วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

สื่อสาธารณ์ ใต้เงาอำนาจ

จำนวนผู้เข้าชม

กเว้นกรรมการปฏิรูปสื่อ ฝั่งสื่อตัวจริง เช่น สุทธิชัย หยุ่น สมหมาย ปาริจฉัตต์ รวมทั้งประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ แล้ว งานปฎิรูปสื่อ ที่ทำซ้ำสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ภายใต้ประธานจิระชัย มูลทองโร่ย กับกรรมการร้อยพ่อ พันแม่ ก็นับว่าหวั่นไหว และน่าเป็นห่วงยิ่ง

วาระเรื่องเพื่อพิจารณาในคราวประชุมเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เสนอรายละเอียดของข้อเสนอการปฏิรูป โดยอ้างการประชุมก่อนหน้านี้ ว่าได้มอบหมายให้กรรมการพิจารณาในรายละเอียด และเสนอผลต่อประเด็นการปฏิรูปทั้ง 6 ประเด็น ในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งหมายถึงการประชุม เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ทุกเรื่องลอกมาจากสรุปผลการดำเนินงานของกรรมาธิการสื่อชุด สปช.และสปท. ยกเว้นข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์ โดยเฉพาะโทรทัศน์ภายใต้รัฐ NBT และโทรทัศน์ที่สำคัญผิดว่าอยู่ใต้รัฐ ThaiBPS

ไม่ปรากฏว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณา ในวาระเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้อย่างไร แต่ก็น่าสนใจว่า การปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์ เป็นเรื่องของภาคธุรกิจ เรื่องของกำไร-ขาดทุน เรื่องของภาคเอกชนซึ่งรัฐไม่ควรไปเกี่ยวข้อง และเป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกับการปฏิรูปสื่อซึ่งเน้นวิธีการที่จะกำกับ ดูแลสื่อในเรื่องจริยธรรม

หากจะเกี่ยวข้องบ้าง ก็คงเป็นเรื่องวิธีการสร้างจิตสำนึก ความรับผิดชอบให้กับเจ้าของ ผู้ประกอบการ นายทุนสื่อ ซึ่งเกือบจะเรียกว่า เป็นต้นตอ เป็นสารตั้งต้นของความเลวร้ายของสื่อทั้งระบบ

ประเด็นต่อมา คือเรื่อง ThaiPBS วาระเพื่อพิจารณา เขียนว่า เป็นข้อเสนอเพิ่มเติม ซึ่งไม่ควรมีประเด็นใดเพิ่มเติมอีก หากกรรมการ และผู้บริหาร ThaiPBS พูดคุยทำความเข้าใจกันรู้เรื่องแล้ว   

การปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร ในวาระการประชุมของคณะกรรมการระดับชาติเช่นนี้ แม้มิได้พูดกันสักถ้อยคำหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญอยู่พอสมควร อย่างน้อยก็มีแนวคิดที่จะล้วงลูกเข้ามาในสื่อสาธารณะ เช่นเดียวกับที่ผู้มีอำนาจทุกยุคสมัยพยายามทำ

ก้าวกระโดด เปิดเผย จริงจัง หรือทีละคืบ หรือทีละศอก หรือ “โยนหินถามทาง”ก็ไม่แตกต่างกัน หากเป้าหมายคือยึด ThaiPBS มาเป็นสื่อใต้รัฐ ตอบรับกระแสสังคมส่วนหนึ่งที่เห็นว่า การมีThaiPBS อยู่ไม่มีความจำเป็นต่อโลก

ทั้งที่การมี ThaiPBS คือหัวใจสำคัญของความเป็นสื่อสาธารณะ ความเป็นสื่ออิสระ ที่หลงเหลืออยู่ เป็นป้อมค่ายสุดท้ายของการปฎิรูปสื่อที่ยังหลงเหลืออยู่  

ต้นกระแสธารของ ThaiPBS  มาจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่มีการเรียกร้องให้สื่อภายใต้รัฐทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร จนนำไปสู่เหตุรุนแรงถึงชีวิต เลือดเนื้อ ประชาชน และมีคนสูญหายจำนวนมาก ในห้วงระยะเวลาการเคลื่อนไหวกดดันให้พล.อ.สุจินดา คราประยูร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม มีการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ ไอทีวี สถานีโทรทัศน์เสรีแห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาพัฒนามาเป็นThaiPBS  จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ ส.ส.ท.และนับจากวันก่อเกิด ไทยพีบีเอส ภายใต้การออกแบบกฎหมายให้คนไทยพีบีเอสตั้งแต่ระดับนโยบาย บริหาร และปฏิบัติการมีความเป็นอิสระ  องค์กรนี้ก็ยังต้านทานอำนาจการเมือง อำนาจภายนอก ที่พยายามเข้ามาแทรกแซง มายึดครองได้ตลอดเวลา
ถึงกระนั้นในสถานการณ์ที่รัฐบาลพยายามเข้ามาคุมสภาพการสื่อสารอย่างเบ็ดเสร็จ โดยสามารถแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ดึง กสทช.กลับไปเป็นองค์กรใต้รัฐได้สำเร็จ โดยไม่มีเสียงคัดค้าน การใช้อำนาจในฐานะคู่สัญญากับบริษัทผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล สั่งหยุดออกอากาศโดยไม่มีเหตุสมควร ก็ทำให้สถานการณ์สื่อในประเทศไทย อยู่ในสุญญากาศ เหลือเพียงไทยพีบีเอส ที่ยังคงเป็นความหวัง

คำถามคือ ในสถานการณ์ที่ThaiPBS  ได้ใช้เวลาลองผิด ลองถูก มาเกือบ 10 ปี ที่จะให้ความรู้กับสังคมไทยในเรื่องสื่อสาธารณะ ให้ประชาชนตื่นรู้และเห็นความสำคัญที่สังคมนี้จะต้องมีสื่อสาธารณะ ที่ปลอดจากการแทรกแซงของการเมือง ทุนธุรกิจ บางเบาจากภาพเอ็นจีโอ แล้วก็ถึงเวลาที่พวกเขามีเหตุผล ข้ออ้างมากมายที่จะยึดคืนไป

ใครจะเป็นความหวังในการต้านทานอำนาจนอกระบบนี้ได้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1159 วันที่ 15 - 21 ธันวาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์