วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เซรามิคหนึ่งเดียวในโลก มอบ‘ตูน’ก้าวที่ลำปาง

จำนวนผู้เข้าชม

ก้าวคนละก้าว เป็น Talk of The Town ไปทั่วไทย เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ใครไม่รู้ถือว่าตกยุค คนลำปางก็ไม่น้อยหน้าใคร ร็อกสตาร์ขวัญใจมหาชน ตูน บอดี้สแลมหรือนายอาทิวราห์ คงมาลัย ที่ออกวิ่งจากใต้สุดของไทย อ.เบตง จ.ยะลา มุ่งหน้าไปเหนือสุด อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระยะทาง 2,191 กม. ออกสตาร์ตเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ผ่านมา

จังหวัดลำปางก็เตรียมของที่ระลึกที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของลำปาง มอบเป็นของขวัญกำลังใจให้ ตูน แทนน้ำใจในนามชาวลำปาง โดยโจทย์ของที่ระลึกที่ว่านี้  ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้ ฝากให้โรงงานเซรามิกเก่าแก่ของลำปาง “อินทราเซรามิก” รับเรื่องไปจัดเต็ม

ประกอบ ก่อวาณิชกุล ช่างศิลป์ของอินทราเซรามิค ผู้สร้างสรรค์ผลงานของที่ระลึกชิ้นนี้ให้กับ “ตูน”  เล่าว่า หลังจากที่ คุณอนุรักษ์ นภาวรรณ ผู้บริหารของอินทราเซรามิค ได้ให้การบ้านว่า จะสร้างสรรค์ผลงานเป็นของขวัญจากชาวลำปางให้ตูน เขาก็รู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่จะได้เป็นคนทำผลงานชิ้นนี้ จึงได้วางกรอบแนวคิดและแผนการสร้างสรรค์ร่วมกับฝ่ายออกแบบ เพื่อทำผลงานออกมาเป็น จานเซรามิคเทคนิคเพ้นท์ลายใต้เคลือบ เป็นรูปภาพที่แสดงอัตลักษณ์ของลำปาง คือ สัญลักษณ์จังหวัด สะพานรัษฎา หอนาฬิกา มีข้อความ ฉันรักลำปาง เป็นภาพพื้นหลัง และมีรูป  ตูน’.ในชุดวิ่งเป็นจุดเด่นอยู่ฉากหน้า จานเซรามิคใบนี้เป็นผลงานที่ผลิตออกมาเพียงแค่ชิ้นเดียวในโลกเท่านั้น

“การทำผลงานชิ้นเดียวนั้นเป็นความท้าทายและมีความยากอยู่ในเนื้องาน เพราะการทำชิ้นงานเซรามิคเทคนิคเพ้นท์ลายนั้น ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ด้านการใช้สี เนื่องจากสีของเซรามิคมีความพิเศษเฉพาะตัวที่ไม่เหมือน สีชนิดอื่นๆทั่วไป โดยสีเซรามิคเป็นเคมีที่ผสมออกมาแล้วก่อน และหลังจากผ่านขั้นตอนการเผาจะให้สีที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องแม่นยำว่า ใช้สีนี้เผาเมื่อออกมาแล้วจะเกิดสีอะไร ขณะเดียวกัน เทคนิคการเผาก็ต้องประณีตมาก เพราะมีความเสี่ยงมากสำหรับความเสียหาย แตกร้าว ยิ่งเมื่อทำชิ้นเดียวถ้าหากเสียคือทิ้งเลย ต้องทำใหม่ทุกขั้นตอน เรียกได้ว่าต้องลุ้นตอนเมื่อออกจากเตาเผาทุกขั้นตอน ซึ่งมีการเผาผ่านชั้นตอนเคลือบแล้วผ่าน รออีก 1 วันเข้าเตาเผาเคลือบขลิบขอบทอง เป็นขั้นตอนสุดท้าย ผมใช้เวลาในการวาดรูปบนดิน 2 วัน กระบวนการทำงานผลิตชิ้นงานทั้งหมดใช้เวลากว่า 1 สัปดาห์”    ประกอบเล่าถึงเส้นทางของความท้าทายงานของชิ้นงานของขวัญพี่ตูนชิ้นนี้อย่างภาคภูมิใจและปิดท้ายด้วยรอยยิ้มว่า

“โจทย์ของการวาดรูปตูนลงชิ้นงานเซรามิค มันแน่นอนว่ายากกว่าการเขียนรูปบุคคล(Portrait)ทั่วไป แต่เป็นงานเฉพาะที่ผมตั้งใจสร้างผลงานให้ออกมาดีที่สุด” 

