วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

โคมลอย มหากาพย์ที่ยังไม่จบ

จำนวนผู้เข้าชม Counter for tumblr

กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

แม้เทศกาลลอยกระทงจะผ่านไปเป็นอาทิตย์แล้ว แต่ดูเหมือนวิวาทะเรื่องการปล่อยโคมลอยนั้น ยังมีออกมาเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องขยะ ไฟไหม้ และเป็นอันตรายต่อการบิน ล่าสุดกัปตันสายการบินหนึ่งโพสต์ข้อความ พร้อมคลิป ระบุว่าขณะกำลังนำเครื่องลงจอดที่สนามบินเชียงใหม่ เขาเห็นโคมลอยเฉียดหัวเครื่องไปในระยะน่าหวาดเสียว นับว่าโชคยังดีที่ไม่ส่งผลกระทบอันใดกับเครื่องของเขา “ดวงเราคงยังดีอยู่สินะ” กัปตันรำพึงเช่นนี้ นี่ถ้าผู้โดยสารรู้คงจะร้อน ๆ หนาว ๆ กันบ้าง

“การปล่อยโคมไฟ หรือลอยโคมในทุกวันนี้เป็นธุรกิจ ไม่ใช่วัฒนธรรมประเพณี” ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุรพล ดำริห์กุล นักวิชาการจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นไว้ในเพจ

“เท่าที่จำได้ ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2530 มาเป็นอย่างน้อย เมืองต่าง ๆ ในล้านนา โดยเฉพาะที่เมืองเชียงใหม่ ก็ยังไม่ปรากฏมีการปล่อยโคม หรือลอยโคมเป็นจำนวนมากเป็นบ้าเป็นหลังเช่นนี้”

อาจารย์สุรพลได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยของชาวล้านนาในอดีตว่า เมื่อถึงวันยี่เป็ง เวลาเช้าและกลางวัน ชาวล้านนาจะไปวัด ทำบุญและฟังธรรม เนื่องจากวัดในชุมชนจะมีการเทศน์มหาชาติ จากนั้นพระสงฆ์กับชาวบ้าน ซึ่งก่อนหน้านั้นช่วยกันทำโคมจนเสร็จแล้ว ก็จะร่วมกันปล่อยโคมขึ้นสู่ท้องฟ้า นัยว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ ปล่อยทุกข์โศก และเพื่อบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ทั้งนี้ โคมลอยของชาวล้านนาในอดีตคือโคมกระดาษคล้ายลูกโป่งขนาดใหญ่ มีชนวนจุดไฟให้เกิดควันไว้ด้านล่าง ปล่อยควันเข้าไปจนเต็ม แล้วจึงปล่อยให้ลอยขึ้นบนฟ้า โคมที่ปล่อยในตอนกลางวัน เรียกกันว่า โคมลอย หรือโกมลอย นอกจากนี้ ยังนิยมปล่อยโคมในตอนกลางคืนด้วย เรียกว่า โคมไฟ หรือโกมไฟ เนื่องจากมีตะเกียง หรือชนวนจุดไฟไว้ด้านล่าง เพื่อให้สว่างมองเห็นชัดเจน ซึ่งปกติแต่ละวัด หรือแต่ละชุมชนจะปล่อยโคมลอยจำนวนไม่มาก  เพียง 1 หรือ 2 โคมเท่านั้น จึงไม่ได้มีโคมลอย หรือโคมไฟเต็มท้องฟ้าเช่นทุกวันนี้

อาจารย์สุรพลกล่าวต่อไปว่า การปล่อยโคมลอยจำนวนมากเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อจังหวัดสุโขทัย กรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกันจัดงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งได้มีการปล่อยโคมจำนวนมหาศาลขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือโบราณสถาน นับเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก และนับแต่นั้นมา การปล่อยโคมก็ดูเหมือนจะแพร่กระจายไปทุกงานสำคัญ ๆ

กล่าวโดยสรุป อาจารย์สุรพลบอกว่า การปล่อยโคมลอย หรือโคมไฟของนักท่องเที่ยวและชาวเมืองเชียงใหม่ในเทศกาลลอยกระทงเป็นเพียงการละเล่นที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรมเลย

บทความดังกล่าวมีผู้แสดงความคิดเห็นมากมาย สะท้อนให้เห็นความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว บางคนบอกว่า สวยงามดีออก ยิ่งตอนเครื่องบินบินผ่าน ฟินจะตาย...

