เมื่อสัก 6 ปีก่อน คนลำปางหลายคนคงพอนึกออกว่าข้างวัดสวนดอกนั้น
มีห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่งแทรกตัวอยู่ติดกับรั้วโรงแรม ด้านหน้าริมถนนจะมีรถเก๋งรุ่นเก่า
ๆ อย่างนิสสันบลูเบิร์ด ฟอร์ด คอติน่า โตโยต้า โคโรล่า จอดอยู่
หรือหากย้อนไปไกลกว่านั้น คนรุ่นก่อนคงเคยเห็นฟอร์ด แวเลียนต์ โฮลเด้น โตโยต้า
คราวน์ นิสสัน 260 C หรือแม้แต่โตโยต้า โคโรน่า (โตโยเป็ด)
คันใหญ่ ๆ ขุมพลังขนาด 2,800 ซีซี
ซึ่งเหมาะสำหรับบุกบั่นไปบนถนนลำปาง-เชียงใหม่ในยุคที่เพิ่งเริ่มจะตัดเส้นทาง
ราวปี พ.ศ. 2500 ช่วงที่เริ่มมีการตัดถนนจากลำปางไปเชียงใหม่
พันโท ประชุม มานะจรรยาพงศ์ ได้จัดตั้งคิวรถแท็กซี่ลำปาง-เชียงใหม่ขึ้น
ด้วยเล็งเห็นว่าในขณะนั้น การเดินทางจากลำปางไปเชียงใหม่เป็นเรื่องยากลำบาก การมีแท็กซี่วิ่งให้บริการเส้นทางนี้น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งให้คนลำปางไปเชียงใหม่ได้อย่างสะดวกสบายขึ้น
แม้จะต้องวิ่งบนทางสองเลนและบางช่วงยังเป็นลูกรัง
แต่แท็กซี่ลำปาง-เชียงใหม่ก็ได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยนั้น ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงครึ่ง ค่าโดยสารคนละ 15 บาท
ทนเบียดกันหน่อยใคร ๆ ก็ยอม
ปี พ.ศ. 2555 ธุรกิจรถแท็กซี่ลำปาง-เชียงใหม่เริ่มสั่นคลอนแล้ว
จากที่เคยมีรถเป็นร้อย ๆ คันช่วงที่เคยฟู่ฟ่า กลับเหลืออยู่เพียง 10 กว่าคัน คนขับรถพากันพูดว่า หมดรุ่นนี้ไปก็คงหมดกัน
ต้นปี พ.ศ. 2561
เช้าวันหนึ่งเราแวะไปที่ห้องเล็ก ๆ ข้างวัดสวนดอก ไร้เงาผู้เฒ่าวัย 70 กว่า คนขับแท็กซี่ที่มากประสบการณ์ ม้านั่งยาว
ซึ่งเนื้อไม้เป็นมันเงาบ่งบอกว่ามันเคยถูกใช้งานมานักต่อนักหายไปแล้ว และแน่นอน...ไม่มีรถจอดอยู่สักคัน
ชายคนหนึ่งละลายตาจากจอโทรทัศน์ ลุกขึ้นยืนอย่างกระตือรือร้นขณะเราถามถึงผู้เฒ่าที่เคยขับแท็กซี่ลำปาง-เชียงใหม่กับรถคู่ชีพของพวกเขา
“โอย...หายไปนานแล้วครับ” เขาพูดพลางยิ้ม
“เดี๋ยวนี้เป็นแท็กซี่มิเตอร์กันหมดแล้ว”
เขาคือหนึ่งในคนขับรถแท็กซี่มิเตอร์
ที่บังเอิญวันนี้มาอาศัยห้องเล็ก ๆ ที่ทรุดโทรม เพื่อรอเวลาไปทำธุระ “ปกติห้องนี้จะปิดไว้
ไม่มีคนเฝ้าเหมือนเมื่อก่อน คิวแท็กซี่ไม่มีหรอกครับ
เพราะเราใช้วิธีฝากเบอร์ไว้ตามโรงแรม ถ้ามีลูกค้าทางโรงแรมก็จะโทรฯ ตาม
หรือไม่แต่ละคันก็มีลูกค้าประจำของตนเองทั้งนั้น” เขาว่า
คิวแท็กซี่ลำปาง-เชียงใหม่เป็นอันว่าสูญสลายไป
คนขับแท็กซี่หนุ่มบอกว่า ไม่มีใครโฟกัสไปที่ปลายทางเชียงใหม่อีกแล้ว เพราะทุกวันนี้ใคร
ๆ ก็ไปเชียงใหม่ได้อย่างสะดวกง่ายดายด้วยรถส่วนตัว
อีกทั้งรถสาธารณะก็มีให้เลือกมากมาย แท็กซี่ต้องสามารถไปได้ทุกที่แล้วแต่ลูกค้าจะว่าจ้าง
แล้วอีกอย่างแต่ละคันก็ไม่สังกัดบริษัทใด ต่างคนต่างขับรถของตนเอง
มีลูกค้าของตนเอง จะมีกลุ่มบ้างก็เพียงรวมตัวกันแบบหลวม ๆ
ซึ่งกลุ่มของเขามีกันอยู่ 4-5 คันเท่านั้น
และส่วนใหญ่ประจำการกันอยู่ที่สถานีขนส่งลำปาง ส่วนกลุ่มอื่น ๆ
เป็นอย่างไรเขาไม่รู้จริง ๆ
ทุกวันนี้แท็กซี่ลำปางมีอยู่ราว 12-13
คัน ต่างก็ใช้วิธีโทรฯ เรียกเพื่อใช้บริการ
ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มักจะเหมาไปตามสถานที่ต่าง ๆ
เราออกจากห้องเล็ก ๆ นั้น นึกถึงบรรยากาศเดิม
ๆ ผู้โดยสารนั่งรอเวลาบนม้านั่งยาวตัวเดิม แล้วยังมีสัมภาระกองพะเนินเทินทึกรอไปส่งยังปลายทางเชียงใหม่นั่นอีก
คนขับวัยเก๋าผู้ชำนาญเส้นทาง ขับรถมาครึ่งค่อนชีวิต พวกเขาไปอยู่ไหนกันหมดแล้ว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1164 วันที่ 26 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น