วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ดอกบัวตอง ซ่อนอะไรในความสวย

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

หลังจากเรื่องราวการค้นพบหนอนตัวแบนนิวกินีซาลงไป ก็ถึงคราวของชนิดพันธุ์รุกรานอย่างดอกบัวตอง พืชที่อยู่คู่กับการท่องเที่ยวมาเนิ่นนาน จะได้กลับมาเป็นมหากาพย์อีกครั้งระหว่างนักวิชาการและคนในพื้นที่

เรื่องนี้สืบเนื่องจากการที่ ผศ. ดร. ศศิวิมล แสวงผล จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับผลกระทบจากทุ่งดอกบัวตองในฐานะพืชต่างถิ่นชนิดรุกรานรุนแรง โดยใช้คำว่า “บัวตอง สยองขวัญ” เท่านั้นเอง การโต้ตอบไปมาระหว่างคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็เริ่มต้นขึ้นและดูท่าว่าจะยืดเยื้อยาวไกล

บัวตองเป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกากลาง เม็กซิโก และคิวบา ทว่าปัจจุบันมันกลายเป็นพืชต่างถิ่นรุกรานรุนแรงในหลายประเทศ ทั้งจีน อินเดีย เมียนมา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ แอฟริกา และรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกา กระทั่งถูกจัดให้อยู่ในรายการชนิดพันธุ์รุกรานระดับโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า บัวตองเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไร แต่น่าจะมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว โดยอาจมีผู้นำเข้ามาเป็นไม้ประดับ หรือติดมากับต้นไม้นำเข้า ติดมากับกระสอบเมล็ดพันธุ์พืชอื่น ๆ แต่ที่แน่ ๆ ณ ตอนนี้ ดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่มีทุ่งดอกบัวตองขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ส่วนจังหวัดลำปางเรา ทุ่งดอกบัวตองใน กฟผ. แม่เมาะก็กำลังเป็นที่ร่ำลือในเรื่องความสวยงาม ด้านหลังวัดเกาะวาลุการามตรงริมแม่น้ำก็มีดอกบัวตองเป็นแนวยาว หรือแม้แต่ตามหมู่บ้าน บางบ้านพอเข้าสู่ฤดูหนาวก็เห็นดอกบัวตองเยี่ยมหน้าโผล่พ้นรั้วออกมากันใหญ่

นี่แหละที่นักวิชาการเป็นห่วง ผศ. ดร. ศศิวิมลระบุว่า บัวตองเจริญเติบโตได้แม้ในดินเลว ทนแล้ง ทนร้อน เมื่อเจริญเติบโตเป็นพุ่มใหญ่มันจะแตกกิ่งหนาแน่นมากจนบังแสง ทำให้ต้นกล้าของพืชท้องถิ่นเจริญเติบโตไม่ได้ บัวตองสร้างดอกและเมล็ดได้ถึงปีละ 80,000-160,000 เมล็ด ต่อตารางเมตร (อัตราการงอกประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์) ทำให้มันแพร่พันธุ์ได้ตลอดปีและแสนง่ายดาย ด้วยความที่เมล็ดเล็ก เบา ปลิวตามลม น้ำ หรือติดไปกับตัวสัตว์ และพักตัวในดินได้นานถึง 4 เดือน

อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพรรณไม้ชนิดนี้ก็คือ มันสร้างสารที่เป็นพิษต่อพืชอื่น เรียกว่า สารอัลลีโลพาธี เช่น ทาจิตินินและฮิลปิดูลิน สามารถยับยั้งการเจริญของหน่อและราก รวมถึงการดูดซึมแร่ธาตุของพืชหลายชนิด เช่น ยับยั้งการงอกของเมล็ดข้าว ข้าวโพด มะเขือเทศ หัวหอม และแตงกวา

บัวตองแพร่พันธุ์ทำลายทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และป่าหญ้าตามธรรมชาติในหลายประเทศ ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ทั้งยังกำจัดยาก หากตัดฟันก็จะงอกจากต้นตอที่เหลือได้อย่างรวดเร็ว

ด้วยความที่ดอกบัวตองนั้นสีเหลืองสดใส ปลูกเป็นทุ่งจะดูสวยงามอร่ามตา ประกอบกับเราต่างมีภาพจำของทุ่งดอกบัวตองบนดอยแม่อูคอ ภาพนักท่องเที่ยวหลั่งไหลสร้างรายได้มหาศาล ดอกบัวตองจึงถูกนำไปปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ หวังให้เป็นแหล่งดึงดูดผู้คน โดยหารู้ไม่ว่ามันคือภัยเงียบที่คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการผู้หาญกล้าลุกขึ้นมาต่อกรกับกระแสการชื่นชมดอกบัวตองของคนทั้งประเทศ ก็พูดชัดเจนว่า ควรเริ่มดำเนินการควบคุมอย่างจริงจัง เพื่อ “จำกัด” มิใช่ “กำจัด” ย้ำอีกครั้ง “จำกัด” ขอบเขตทุ่งดอกบัวตองให้อยู่ในบริเวณที่นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้เท่านั้น และไม่ควรนำเมล็ดไปเพาะพันธุ์ที่อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีทุ่งหญ้า หรือป่าไม้ เพื่อรักษาระบบนิเวศดั้งเดิมไว้

แม้จะย้ำชัดว่าให้ช่วยกันจำกัด แต่ ผศ. ดร. ศศิวิมลก็ยังไม่วายโดนคนเข้ามาคอมเมนต์แรง ขนาดมีนักวิชาการด้วยกันมาช่วยอธิบายก็ไร้ผล กระทั่งนักวิชาการท่านนั้นต้องบอกว่า “ยากกว่าการจัดการชนิดพันธุ์รุกราน ก็คือการจัดการทัศนคติคนไทยนี่แหละ”
           

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่1157 วันที่ 1 - 7 ธันวาคม 2560) 
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์