วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ตรวจการบ้านผู้ว่าฯทรงพล กับวิสัยทัศน์ ลำปางไม่ใช่เชียงใหม่

จำนวนผู้เข้าชม

  ลงานที่สงขลา อาจเป็นแต้มต่อสำหรับ ผู้ว่าฯทรงพล สวาสดิ์ธรรม ในตำแหน่งใหม่ ที่จะมีเวลาทำงานอย่างน้อยจากนี้อีก 2 ปี แต่ 2 เดือน บนตำแหน่งหมายเลข 1 ของจังหวัดลำปาง  นับจากที่เขาเข้ารับตำแหน่ง คงเร็วเกินไปที่จะบอกว่า นี่เป็น “ของจริง” หรือ “ของปลอม” หรือเขาสอบตก หรือสอบผ่าน  สำหรับงานการที่เป็นความคาดหวังของคนลำปางทั้งระบบ

มองผ่านความคิด หรืออาจเรียกวิสัยทัศน์ของผู้ว่าฯ ในเฟสบุ๊คของเขา  เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม จะพบบางสิ่งที่น่าสนใจ

“ไม่เคยคิดว่า ลำปางจะต้องเหมือนเชียงใหม่ แต่เราคงต้องเดินให้ไวขึ้นกว่านี้ โดยที่ยังสามารถรักษาสิ่งดีๆ ไว้ได้”

แปลความคิดผ่านตัวอักษร ได้ว่า ผู้ว่าฯทรงพล ไม่ได้ต้องการเห็นลำปาง เติบโตขยายตัว กลายเป็นเมืองใหญ่ที่แออัดไปด้วยตึกรามบ้านช่อง อาคารสูง ถนนหนทางรถราติดขัด ไม่ต่างไปจากกรุงเทพ ในขณะที่วัดวาอาราม ศิลปวัฒนธรรมอันงดงาม ถูกซุกซ่อนไว้ตามซอก ตามหลืบ หรือกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ

แต่ก็คงไม่ได้แปลว่า ลำปางจะจมอยู่ในอดีต หรือรักษาความเป็น “เมืองผ่าน” ที่ผู้คนผ่านไป แล้วก็ผ่านมา ซึ่งมองในแง่เศรษฐกิจ ลำปางก็อาจจำเป็นต้องแสดงตัวตนในการพัฒนาเมืองเช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ซึ่งดูเหมือนจะช้าไปสำหรับผู้ว่าฯทรงพล

การพัฒนาเมืองเช่นว่านั้น จะพัฒนาไปในทิศทางใด ที่จะไม่ไปลดทอนคุณค่าของความเป็นนครลำปาง บ้านเก่า วัดวาที่วิจิตรไปด้วยศิลปะแบบพม่า ซึ่งยังคงรักษาพื้นที่ในลำปางชั้นในไว้ได้มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเชียงใหม่ ที่สูญเสียตัวตนไปแล้วให้กับกระแสทุนนิยม

สิ่งที่ต้องการเห็น และสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่อาจล่องลอยอยู่ในสายลม นั่นหมายถึงว่า ต้องมีวิธีจัดการบริหาร ให้ลำปางมีอัตราการเติบโต ขยายตัวทั้งทางด้านการค้า เศรษฐกิจ และรักษาพื้นที่ทางวัฒนธรรมไว้ในสัดส่วนที่เหมาะสม และในพื้นที่ที่ไม่ไปซ้อนทับกัน

ความเป็นจริง ภาพความคาดหวังเช่นนี้ หลายคนคงมองเห็น แต่สำหรับผู้ว่าฯ อาจมองได้ละเอียดลึกซึ้งกว่า ไม่เพียงฝัน แต่อาจคิดถึงเครื่องมือ คิดถึงวิธีการ ที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ภายใต้เงื่อนไขของระบบราชการ และสังกัดกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานรัฐสำคัญแห่งหนึ่งที่จำเป็นต้องปฏิรูป ไม่ได้น้อยไปกว่าการปฏิรูปตำรวจ
ภายใต้ระบบราชการ และกล่าวเฉพาะเจาะจงถึงผู้ว่าฯทรงพล ซึ่งมีอายุการทำงานในพื้นที่นี้อีกเพียง 2 ปี ภาพฝันเช่นนั้น ห่างไกลความเป็นจริงพอสมควร เพราะจะต้องได้รับความร่วมไม้ร่วมมืออย่างแข็งขันจากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำทางความคิดในสังคม กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มทุน เป็นการเคลื่อนไปเป็นขบวนการทั้งแนวคิด และปฎิบัติการ
ในขณะเดียวกัน ภายใต้เครื่องแบบสีกากี ผู้ว่าฯก็อาจต้องใส่สูทผูกไทค์ เป็นเอ็มดี หรือซีอีโอของ  บริษัท ลำปางจำกัด (มหาชน) เหมือนแนวคิดผู้ว่าฯซีอีโอ ที่เคยเกิดขึ้นในยุคหนึ่ง นั่นแปลว่า ผู้ว่าฯต้องมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการจังหวัด โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนเงินทุน บุคลากร และอื่นๆตามความจำเป็น ตามแผนการพัฒนาจังหวัด ซึ่งร่างขึ้นด้วยการระดมความเห็นจากบอร์ดบริหารลำปาง  ซึ่งประกอบด้วยระดับมันสมองของลำปาง และภาคราชการบางส่วน เป็นกรรมการอิสระที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ

 เราได้เห็นความกล้าหาญ และความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงของ ผู้ว่าฯทรงพล อย่างน้อยก็ในเรื่องของงานเซรามิคแฟร์ ที่ตัดงบปีนี้เหลือเพียง  6 แสนบาท และกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมาว่า เป็นงานที่ไม่ตอบโจทย์ เป็นส่วนหนึ่งของห้าง และไม่สื่อถึงความเป็นงานแฟร์ของท้องถิ่นที่มีจุดขาย

ลำปางยังเรียกร้องต้องการความคิด ความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงอีกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องงานเซรามิคแฟร์ เรื่องกองทุนไฟฟ้า เมล็ดพันธุ์อันเลวร้ายของการคอรัปชั่นในสังคมไทย

ผู้ว่าฯทรงพล จะใช้ทุกนาทีจากนี้ สร้างความจดจำให้กับคนลำปาง และเป็นเกียรติประวัติในชีวิตราชการของตนเองอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องให้คนลำปางรักอย่างไม่มีเหตุผล แต่ให้พวกเขาชื่นชม ศรัทธา และเชื่อมั่นในตัวผู้ว่าฯจากผลงานที่จับต้องได้ไม่ใช่แค่ลมปากพูด นั่นย่อมเป็นสิ่งที่ยั่งยืนยิ่งกว่า


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1159 วันที่ 15 - 21 ธันวาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์