วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2561

ใกล้ตา ไกลใจ เมื่อสื่อท้องถิ่น ถูกมองข้ามหัว

จำนวนผู้เข้าชม Counter for tumblr

วามวุ่นวายในเรื่องประมูลงาน น้อมรำลึกสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คงยังต้องพิสูจน์ความจริงกันอีกพักใหญ่ แต่ก็เป็นธรรมดาของการประมูล จัดซื้อ จัดจ้าง ที่ย่อมมีผู้สมหวังและผิดหวัง ในบางกรณีผู้ที่พลาดการประมูลงาน ก็อาจมีข้อมูล มีความเห็น มีความรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม

และในหลายกรณีการจัดซื้อ จัดจ้าง ก็มีเกณฑ์คุณภาพ เป็นตัวชี้วัด ว่าบริษัทผู้เข้าประมูลงานรายใด สมควรจะได้รับความไว้วางใจหรือไม่ มิใช่เพียงจำนวนเงินประมูลเพียงอย่างเดียว เรื่องแบบนี้ “ม้าสีหมอก” ไม่เข้าใคร ออกใคร สำคัญคือทุกฝ่ายต้องคลี่ความจริงออกมาให้เห็นทุกแง่ ทุกมุม เพื่อให้สังคมเขาตัดสินเอง

แต่ที่น่าสนใจ และควรจะพูดถึง โดยอาจใช้ งานสมเด็จพระนเรศวร เป็นกรณีศึกษา ก็คือการโฆษณา ประชาสัมพันธ์งาน ซึ่งในปีนี้ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในทีโออาร์ เพราะมีการร้องเป็นเหตุแทรกซ้อน  ซึ่งบริษัทผู้ประมูลงานได้ ก็ทำโฆษณาไปเท่าที่ทำได้ และยังถูกตัดงบโฆษณา ซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่า เมื่อเขาไม่ได้เป็นฝ่ายทำผิดเงื่อนไข เหตุใดจึงถูกตัดงบโฆษณา

และในกรณีนี้ก็ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งจังหวัดในฐานะเจ้าของงาน ก็น่าจะมีเหตุผลพอในการผ่อนปรน ไม่ต้องเคร่งครัดกับทีโออาร์

ย้อนกลับมาที่ทีโออาร์ ตั้งแต่ปีก่อนๆจนถึงปีล่าสุด มีคำถามตัวโตว่า ใครเป็นผู้กำหนดทีโออาร์ และผู้กำหนดทีโออาร์ตั้งใจจะบอกข่าวงานสำคัญเช่นนี้ เฉพาะคนต่างถิ่นหรือไม่ เป็นงานที่เจ้าของบ้านไม่จำเป็นต้องรู้ ไม่ต้องมางาน เพราะเขาเพียงยืมใช้สถานที่ สำหรับแขกต่างบ้าน ต่างเมืองเท่านั้น

นอกจากนั้น ทีโออาร์ยังบอกว่า คนกำหนดแผนไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องสื่อเลย เพราะถ้าไม่เปลี่ยนแปลงทีโออาร์ อีกกี่สิบชาติทีโออาร์นี้ ก็ไม่สามารถทำให้ถูกต้อง ครบถ้วนได้  

แผนการประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรม กำหนดว่าต้องมีการจัดทำสื่อเผยแพร่ทางสื่อสิ่งพิมพ์  สกู๊ปข่าวประชาสัมพันธ์เผยแพร่ทางวารสาร นิตยสาร อาทิ  ไทยรัฐ เดลินิวส์  ประชาชาติ แนวหน้า มติชน สยามบันเทิง

และหนังสือพิมพ์รายวันท้องถิ่น อย่างน้อย 5 ฉบับ ทั้งก่อนและหลังการจัดงาน รวมแล้วไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง   รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางสื่อวิทยุ พร้อมผลิต สปอตวิทยุ เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ความยาวไม่น้อยกว่า 30 วินาที จำนวน 1 เรื่อง

พร้อมออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงส่วนภูมิภาค หรือสถานีวิทยุท้องถิ่น หรือสถานีวิทยุชุมชน ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง ก่อนการจัดงานระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 วัน  และประชาสัมพันธ์ข่าวการจัดกิจกรรมผ่านเว็บไซต์ สื่ออินเตอร์เน็ต สังคมออนไลน์  จำนวนไม่น้อยกว่า 5 เว็บไซต์  ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง ก่อนและหลังการจัดงาน ระยะเวลา 5 วัน  โดยส่วนนี้ ตั้งงบประมาณในการดำเนินงานไว้ 300,000 บาท

จัดงานลำปาง ไปโฆษณากรุงเทพ ก็พอเข้าใจได้ เพราะถือเป็นงานระดับชาติ ที่ต้องการให้คนต่างถิ่นมาเยี่ยม มาเยือน เอาเงินทองมาใช้จ่ายที่นี่ แต่กับท้องถิ่นให้ทำสื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ในหนังสือพิมพ์ที่เป็นรายวันเท่านั้น แปลว่าขุดหลุมฝังหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลำปางไปเลย เพราะลำปางไม่มีรายวัน

ในประเทศไทย มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่เป็นรายวัน เพียง 3 ฉบับ คือ ไทยนิวส์ เชียงใหม่นิวส์ ที่เชียงใหม่ และเสียงใต้รายวันที่ภูเก็ต แปลว่า ทีโออาร์กำหนดสเป็คให้ไทยนิวส์ หรือเชียงใหม่นิวส์เท่านั้น เพราะคงไม่ไปโฆษณาไกลถึงหนังสือพิมพ์ภูเก็ต

งานใหญ่ งานน้อย ก็พึ่งพาแต่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ข่าวสาร ข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจในพื้นที่ก็อยู่ที่คนทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เฉพาะที่ลำปางต้องเรียกว่าเป็นตักศิลาของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เพราะเป็นจังหวัดที่ก่อเกิดหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับแรกของประเทศไทย อีกทั้งเป็นจังหวัดที่มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมากที่สุดในประเทศ

แต่คนลำปางด้วยกัน กลับมองข้ามคุณค่าเหล่านี้ ถึงเวลาใช้สอยฟรีๆก็เรียกใช้ แต่ถึงเวลาที่จะโฆษณา ประชาสัมพันธ์งานใหญ่ที่มีทุนสนับสนุนคนบ้านเดียวกัน ให้พอมีกำลังทำหน้าที่ตาม “อาชีวปฏิญาณ” กลับเขียนทีโออาร์ ให้เอาเงินไปแจกคนบ้านอื่น

ใกล้ตัว แต่กลับไกลใจ ใครจะช่วยให้สำนึกรักท้องถิ่น รู้สึกได้ถึงคุณค่าของคนบ้านเดียวกันสักครั้ง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1164 วันที่ 26 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์