เมื่อย้อนดูประวัติของ ประกอบ ก่อวาณิชกุล ช่างศิลป์ วัย 51 ปีผู้อยู่เบื้องหลังชิ้นงานสำคัญครั้งนี้ จบการศึกษาสาขาศิลปะไทย จากวิทยาลัยช่างศิลป์ กรมศิลปากร ความถนัดและทักษะที่เขาเชี่ยวชาญ มีพื้นฐานจากศิลปะไทย ทั้งงานจิตรกรรม ลายไทย และงานปั้น เริ่มต้นใช้ชีวิตหลังจากจบการศึกษาด้วยการเป็นช่างศิลป์อิสระ (Freelance) เมื่อมีครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ ภาคเหนือ ทำงานที่ ศูนย์หัตถกรรมจังหวัดเชียงราย กระทั่งย้ายมาทำงานฝ่ายช่างศิลป์ที่อินทราเซรามิค นับเวลาได้นานกว่า 15 ปีแล้ว

หน้าที่หลักของเขาที่อินทราเซรามิค คือช่างศิลป์ที่ผลิตชิ้นงานโชว์ที่อินทราเอาท์เลททั้งสองสาขา ดังนั้นที่นี่จะมีผลงานที่เขามีส่วนในทีม รวมถึงชิ้นงานที่เขาสร้างสรรค์ด้วยฝีมือแบบ “งานเดี่ยว” ทั้งงานภาพเขียนผนัง งานประติมากรรม มูร่อนซึ่งเป็นเทคนิคภาพผนังเซรามิค และงานประติมากรรมเชิงศิลปะในรูปแบบของเซรามิค ผลงานชิ้นแรกของเขาคือ ตุงกระด้างผลิตจากเทคนิคเซรามิค ที่ใครก็ตามที่ได้ไปเยือนอินทราเอาท์เลท ศูนย์จำหน่ายใหญ่ ต้องตะลึงในความสวยงามเมื่อยามตุงกระด้างสะท้อนแสงแดด

จากนั้นก็มีงานท้าทายที่ต้องทำกันเป็นทีมคือผลงานงานประติมากรรมเซรามิคลอยตัว จำลองสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของลำปาง ไปจนถึงงานภาพผนังนูนต่ำศิลปะลายไทย ประติมากรรมเสาอาคาร และอีกมากมายจัดแสดงที่ อินทราเอาท์เลท ศูนย์จำหน่ายใหญ่(พระบาท) และสาขาห้างฉัตร
“การเขียนรูปบนเซรามิค มีความแตกต่างจากการเขียนภาพบนเฟรมผ้าใบ หรือกระดาษเขียนภาพ เพราะเซรามิคมีการดูดสีเข้าไปในเนื้อดินเผา น้ำหนักมือก็ต้องเขียนเร็วเชี่ยวชาญ แม่นยำ แต่สีของเซรามิคจะไม่สวยงามคมชัดละเอียดเหมือนภาพวาด เพราะภาพที่เพ้นท์เสร็จแล้วต้องผ่านกระบวนการเผาเคลือบ งานประติมากรรมก็เช่นกัน การนำเอาเทคนิคเซรามิคมาประยุกต์เข้ากับงานสถาปัตยกรรม หรือเป็นชิ้นงานสำหรับจัดแสดง นั้นถือเป็นศิลปะที่อาศัยแรงบันดาลใจและทักษะเข้าด้วยกัน ความรู้ ทักษะที่ผมมีได้ถูกนำมาใช้ทุกกระบวนที่อินทราเซรามิค” คำบอกเล่าที่ว่านี้อาจสื่อได้ว่า เขาไม่ใช่แค่ช่างศิลป์ แต่จัดว่าเป็นศิลปินก็ว่าได้ 
ของขวัญจากชาวลำปางชิ้นนี้ มีความหมายพิเศษที่พิเศษกว่าของขวัญทั่วไป

การก้าวผ่านลำปางของ พี่ตูน จะรับการส่งมอบความหมายของแรงเชียร์ และกำลังใจที่แสดงถึงอัตลักษณ์ลำปางเมืองเซรามิคเอาไว้ในประวัติศาสตร์ของกิจกรรม ก้าวคนละก้าว เพื่อ11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ด้วยเช่นกัน


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1159 วันที่ 15 - 21 ธันวาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์