ดูแลสื่อ ภายใต้โครงสร้างปัจจุบัน ที่มีสภาวิชาชีพอย่างน้อย 2 สภา เป็นผู้กำกับ ดูแลหลัก คือ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

เมื่อพวกเขาคิดถึง การกำกับดูแลสื่อ จึงเห็นว่า ควรวางโครงสร้าง ระบบและกลไกด้านองค์กรที่เข้มแข็ง โดยให้มีกฎหมายกำหนดการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เป็นองค์กรกลางในการกำกับกันเองที่ครอบคลุมสื่อทั้งหมด เป็นอิสระจากรัฐและทุน

ทั้งนี้โดยมีกรรมการจากทั้งบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มิใช่เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงผู้แทนองค์การเอกชนและผู้บริโภคสื่อ มีธรรมนูญของตนเอง มีฝ่ายกำกับนโยบาย ฝ่ายบริหารกองทุน ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนที่มีระบบการพิจารณาที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรม

ยุทธศาสตร์ข้อนี้เอง นำมาสู่การร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ร่างที่ 2 ถัดจากร่างแรกในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

ในฐานะอนุกรรมาธิการปฎิรูปสิทธิเสรีภาพ จริยธรรม และการกำกับดูแลกันเองของสื่อ และอนุกรรมาธิการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม คุ้มครองสวัสดิภาพ และสวัสดิการของสื่อมวลชน ในกรรมาธิการสื่อ สปช.ผมมีส่วนเล็กน้อย ในการออกแบบโครงสร้างของกฎหมายฉบับใหม่นี้ โดยมุ่งที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับสภาวิชาชีพที่มีอยู่ ให้มีกลไกเสริมที่มี “สภาพบังคับ” ตามสมควร เพื่อให้กลไกในการกำกับกันเอง สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

อีกนัยหนึ่งคือการบังคับ “กระบวนการ” มิใช่บังคับคน

ความพยายามที่จะร่างกฎหมาย ให้องค์กรวิชาชีพสื่อยังสามารถกำกับ ดูแลกันต่อไปได้นั้น ถูก”แปลงสาร” เป็นกฎหมายที่มีสภาพ “ควบคุมบังคับ” ในยุค สปท.และนั่นก็เป็นเหตุผล ที่ผมลาออกจากคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฎิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์

ต้องเรียกว่า ยุคกรรมาธิการสื่อ ชุด สปท.นั้น คือสถานการณ์ที่ตกต่ำที่สุดในการปฎิรูปสื่อ เพราะการปฎิรูปไม่ได้มาจากพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจเรื่องของสื่อมวลชน แต่มาจากความต้องการที่จะสนองผู้มีอำนาจ และใช้หลักคิด แบบอำนาจนิยม มาปฎิรูปสื่อ

แต่ไม่ว่าอย่างไร ความพยายามที่จะศึกษา ค้นคว้า หาเหตุผล ในการแก้ปัญหาสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบนั้น ต่างมองข้ามตัวปัญหา ต้นตอของปัญหาความไร้จิตสำนึกไร้ประสิทธิภาพ ไปเสียสิ้น

นั่นคือปัญหานายทุนสื่อ ทั้งนายทุนที่เข้ามายึดสื่อโดยผ่านการถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งนายทุนสื่อ ที่เติบโตมาจากสื่อ และใช้ความเป็นสื่อไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน อย่างน่ารังเกียจ

ด้วยเหตุนี้ ปัญหาของสื่อมวลชน จึงไม่ใช่ไม่มีกฎหมายบังคับสื่อมวลชน แต่ปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมาย

ปัญหาของสื่อมวลชน ไม่ใช่เพราะนักข่าวไม่มีความรับผิดชอบ แต่เกิดจากนายทุนสื่อที่มุ่งแต่จะแสวงหากำไร ภายใต้หน้ากากผู้ยึดมั่นในหลักการ

ปัญหาของสื่อมวลชน ไม่ใช่เพราะคุณภาพนักข่าว แต่อยู่ที่ผู้บริหารสื่อที่พยายามแสดงราคา ความเก่งกาจสามารถ อวดอ้างตัวเองเป็นต้นแบบของความดีงาม ประกาศตัวเองว่าเป็นเบอร์หนึ่ง เป็นตัวจริง ตำหนิติเตียนไปทั่วถึงความล้มเหลว ผิดพลาดของคนอื่น แต่เมื่อตัวเองบริหารผิดพลาด สร้างความเสียหายยับเยินไปทั้งองค์กร จนภาวะดับสูญจะมาถึงอีกไม่นานวัน ก็ผลักภาระไปยังคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ในยามที่พวกเขาเสวยสุขกันด้วยเงินเดือน และค่าตอบแทนสูงลิ่ว คนเหล่านี้ก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแลเลย

สื่อที่ลืมกำพืดตัวเอง สื่อที่จิตสำนึกความรับผิดชอบต่ำ เหล่านี้ คือเมล็ดพันธุ์อันเลวร้ายของสังคมนี้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1155 วันที่ 17 - 23 พฤศจิกายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์