วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

คืนถิ่นบ้านเกิด พัฒนาธุรกิจชุมชน

จำนวนผู้เข้าชม

 กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านเวียงสวรรค์

ภายในร้านเล็กๆของกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านเวียงสวรรค์ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เต็มไปด้วยเสื้อผ้าพื้นเมืองจากฝีมือคนชุมชน ซึ่งรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นมาตั้งแต่เมื่อราว 10 ปีก่อน ภายใต้การนำของบังอร กองเศษ

ย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น บังอรอยากให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน เมื่อหารือกับบรรดาเพื่อนๆซึ่งพอจะมีพื้นฐานด้านการตัดเย็บเสื้อผ้ากันอยู่บ้าง จึงตัดสินใจที่จะตั้งกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าขึ้นมา หลังจากนั้นก็เริ่มมีหน่วยงานในท้องถิ่นให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น กฟผ.แม่เมาะ เทศบาลฯ และม.ราชภัฎลำปาง  จนกระทั่งกลุ่มมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านเวียงสวรรค์เป็นเจ้าเดียวในอำเภอแม่เมาะที่ยังตัดเย็บเสื้อผ้าในรูปแบบกลุ่มเช่นนี้

หลังก่อตั้งกลุ่มได้ราว 5 ปี ทุกอย่างเริ่มลงตัว งานของกลุ่มมากขึ้น ขณะที่สุขภาพของบังอร ในฐานะประธานกลุ่ม กลับเริ่มถดถอย เธอคิดถึงลูกสาว-อฐิตญา  ภิรมย์เนตร์ ที่ทำงานเป็นพนักงานขายในร้านวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่งในตัวเมืองลำปางออกจากบ้านตั้งแต่6โมงเช้ากว่าจะกลับบ้านก็ทุ่มกว่าไม่ค่อยมีเวลาช่วยกลุ่มของแม่เลย สองแม่ลูกเริ่มหารือถึงทิศทางการพัฒนากลุ่มให้ยั่งยืน หลังจากนั้นอฐิตญาก็ตัดสินใจบางอย่างที่นำเธอมาพบกับก้าวใหม่ในชีวิตลาออกเพื่อกลับบ้าน กลับมาเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ เป็นก้าวใหม่ที่เราไม่เคยเลยจริงๆ

หญิงสาววัย 32 ปีผู้ไม่ประสีประสาด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าแม้แต่น้อย ก้าวเข้ามาช่วยงานของกลุ่มภายใต้แรงกดดันที่ทยอยถาโถมใส่เธอ

“เราทำอะไรไม่เป็นเลย เย็บผ้าไม่เป็น ชนิดของผ้าก็ยังไม่รู้จัก แม่ก็พยายามสอน แรกๆช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ สักพักเริ่มรู้สึกว่า เราไม่ได้ทำอะไร รอรับเงินจากลูกค้าอย่างเดียว ก็เครียด เมื่อก่อนตอนทำงานเราทำโน่นนี่ได้ เราได้รับคำชมตลอด จึงเริ่มมองว่าต้องทำอะไรให้มากกว่านี้แล้วล่ะ ต้องฮึดแล้ว จะอยู่อย่างนี้ไม่ได้ แม่ก็สุขภาพแย่ลง

อฐิตญาเปลี่ยนความกดดันให้เป็นความท้าทาย เมื่อมีความตั้งใจจริงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ไม่ยากนักหากจะลงมือทำจนเริ่มรู้สึกว่า เราพอจะดูแลเรื่องต่างๆได้ และตัวเองก็จะออกงานต่างๆทั่วประเทศด้วย ขายออนไลน์ด้วย รับข่าวสารจากสื่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งตรงนี้ ถือว่าทำหน้าที่แทนป้าๆที่อาจจะไม่สะดวกใช้ช่องทางเหล่านี้มากนัก”

ในอนาคต อยากพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่มีหลายกลุ่ม ตลาดจะได้กว้างขึ้น ขยายไประดับจังหวัด ระดับประเทศ หรือส่งออก ที่สำคัญบุคลากรก็อยากได้มาเสริมอยากให้คนรุ่นเรากลับมาช่วยงานในท้องถิ่น มาเป็นกำลังเสริม เพราะเราไม่รู้เลยว่า ป้าๆจะไหวกันถึงเมื่อไร
หลังฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ ดูเหมือนว่า อฐิตญาก้าวข้ามอะไรบางอย่างได้แล้ว และเธอเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจ

