เงินกองทุนไฟฟ้า
หรือกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
งบประมาณหลายพันล้านบาท อาจเป็นโมเดลที่อธิบายการบริหารจัดการกองทุน
กองทุนไฟฟ้าที่มีอยู่ 75 กองทุน ใน 39 จังหวัดทั่วประเทศที่มีโรงไฟฟ้า
และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า มูลค่ารวมนับหมื่นล้านบาท นี่อาจเป็นแหล่งทุนรัฐขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่มีพฤติกรรมการจัดการ
บริหารที่ส่อไปในทางทุจริต คอรัปชั่น
การบริหารกองทุน
การอนุมัติโครงการต่างๆ เฉพาะกองทุนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้ฉายภาพให้เห็นวิธีการที่หละหลวม
ไร้ประสิทธิภาพ เปิดช่องให้มีการทุจริต คอรัปชั่น อย่างมโหฬาร หรือปรากฏผลโครงการจากการใช้เงินกองทุนที่น่าสงสัย
เช่น การใช้งบประมาณจำนวน 1 ล้านบาท สร้างสวนสุขภาพ ที่เต็มไปด้วยหญ้ารกชัฏ
การใช้งบ 2.5 ล้านบาท สร้างลานเอนกประสงค์ให้หมาเดิน
รวมทั้งการใช้งบ 8 ล้านบาท สร้างสะพานคอนกรีตเลี่ยงหมู่บ้าน
ที่ใช้สัญจรตามปกติไม่ได้ จนอาจเรียกว่าเป็นสะพานผีหลอก
คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2550 เห็นชอบแนวทางและขั้นตอนการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2550 เห็นชอบตามมติ กพช. โดยมีเป้าหมายในการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า พวกเขาตั้งความหวังว่า กองทุนพัฒนาไฟฟ้า จะช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือการผลิตไฟฟ้า
ไม่ใช่การช่วยเหลือในรูปแบบประชานิยม
หากแต่เป็นการให้เพื่อสร้างสรรค์งานใหม่
ต่อยอดเงินจากกองทุนไปสู่งานอาชีพที่จะสร้างความมั่นคงในระยะยาว
แน่นอนว่า มีหลายโครงการ หลายกลุ่ม
ที่เดินตามปรัชญาและแนวคิดในการจัดตั้งกองทุน เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์กล่องใบบัว
กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านเวียงสวรรค์ แต่ก็มีอีกหลายโครงการที่เป็นช่องทางในการทุจริต
คอรัปชั่น ซึ่งลานนาโพสต์ ตรวจสอบพบแนวโน้มเช่นนั้น จากวิธีการทำงานข่าวในเชิงสืบสวน
สอบสวน หรือ Investigative Reporting และใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ
พ.ศ.2540 เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความจริง เนื่องจากคอรัปชั่นไม่กลัวความเห็น
การวิพากษ์ วิจารณ์ แต่คอรัปชั่นกลัวความจริง
จากการขุดคุ้ย
สืบค้น ด้วยวิธีการทำงานเชิงสืบสวน สอบสวน
“ลานนาโพสต์” พบเรื่องเน่าๆหลายเรื่อง ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้กองทุนไฟฟ้า
กองทุนที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่านี่เป็นเงินให้เปล่า ในแบบประชานิยม
หรือเป็นเงินผันเหมือนสมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ให้เงินไป
แล้วชาวบ้านก็ไปขุดคลอง ขุดแล้วก็กลบ แล้วก็ขุดใหม่ ใช้เงินให้หมดๆไป
ตัวอย่างแรกก็คือ
สะพานคอนกรีตขนาดยาว 5
เมตร โผล่ขึ้นกลางทุ่ง เป็นสะพานเลี่ยงหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรแออัดในหมู่บ้าน
ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เชื่อมระหว่างบ้านสบจาง หมู่ 6 และบ้านทุ่งเลางาม หมู่ 9 ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
สร้างเสร็จเมื่อกลางปี 2560
ที่ผ่านมา ใช้งบประมาณในการก่อสร้างจำนวน 7,950,000 บาท แต่หลังจากก่อสร้างเสร็จได้เพียงไม่นาน
สะพานเกิดชำรุดบริเวณทางเชื่อมต่อระหว่างสะพานกับถนนทรุดลงไปประมาณ 15 เซนติเมตร
นอกจากนั้นก็ยังไม่ได้เชื่อมต่อหรือเป็นเส้นทางรถวิ่งได้ปกติ
เหมือนถนนหนทางอื่นๆแต่อย่างใด เพราะสะพานวางอยู่บนเส้นทางถนนดิน
เป็นงานก่อสร้างของบริษัทเอกชนที่ร่วมประมูลงาน
2 ราย ผู้ชนะเฉือนผู้แพ้ไปเพียง 30,000 บาท
น่าสนใจว่าจะเข้าองค์ประกอบกฎหมายฮั้วประมูล
หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
หรือไม่
นอกจากนี้
“ลานนาโพสต์”
ได้ติดตามการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตั้งแต่ปี 2555-2560 รวม 6 ปี พบว่ามีการอนุมัติโครงการไปแล้วกว่า 3,800 โครงการ เป็นจำนวนเงินเกือบ 2,000
ล้านบาท
โดยเงินงบประมาณกว่าครึ่งหนึ่งนำไปใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค สร้างถนนหนทาง
สร้างลานเอนกประสงค์ไว้ให้หมาเดิน
ส่วนอันดับที่
2 คือการใช้จ่ายในการซื้อสัตว์เลี้ยง เช่น
วัว หมู ไก่ กบ เป็นต้น
ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจในหลายหมู่บ้าน
พบว่าสิ่งก่อสร้างหลายแห่งที่ใช้เงินงบประมาณของกองทุน
ไม่ได้ใช้งานให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงตามวัตถุประสงค์ ส่วนจะมีตกหล่น
สูญหายไปเข้ากระเป๋าใคร คนเล่นแร่แปรธาตุเอาไปก็รู้อยู่แก่ใจ
เรื่อง
โครงการ ซื้อวัว หมู ไก่ กบ น่าสนใจ เพราะ บางโครงการซื้อชุดเดียว
แต่ถ่ายภาพไปใช้ในอีกหลายโครงการ เรียกว่าเวียนเทียนกันไป
เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ทั่วหน้า บางโครงการสาธารณูปโภค
มีโครงการเดิมของหน่วยงานอื่นอยู่แล้ว ก็สวมรอยโครงการรับเงินกองทุนไฟฟ้ากันไป
จะทำลายเนื้อร้ายที่กัดกินกองทุนไฟฟ้าแม่เมาะได้อย่างไร
หรือไม่ ก็ต้องอาศัยความกล้าหาญ สุจริต ตรงไปตรงมา
เพื่อให้กองทุนไฟฟ้ามีธรรมาภิบาล โปร่งใส วางใจได้
และเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านตามปรัชญาแนวคิดตั้งต้นกองทุนอย่างแท้จริง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1161 วันที่ 29 ธันวาคม 2560 - 11 มกราคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น