ใช่เพียงเท่านั้น มีผู้ใช้เฟสบุก Sornsak Ott Ekkarattana ซึ่งออกตัวว่าเป็นคนสูงอายุและเป็นคนเมืองเชียงใหม่แท้ ได้โพสต์เล่าเรื่องราวน่าสนใจว่า คืนหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2541 เขาและเพื่อน ๆ ขับรถขึ้นไปเที่ยวบนถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ ซึ่งสมัยนั้นยังคงเปิดให้ขึ้นไปชมวิวด้านบน ระหว่างนั้นบังเอิญเห็นดวงไฟลอยขึ้นจากวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ จึงขับรถตามไปดูด้วยอยากรู้ที่มาของดวงไฟสวยงามเหล่านั้น แล้วก็พบผู้สูงอายุสองสามคนกำลังปล่อยโคมไฟตรงลานชมวิวของวัด ผู้สูงวัยเรียกสิ่งประดิษฐ์ตรงหน้าว่า “ว่าวไฟ” จุดเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี

เขา ซึ่งทำธุรกิจร้านอาหารริมแม่น้ำปิง จึงเกิดไอเดียที่จะสร้างความประทับใจให้ลูกค้า โดยจะนำโคมลอยเหล่านี้ไปจุดในคืนวันลอยกระทงที่กำลังจะมาถึง ว่าแล้วก็ไปตามหาสล่าที่รับทำโคมลอยแถวบ้านบ่อสร้างจนพบ และสั่งทำโคมลอย 50 ลูก ซึ่งสล่าเองยังแปลกใจว่า ทำไมถึงสั่งเยอะขนาดนี้

เป็นอันว่า ลอยกระทงปีนั้น เขาจุดโคมลอยแล้วปล่อยมันขึ้นสู่ท้องฟ้าตรงท่าน้ำหลังร้านอาหารทุกครึ่งชั่วโมง ผลก็คือ ได้รับความสนใจอย่างมาก เขาบอกว่า “โน้ส อุดม” ยังแวะมาเที่ยว และปล่อยโคมด้วย พร้อมกับถามว่า นี่เรียกว่าอะไร

หลังจากนั้น เขาก็ทำแบบนี้ในคืนลอยกระทงทุกปี ทว่าเพียงสองสามปีให้หลัง ตามแผงขายกระทงริมถนนเริ่มมีโคมลอยวางขายกันมากมาย ท้องฟ้าเมืองเชียงใหม่เริ่มเต็มไปด้วยโคมลอย ข่าวคราวร้าย ๆ เกี่ยวกับโคมลอยเริ่มปรากฏ แม้แต่ร้านอาหารของเขาเองก็ได้รับผลจากโคมลอยที่ตกลงมาใส่ต้นไม้บริเวณร้านและไหม้ ตัวเขาเองเริ่มคิดแล้วว่า การแพร่ระบาดของโคมลอยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตนเองที่นำมาเผยแพร่ จากนั้นจึงยุติและต่อต้านการใช้โคมลอย ทว่าดูเหมือนทุกอย่างจะสายเกินไปแล้ว

“ผมยืนยันได้เลยว่า มันไม่เคยมีโคมไฟบ้านี้บนท้องฟ้าเหนือลำน้ำปิง (ที่อื่นไม่ทราบ) ในคืนลอยกระทงก่อนปี พ.ศ. 2541 เลยครับ” เขากล่าวในประโยคท้าย ๆ          

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1154 วันที่ 10 -16 พฤศจิกายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์