วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ดราม่า “จอมทรัพย์” ยุคสื่อฟองสบู่

จำนวนผู้เข้าชม .

นที่สุด นายสับ วาปี ก็สารภาพว่า เขาถูกครูอ๋องหรือนายสุริยา พวงเจริญ เพื่อนสนิทครูจอมทรัพย์ ชักชวนให้มารับสมอ้างว่า เป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ ชนคนตาย ด้วยค่าตอบแทน 4 แสนบาท แต่เขาไม่ตอบตกลง การร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ จึงไม่ปรากฏนายสับ วาปี ตัวละครสำคัญในบันทึกคำพยาน

สับ วาปี ที่เคยเป็นตัวละครสำคัญ เมื่อคราวที่ครูจอมทรัพย์ เปิดตัวว่าเธอ “เป็นแพะ” ถูกศาลพิพากษาจำคุก เรียกน้ำตา เรียกร้องความสนใจ เห็นใจจากสื่อมวลชนอย่างมาก ในขณะที่ตำรวจ พนักงานสอบสวน กลายเป็นผู้ร้าย

แต่แล้วนิยายเรื่องนายสับ วาปี ที่ปิดฉากลงอย่างเงียบเชียบเมื่อปีก่อน ก็กลับมาโลดเต้นมีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังคำพิพากษาฉบับนี้

คำพิพากษาฎีกา คดีระหว่าง นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร  ผู้ร้อง พนักงานอัยการจังหวัดนครพนม ผู้คัดค้าน เรื่องการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ซึ่งศาลสั่งยกคำร้องในที่สุด  ด้วยเหตุผลที่ชัดเจนอย่างยิ่ง

“..ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้ง และสำคัญแก่คดีที่แสดงว่าผู้ร้องไม่ได้กระทำความผิด”

ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในคดีที่จำเลยขอให้พิจารณาคดีใหม่ เพราะไม่ได้กระทำความผิด หรือมีการลงโทษผู้กระทำความผิดผิดตัว ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่ชัดเจน มีน้ำหนักมั่นคงจริงๆ ศาลจึงจะสั่งคำร้องให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ มิฉะนั้นผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษ ก็จะอ้างลอยๆและมาขอให้พิจารณาคดีใหม่อยู่ร่ำไป

แต่เมื่อพิจารณากระแสสังคม เสียงสะท้อนของสื่อมวลชน ซึ่งปักใจเชื่อมาแต่ต้นแล้วว่า ครูจอมทรัพย์ เป็นแพะที่ต้องมารับโทษแทนผู้กระทำความผิดตัวจริง พวกเขาจึงละเลยที่จะกลับมาสู่หลักการพื้นฐานของการทำข่าว คือเสนอข่าวบนพื้นฐานข้อเท็จจริง อย่างครบถ้วนและรอบด้าน

สื่อเชื่อในดรามาของครูจอมทรัพย์  เชื่อในข่าวที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจนทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่า ครูจอมทรัพย์เป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น คือพนักงานสอบสวน นี่เป็นภาวะของอารมณ์ ความรู้สึก บวกกับทัศนคติที่มีต่อตำรวจ ล้วนๆ

ดังนั้น สื่อจึงยังเชื่อว่า ครูจอมทรัพย์เป็นแพะที่น่าสงสารและน่าเห็นใจ ด้วยการตัดสินจากถ้อยคำเพียงบรรทัดเดียว คือ “พิพากษายกคำร้อง” ในขณะที่เหตุและผล พยานหลักฐานอ้างอิง การวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ น้ำหนักของพยานหลักฐานในคำพิพากษาฉบับเต็ม 40 หน้า ไม่มีใครอ่าน ไม่มีใครอ้าง หรืออย่างน้อยก็อาจอ่านด้วยความไม่เข้าใจ ด้วยความเชื่อว่าครูจอมทรัพย์บริสุทธิ์

บางตอนในคำพิพากษา ศาลพบว่า นายสับ วาปี นายเสริฐ ที่เป็นตัวละครในตอนแรกๆนั้น ล้วนถูกว่าจ้างให้มารับสมอ้างเป็นผู้ขับรถกระบะ ชนจักรยานจนมีผู้เสียชีวิต หากนายสับ เข้ามาในคดี นายเสริฐรับว่าเป็นผู้ขับรถคันเกิดเหตุ ทั้งที่เขาขับรถไม่เป็น นั่นแปลว่า ทั้งนายสับ และนายเสริฐ จะต้องรับโทษจำคุกฐานกระทำความผิดขับรถชนคนตายโดยประมาท เพราะความผิดของเขายังไม่ได้รับการพิจารณาพิพากษาลงโทษ นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่พยานหลักฐานทั้งหมดยังชี้ว่าครูจอมทรัพย์เป็นผู้ขับรถชนคนตายจริงและหนักแน่นจริงจังขึ้นอีก เมื่อนายสับ วาปี เดินมามอบตัว และยืนยันว่าเขาไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด

สังคมข่าวสารยุคใหม่ มักวูบวาบไปตามสถานการณ์ และความดรามา ก็มีอิทธิพลเหนือการทำงาน และการตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ ของสื่อครั้งแล้ว ครั้งเล่า

สื่อคล้ายฟองสบู่ ล่องลอยไปเรื่อยๆ

ความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ ที่สงสารเห็นใจ เพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั้น เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี แต่ความเป็นสื่อนั้น จะให้อารมณ์ความรู้สึกมาอยู่เหนือเหตุผล และการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง อย่างครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ได้

เราจะตกเป็นเหยื่อของดรามาอีกกี่ครั้ง หากยังใช้อารมณ์ความรู้สึก เป็นตัวตัดสินทุกสิ่ง

มีแต่หลักการ “พูดความจริง” โดยปราศจากอคติ และอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายนี้เท่านั้น ที่จะฉุดดึงเราขึ้นมาจากหล่มโคลนแห่งความเท็จได้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1156 วันที่ 24 - 30 พฤศจิกายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์