วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2561

เหตุผลสะพานอ้างแออัดแต่ถนนโล่ง ลานนาโพสต์ลงพื้นที่ ผู้ใหญ่บ้านยันชาวบ้านขอ

จำนวนผู้เข้าชม

เปิดเหตุผลขอสะพาน 8 ล้าน  อ้างจราจรแออัดในหมู่บ้าน สร้างแล้วชาวบ้านได้ประโยชน์ถึง 4,000 คน  ผู้ใหญ่บ้านเผยชาวบ้านต้องการจริง  ขณะที่ลงพื้นที่สำรวจเส้นทาง พบถนนโล่งใช้สัญจรได้ดี  มีเสียหายชำรุดบางส่วน

จากกรณีที่ลานนาโพสต์ได้นำเสนอข่าวโครงการสะพานเลี่ยงหมู่บ้านแก้ปัญหาการจราจรแออัดในหมู่บ้าน ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เชื่อมระหว่างบ้านสบจาง หมู่ 6  และบ้านทุ่งเลางาม หมู่ 9 ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง  สร้างเสร็จเมื่อกลางปี 2560 ที่ผ่านมา โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างจำนวน 7,950,000 บาท   แต่ปรากฏว่าหลังจากก่อสร้างเสร็จได้เพียงไม่นาน สะพานเกิดชำรุดบริเวณทางเชื่อมต่อระหว่างสะพานกับถนนทรุดลงไปประมาณ 15 เซนติเมตร   อีกทั้งเส้นทางดังกล่าว ก่อนจะไปถึงสะพานนั้นจะเป็นถนนดินลูกรังก่อน และจะพบกับถนนคอนกรีตยาวประมาณ 5 เมตร ก่อนจะถึงตัวสะพาน เมื่อข้ามสะพานไปยังบ้านทุ่งเลางามนั้น ก็จะพบกับทางคอนกรีตอีกประมาณ 5 เมตร จากนั้นก็จะเป็นเส้นทางถนนดินผ่านกลางทุ่งนา และจะเป็นเส้นทางแคบลงหรือที่เรียกว่าทางเกวียน วิ่งได้เฉพาะรถจักรยานยนต์และเกวียนเท่านั้น และปัจจุบันไม่มีรถสัญจรผ่านไปมาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ลานนาโพสต์ได้ยื่นขอตรวจสอบเอกสาร การเสนอโครงการสะพานเลี่ยงหมู่บ้านแก้ปัญหาการจราจรแออัดในหมู่บ้านตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เชื่อมระหว่างบ้านสบจาง หมู่ 6  - บ้านทุ่งเลางาม  หมู่ ตำบลนาสัก  อำเภอแม่เมาะ  จังหวัดลำปาง   การอนุมัติโครงการและผลการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างละเอียด ไปยังกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งเป็นเจ้าของงบประมาณในการก่อสร้าง รวมไปถึงขอสำเนาสัญญาการก่อสร้างโครงการสะพานเลี่ยงหมู่บ้านแก้ปัญหาการจราจรแออัดในหมู่บ้านตำบลนาสักฯ และรายละเอียดการดูแลบำรุงรักษาสะพานหลังจากการก่อสร้างไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ  โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540      

จากข้อมูลการเสนอโครงการ และที่มาของโครงการก่อสร้างสะพานเลี่ยงหมู่บ้านฯ ผู้เสนอโครงการได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจาก ต.จางเหนือ กับ ต.นาสัก ทำพื้นที่การเกษตรเป็นส่วนใหญ่ เวลาชาวบ้านขนย้ายพืชผลทางการเกษตร เดินทางผ่านกลางหมู่บ้านสบจาง-ทุ่งเลางาม ทำให้ถนนในหมู่บ้านพังชำรุด จึงมีความจำเป็นในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อสร้างสะพานคอนกรีตข้ามแม่น้ำจางเลี่ยงหมู่บ้าน เพื่อลดอุบัติเหตุและถนนสึกหรอ

วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อลดอุบัติเหตุในชุมชน ถนนในชุมชนใช้งานได้ยาวนานขึ้น ลดงบประมาณในการซ่อมแซมถนน  ลดระยะทางในการขนย้ายพืชผลผลิตทางการเกษตร และทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชาวบ้านทั้งสองตำบลจะได้ประโยชน์จากความสะดวกสบายในการเดินทางเข้าตัวอำเภอ ลดค่าใช้จ่ายมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีชาวบ้านที่ได้รับผลประโยชน์จากทั้งสองตำบลรวม 4,000 คน  หลังจากเสร็จโครงการ ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านรับเป็นผู้ดูแลร่วมกัน

เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 61 ที่ผ่านมา ลานนาโพสต์ได้ลงพื้นที่บ้านสบจาง หมู่ 4 ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อสำรวจโครงการก่อสร้างต่างๆ ตามงบประมาณของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ พบว่า ถนนหนทางและการสัญจรภายในหมู่บ้านมีความเรียบร้อยดี ไม่การการจราจรแออัด และไม่พบรถขนย้ายสิ่งของทางการเกษตรวิ่งผ่านเข้าออกจำนวนมากแต่อย่างใด

จากการสอบถาม นางพรรณวิไล จันมะโน ผู้ใหญ่บ้านสบจาง หมู่ 6  กล่าวยืนยันว่า โครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าว เป็นความต้องการของชาวบ้านจริง เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงเส้นทางขนย้ายพืชผลทางการเกษตรผ่านในหมู่บ้าน แต่เนื่องจากไม่ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นในการก่อสร้างถนนหนทาง จึงทำให้ไม่มีถนนเชื่อมต่อไปได้ ถนนที่จะไปยังตัวสะพานก็ยังเป็นถนนลูกรังอยู่   และคอสะพานก็มีการชำรุด ปัจจุบันไม่ได้มีการใช้งานสะพานดังกล่าว          

สำหรับสัญญาการก่อสร้างโครงการสะพานเลี่ยงหมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหาการจราจรแออัดฯนั้น  บริษัท ที ซี เอ็ม เอ็ม จำกัด  ตั้งอยู่ หมู่ 6 ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นผู้ประมูลจัดซื้อจัดจ้างได้ ในวงเงินงบประมาณ 7,950,000 บาท   เริ่มก่อสร้างวันที่ 15 มิ.ย.59  ถึงวันที่ 11 ธ.ค.59 เมื่องานเสร็จแล้ว หากเกิดความชำรุดเสียหายผู้รับจ้างจะต้องดูแลซ่อมแซมภายในเวลา 2 ปี 

กรณีคอสะพานชำรุดเสียหาย ทางกองช่าง อบจ.ลำปางได้เข้าตรวจสอบและพบว่ายังอยู่ระหว่างการประกันสัญญา 2 ปี  จึงได้ทำหนังสือไปถึง บริษัท ที ซี เอ็ม เอ็ม จำกัด  เมื่อวันที่ 19 พ.ย.60 ให้เข้าดำเนินการซ่อมแซมคอสะพานทั้งสองฝั่งที่เกิดการทรุดตัว ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1162 วันที่ 12 - 18 มกราคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์