“จากวันแรกที่ก้าวเข้ามาภายใต้แรงกดดันว่าจะทำอะไรได้ เพราะไม่ได้ช่วยกลุ่มมาตั้งแต่แรก แต่ก็พยายามพิสูจน์ตัวเองว่าเราทำได้ ทุกวันนี้เวลาไปออกบูธ เราภูมิใจทุกครั้งที่ได้ยินคนบอกแม่ว่า ดีนะ มีลูกสาวมาช่วย มันทำให้เรากล้าพูดว่า ไม่เสียใจเลยที่ลาออกจากงาน แล้วกลับมาพัฒนาท้องถิ่น”

แล้วถ้าอฐิตญาไม่กลับมา กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านเวียงสวรรค์จะเป็นเช่นไร??

 “กลุ่มก็คงไม่ล้มหรอกค่ะ” เธอว่าพลางปาดน้ำตา ก่อนจะใช้เวลาเรียบเรียงคำพูดสักพัก “ไม่เคยคิดว่า ถึงไม่มีเรากลุ่มจะล้ม ถึงจะมีปัญหา แต่ก็ไม่เคยคิดว่ากลุ่มจะล้ม กลับรู้สึกภูมิใจที่เราเป็นลูกหลานแล้วได้กลับมาช่วยงานในท้องถิ่น”

เมื่อถึงวันที่กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นกำลังหลัก อฐิตญาขอบคุณแม่ของเธอ “ขอบคุณที่แม่และป้าๆที่ช่วยกันสร้างมาให้ขนาดนี้  ก็จะทำให้ดีที่สุด ไม่ให้แม่และป้าๆผิดหวัง ไม่ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ก็อยากให้กลุ่มคงอยู่ อยากบอกลูกหลานทุกคนว่า ไม่ใช่เรื่องน่าอายเลยที่จะกลับมาทำงานในท้องถิ่น มันน่าภูมิใจด้วยซ้ำ ที่เราจะช่วยกันทำงานให้ยั่งยืน อย่างน้อยก็ยังสร้างชื่อเสียงให้ชุมชนของเรา ดีกว่าไปทำงานที่อื่น สนุกอยู่กับสิ่งภายนอก จนหลงลืมครอบครัวเรา ชุมชนของเรา”
  
กล่องใบบัวภูมิปัญญาไทย

แม้จะจบทางด้านช่างยนต์มา แต่ เปี๊ยก- เอกนัย อวดดี ชายหนุ่มวัย 34 ปี กลับหลงใหลในงานศิลปะ หลังจากทำงานรับเหมาก่อสร้างมาสักระยะหนึ่ง เขาก็ใฝ่ฝันถึงการทำธุรกิจส่วนตัว ประกอบกับความชื่นชอบงานทางด้านศิลปะ เขาจึงไปเรียนทำเครื่องปั้นดินเผา และทำไปขายที่ถนนคนเดินจังหวัดเชียงใหม่

“ลึกๆแล้วผมชอบงานศิลปะครับ ชอบค้าขาย ก็เลยอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับศิลปะมากกว่าไปรับจ้างเขา” เอกนัยเท้าความให้ฟัง

“พอกลับจากเชียงใหม่ เพราะเราอยากกลับมาอยู่บ้านในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ก็คิดว่าเอ...จะทำอะไรขายดี ที่เป็นงานศิลปะ จนวันหนึ่งเห็นยายทำข้าวต้มมัด เห็นใบตองนึ่ง ก็สงสัยว่าทำไมมันถึงนุ่มได้ ทำไมห่อได้ แล้วถ้าเราเอาใบตองมาห่อหุ้มกล่อง หรือสมุดจะได้หรือเปล่า ใช้แทนกระดาษสาได้ไหม

