วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2561

เที่ยวท้องถิ่น คนอยู่-คนเที่ยว : ความสุขที่ยังไม่ลงตัว

จำนวนผู้เข้าชม Counter for tumblr

ได้ข่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดแคมเปญ “Amazing Thailand Go Local-เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต” ขานรับนโยบายรัฐบาลปลุกกระแสท่องเที่ยวเมืองรอง หลัง ครม. ประกาศลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง 15,000 ตลอดปี พ.ศ. 2561 (เมืองรองที่ว่านั้น รวมลำปางบ้านเราด้วย)

นอกจากนี้ ททท. ยังมีแผนที่จะจัดทำหนังสือคู่มือแนะนำเส้นทางท่องเที่ยว พร้อมรายชื่อผู้ประกอบการ ที่พัก โรงแรม โฮมสเตย์ ที่สามารถนำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีได้ โดยคาดว่าจะสามารถแจกแก่นักท่องเที่ยวที่สนใจได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ในวันที่กระแส Go Local กำลังแรง เราเพิ่งได้อ่านบทความเกี่ยวกับบ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ (จังหวัดเชียงใหม่ไม่ใช่เมืองรอง เป็นเมืองหลัก) แต่ก็นั่นแหละ ตอนนี้ชาวบ้านผู้อยู่อาศัยจริง ๆ กำลังทุกข์หนักจากปัญหารถติดยาวนับ 10 กิโลเมตรในช่วงวันหยุดยาว ปัญหาที่จอดรถ ความแออัดของผู้คน ปัญหาขยะกองโต และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องแลกกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่พุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด อันเป็นผลมาจากการชิม ช็อป และแชร์ทางสื่อโซเชียล ไม่ว่าร้านอาหาร ที่พัก หรือร้านกาแฟ ซึ่งส่วนหนึ่งดำเนินการโดยคนนอกชุมชน ผุดขึ้นราวดอกเห็ด

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2542 บ้านแม่กำปองเพิ่งจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว ต่อมาวินิจ รังผึ้ง นักเขียน-ช่างภาพ ได้เขียนถึงบ้านแม่กำปองไว้ในอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับมิถุนายน  2544 โดยบรรยายไว้ว่า “หมู่บ้านแม่กำปอง ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่กลางหุบดอย ด้านซ้ายเป็นเทือกดอยแม่ลาย ขวามือของถนนเป็นดอยแม่รวม สองเทือกดอยสูงชันขนาบหมู่บ้าน มีสายธารลำน้ำแม่กำปองไหลผ่านกลางหุบดอยและกลางหมู่บ้าน บ้านเรือนปลูกกันเป็นกลุ่มไล่ระดับลดหลั่นตามความสูงของสันดอย ลักษณะเป็นบ้านไม้ทาสีน้ำตาล หลังคากระเบื้องสีเทาดำ ดูกลมกลืนกับธรรมชาติ บ้านแต่ละหลังใหญ่โตกว้างขวางและดูมั่นคง บ่งบอกถึงความอยู่ดีกินดีของชาวแม่กำปองได้เป็นอย่างดี ด้วยทำเลที่ตั้ง ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาที่มีความสูงเฉลี่ยราว 1,300 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง อากาศจึงเย็นสบายตลอดทั้งปี และค่อนข้างจะหนาวจัดในฤดูหนาว ชาวบ้านแม่กำปองจึงมีอาชีพที่เหมาะสมในการทำสวนเมี่ยงและไร่ชา กาแฟ ซึ่งได้ผลดียิ่ง

“นักท่องเที่ยว หรือคนต่างถิ่น หากแวะเข้ามาเยี่ยมเยือนบ้านแม่กำปองในช่วงกลางวัน อาจจะพบว่า บ้านเรือนแต่ละหลังปิดเหมือนไม่มีคนอยู่ เพราะในแต่ละวันชาวบ้านจะขึ้นดอยเข้าสวนไปเก็บใบเมี่ยง...” อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็คิดว่า นี่คือบ้านเล็กในป่าใหญ่ชัด ๆ

วินิจเล่าต่อว่า “หมู่บ้านแม่กำปองนี้ได้เปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีบริการที่พักแบบโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวที่สนใจท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา ได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่พื้นบ้านแบบไทย ๆ ของหมู่บ้านบนดอยสูง การเข้าไปพักลักษณะนี้ นักท่องเที่ยวต้องมีใจรักที่จะเข้าไปศึกษา มีความเคารพให้เกียรติเจ้าของบ้านที่ไปพัก พร้อมทั้งปฏิบัติตัวตามกฎเกณฑ์ของหมู่บ้านอย่างเคร่งครัด  ซึ่งทางกรรมการหมู่บ้าน ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ วางระเบียบการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ของบ้านแม่กำปองไว้ โดยที่ผู้สนใจจะต้องติดต่อแจ้งความประสงค์ พร้อมทั้งข้อมูล วัน เวลา รายชื่อ จำนวนผู้เข้าพัก และที่อยู่ที่สามารถติดต่อกลับได้ เพื่อกรรมการจะได้พิจารณาเตรียมการรับรองเรื่องอาหารและโปรแกรมนำชมหมู่บ้านล่วงหน้า พร้อมทั้งตรวจสอบว่า ควรจะตอบรับบริการหรือไม่ จึงจะมีการตอบรับเป็นทางการอีกครั้ง ไม่ใช่ว่าใครมีเงินแล้วจะขับรถเข้าไปเสียเงินใช้บริการได้เลย  เพราะอาจจะเข้าไปสร้างปัญหากับหมู่บ้านได้”

จะเห็นว่า เมื่อ 17 ปีก่อนนั้น บ้านแม่กำปองวางแนวทางรับนักท่องเที่ยวไว้อย่างชัดเจน จากบทความของวินิจเรามองถึงอนาคตได้เลยว่า หมู่บ้านนี้ต้องมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนแน่ ๆ แต่แล้วทำไม ทุกวันนี้บ้านแม่กำปองจึงต้องประสบปัญหาอย่างที่กล่าวมากันเล่า เรื่องนี้คนในพื้นที่ รวมทั้งนักท่องเที่ยวอย่างเรา ๆ คงรู้อยู่แก่ใจ

ก่อนออกเดินทางตลอดปีนี้ นอกจากจะเช็คกันให้ดี ๆ ว่าเที่ยวเมืองรองมีจังหวัดไหนบ้าง เพื่อจะได้ไม่ลืมขอใบเสร็จ ใบกำกับภาษีมาด้วยทุกครั้ง ก็ยังอยากให้ Go Local กันแบบระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันสุขสงบของชุมชนท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ชุมชนเองก็ต้องคิดรอบด้านว่า คุ้มค่าหรือไม่ที่จะเปิดบ้านรับแขกผู้มาเยือน เพราะความสุข ความเป็นส่วนตัวส่วนหนึ่งต้องเสียไปอย่างแน่นอน
           

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1162 วันที่ 12 -18 มกราคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์