เมื่อถึงวันที่ต้องเปลี่ยนแปลงแบบปฏิเสธไม่ได้อีกแล้ว
เหมือนลูกโป่งที่ลอยเข้าใกล้แนวรั้วลวดหนามฉันใด
เมื่อลมกระพือเข้าถึงจุดแตะผิวลวดก็แตก “โป๊ะ” ฉันนั้น เหมือนบรรยากาศของการตลาดยุคนี้
ที่คนทั่วโลกมากกว่า 50 -70%
จับจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์มาได้ระยะหลายปี เรื่อยมาจนถึงจุดที่ผู้ขายต้องเปลี่ยนตัวเองให้ไปแตะขอบการตลาดทางอากาศ
หรือโลกออนไลน์ไปเสียทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจ “ขายผัก ขายปลา”
เพียงเพราะว่าผู้ซื้อมีอยู่มากมายที่พร้อมจะจ่าย
มองเห็นผู้ขายในตลาดอากาศ ผ่านตัวหนังสือ วีดีโอ รูปภาพ
ที่ประกาศไปในโลกออนไลน์ว่า ฉันกำลังขายอะไร ที่ไหน ขายเมื่อไหร่ อย่างไร
ทำไมขายสิ่งนี้ ทำไมไม่ขายสิ่งนั้น แล้วถ้าเราชอบพอกัน ก็จ่ายเงินผ่านธนาคารออนไลน์
มีแม้กระทั่งเอามือถือมาจ่อคิวอาร์โค้ด รหัสการเข้าถึงช่องทางออนไลน์นั้น
หากใครยังนอน อยู่บ้านและบอกว่า
ฉันไม่สนใจ ก็อาจจะทำได้ แต่โอกาสจะเติบโตทางการค้าขายก็อาจจะช้าและโดนตัดหน้าไปแบบระยะเผาขน
เช่น ชาวนาที่รอสีข้าวแล้วถึงจะเอาไปขาย (หรือเข้าโครงการจำนำข้าว) กับชาวนาที่ประกาศขายข้าวตั้งแต่ดำนา
แล้วเดินชมทุ่ง ถ่ายวีดีโอลงเฟซบุ๊ค ถ่ายภาพอวดชาวเน็ตว่า ปีนี้ข้าวงาม ออกรวงสวย
ใครอยากกินข้าวดีๆ รีบจอง..จ่ายมัดจำล่วงหน้า หรือถ้าใจดีโอนมาไว้รอ
เก็บเกี่ยวแล้ว จะส่งไปถึงบ้าน ทีละ 10 กก.
แจกเบอร์โทรในโซเชียล ฝากลูกหลานลงประกาศออนไลน์ แล้ว
แนบเบอร์โทรเอาไว้เบ็ดเสร็จ
แบบนี้ใครมีโอกาสมากกว่ากัน
แม้แต่ห้างใหญ่ที่ว่าแน่
แต่ก็ต้องมาตกม้าตายถ้ามีช่องทางขายออนไลน์ไม่พอจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อ
เพราะทุกวันนี้คนแทบจะไม่เดินห้างเพื่อหาซื้อของ แต่เดินห้างเพื่อไปเดินเล่นตากแอร์สบายใจ
ซะมากกว่า
ห้างใหญ่ในบ้านเราก็กระทบ
ส่วนห้างท้องถิ่นที่ไม่มีลูกค้าเหนียวแน่นพอก็ อาจจะต้องรอวันแห้งเหี่ยว
ห้างที่เอาเปรียบคิดว่ารวยเลือกได้
ก็เตรียมตัวเลือกว่าจะตายหรือจะปรับตัว
เดียวนี้ยุคออนไลน์
แต่ก็ไม่วายที่จะนั่งขำๆ เมื่ออีกาดำเคยส่องคิวอาร์โค้ดของป้ายส่งเสริมการขาย “ผู้ว่าชวนชิม”
มีสัญลักษณ์การันตีโดยผู้ว่าฯ กลับไปโผล่เป็นเว็บภาษาแขก ช่างอับอายแทนเจ้าของร้าน สะท้อนไปถึง
“ความจริงใจของการส่งเสริมตลาดออนไลน์” โครงการนั้น OMG กับโปรเจคกำมะลอ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1155 วันที่ 17 - 23 พฤศิจิกายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น