 “ผมทดลองเอาใบตองมาตกแต่งก่อน ลองมาเรื่อยๆ ก็พอดีพื้นที่อำเภอแม่เมาะนั้นมีอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. มีบัวอยู่เยอะ ผมมองว่าใบบัวดูเป็นไทยกว่า น่าจะเอามาแทนใบตองได้ ใบตองไม่มีเส้นสายลายใบ สื่อสารกับลูกค้าไม่ได้ว่ามันเป็นมงคลอย่างไร เลยลองเอาใบบัวมานึ่ง ทดลองเรื่อยๆ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2555 จึงได้จดทะเบียนเป็นโอท็อป วิสาหกิจชุมชน เริ่มก่อตั้งกลุ่มโดยใช้ใบบัวเป็นหลัก ใบบัวนี่ก็เก็บจากแหล่งน้ำธรรมชาติในอำเภอแม่เมาะเอง เพราะสะดวกกับเรา ตอบความต้องการของลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างดี เพราะใบบัวเชื่อมโยงทั้งวัฒนธรรมไทยและพระพุทธศาสนา ลูกค้าตอบรับดี เห็นปุ๊บก็สื่อถึงความเป็นไทยทันที”

เอกนัยค้นพบว่า กล่องใบบัวนั้น สามารถทำขายเป็นหลักได้ เขาจึงเน้นไปที่กล่องใบบัวหลายแบบ หลายขนาด ปกติใบบัวพอแห้งแล้วจะแตกกรอบ แต่เอกนัยนำใบบัวมาผ่านขั้นตอน “หมักเหนียวนุ่ม” ตามสูตรที่คิดขึ้น เขาจึงทำใบบัวให้เหนียวนุ่มได้ ก่อนจะเอาไปขึ้นชิ้นงานได้หลากหลาย ทั้งกล่องใบบัว โคมไฟ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยสร้างความโดดเด่นให้สินค้า

ทว่าผลิตภัณฑ์ที่ดูเหมือนเขาจะภาคภูมิใจเป็นพิเศษก็คือ โคมไฟใบบัวชื่อ “แสงสะท้อนพุทธปรัชญา” ซึ่งเป็นโครงการของ CPOT (Cultural Product of Thailand) หรือผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยของกระทรวงวัฒนธรรม ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยระดับประเทศ เอกนัยได้แรงบันดาลจากหอพระพุทธบาทในวัดพระธาตุลำปางหลวง

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังความสำเร็จของผลิตภัณฑ์จากใบบัวส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญของสิ่งเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนชุมชนได้อย่างที่เอกนัยมุ่งมั่นทำอยู่

“กฟผ.แม่เมาะ เล็งเห็นว่าเราช่วยเหลือชุมชนจริง ตลอดระยะเวลา 10 ปีเขาสนับสนุนงบประมาณการอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ สนับสนุนจัดสร้างสถานที่ เราขาดเหลืออะไรก็บอก เขาก็ช่วยเหลือดี เรายังเป็นศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งทาง กศน. อำเภอแม่เมาะก็เข้ามารับรองว่า คนที่มาเรียนตรงนี้ กศน. จะการันตีให้ว่าผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียนมา และหากคนที่มาเรียนรู้กับเราจะนำไปประกอบอาชีพ เราก็ยินดี เพราะเราเน้นช่วยเหลือชุมชนมากกว่าทำธุรกิจอยู่แล้วครับ

นอกจากเอกนัยจะนำผลิตภัณฑ์แบรนด์บ้านใบบัวของเขาไปขายที่กาดกองต้าทุกวันเสาร์-อาทิตย์แล้ว เขายังออกบูธปีละ 3 ครั้งในงานใหญ่ๆ อย่างงานศิลปาชีพประทีปไทย งานโอท็อปซิตี้ และงานโอท็อปมิดเยียร์ แน่นอนว่า การตอบรับนั้นล้นหลามจริงๆ

ในวันที่เดินทางมาไกลจากจุดเริ่มต้น เอกนัยตระหนักเสมอว่า ไม่ใช่ตัวเลขในบัญชีเท่านั้นที่เขาภูมิใจ หากแต่การได้เป็นผู้ให้กับชุมชนต่างหาก คือความภาคภูมิใจสูงสุด เช่นเดียวกับการที่ผู้หลักผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของเขาในฐานะผู้ประกอบการที่ทำจริง ทั้งยังเริ่มต้นจากศูนย์ ก็ยิ่งทำให้เขาอยากส่งต่อการมีอาชีพอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน โดยในอนาคตอาจพัฒนาไปเป็นศูนย์การเรียนรู้ผลิตภัณฑ์กล่องใบบัว ศูนย์การเรียนรู้สายพันธุ์บัวของจังหวัดลำปางและอำเภอแม่เมาะ เพื่อส่งต่อการเป็นผู้ให้ให้กับชุมชนที่เขารัก

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1160 วันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2560)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์