วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

'ธนชัย'ปั้นเตามหาเศรษฐี ต่อยอดสร้างอาชีพให้ชุมชน

จำนวนผู้เข้าชม .

“ทุกวันนี้ผมก็เป็นปั้นเตามหาเศรษฐีเป็นอาชีพหลัก นอกจากนี้ยังเป็นวิทยากรสอนการปั้นเตาให้ทุกอำเภอ เพราะมันสร้างรายได้ได้ ทุกวันนี้ผมก็มีออเดอร์สั่งมาจนทำไม่ทัน”

 ธนชัย จาระณะ  อดีตรองนายก อบต.วอแก้ว อดีตรองนายก อบต. ฝันตัวเองมา เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ถ่ายทอดความรู้การผลิตเตาประหยัดพลังงานหลากหลายชนิด ดัดแปลงเตาอั้งโล่ที่มีประสิทธิภาพและอายุการใช้งานมากกว่าเตาอังโล่ปกติ 3-4 เท่าตัว โดยการสนับสนุนจากพลังงานจังหวัดลำปาง เข้ามาช่วยเหลือในด้านเทคนิคต่างๆจนสำเร็จ ยอดสั่งซื้อไม่ขาดมือ

ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานชุมชนตำบลวอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ซึ่งศูนย์แห่งนี้ได้ร่วมมือกับพลังงานจังหวัดลำปาง ได้คิดค้นเตาประหยัดพลังงานหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และครอบครัวของชาวบ้านในพื้นที่ เพราะนอกจากจะผลิตเตารูปแบบต่างๆเพื่อการจำหน่ายแล้ว  ยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้แก่ชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานได้อีกด้วย โดยเฉพาะ เตาซุปเปอร์อั้งโล่ หรือ เตามหาเศรษฐี เป็นที่สนใจมากเพราะมีการตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน ชุมชนต่างๆ เพราะในแต่ละชุมชน ทั้งที่อยู่ใน จ.ลำปางและต่างจังหวัด ยังมีการประกอบอาชีพ ซึ่งต้องอาศัยเตาปิ้ง-ย่าง หรือคนที่ต้องหุงหาอาหารโดยใช้เตาถ่านจากเศษไม้ไม่ใช้แล้วอยู่จำนวนมาก  ดังนั้น  เตา  เตาซุปเปอร์อั้งโล่ หรือ เตามหาเศรษฐี  จึงเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป เนื่องจากราคาไม่สูงเกินกำลัง และอายุการใช้งานยังยาวนานกว่าเตาอั้งโล่ที่ขายตามท้องตลาดมากถึง 3-4 เท่าตัว คือ เตาอั้งโล่ที่ขายตามท้องตลาดจะมีอายุการใช้งาน 1-2 ปี แต่ เตาซุปเปอร์อั้งโล่ หรือ เตามหาเศรษฐี มีอายุใช้งานถึง 5 ปี ถือว่าคุ้มค่าและคุ้มราคา

อดีตรองนายก อบต.วอแก้ว นายธนชัย จาระณะ  รับผิดชอบด้านพลังงาน และได้ผันตัวมาเป็นอาสาสมัครพลังงานจังหวัดลำปาง โดยอาศัยช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาหาความรู้ด้านพลังงานจากวัตถุดิบธรรมชาติ และนำมาใช้ประโยชน์ในชุมชน โดยดัดแปลงสิ่งของที่มีอยู่ง่ายๆ มาใช้ในครัวเรือนได้ เพื่อลดการใช้พลังงานจากภายนอก ซึ่งปัจจุบันได้เป็นประธานศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานชุมชนตำบลวอแก้ว ถ่ายทอดความรู้ให้กับหลายท้องถิ่นที่ได้เข้ามาศึกษาดูงาน

ประธานศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานชุมชนตำบลวอแก้ว กล่าวว่า  เตาซุปเปอร์อั้งโล่ที่ตนได้คิดค้นขึ้นมามีอยู่ 3 ประเภท คือ เตาถ่าน  เตาถ่านและฟืนหรือเตาทูอินวัน  และเตาชีวมวล  ซึ่งจะประหยัดพลังงาน และได้พลังงานเพิ่มขึ้นจากเตาทั่วไป 21 เปอร์เซ็นต์ ตั้งหม้อได้ตั้งแต่เบอร์ 16-32  คุณภาพคงทนถาวร  ใช้ถ่านเพียงเล็กน้อยแต่ความร้อนอยู่ในนาน ซึ่งทุกเตาจะมีจุดเด่นโดยเฉพาะรังผึ้งที่มีความหนา 1 นิ้ว  รูด้านบนจะเล็กส่วนด้านล่างจะใหญ่กว่านิดหน่อย มีการดูดอากาศได้ดี

เดิมผลิตเตาถ่านของกระทรวงพลังงานอยู่แล้ว แต่มีชาวบ้านมาขอให้พัฒนาแบบใช้ฟืนได้ จึงเป็นที่มาของเตาทูอินวัน ให้ชุมชนมีทางเลือก แต่หากจะใช้เป็นเตาถ่านอย่างเดียวก็ได้ เพียงแต่หาอิฐมอญมาปิดช่องด้านบนไว้เท่านั้น  หลังจากนั้นมีการประกวดคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ทางกระทรวงจึงให้หาแนวคิดและออกแบบเตาใหม่ จึงได้เป็น เตาอั้งโล่ชีวมวล ระบบก๊าซซิไฟเออร์ มีการเผาซ้ำ คือระบบขจัดควันขาว เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนามาจากเตาชีวมวลของกระทรวงพลังงาน ในรูปแบบของเตาอั้งโล่ โดยใช้ดินปั้นและนำมาเผา 30 ชั่วโมง ทนความร้อนสูง ดีกว่าโลหะเพราะการนำโลหะมาทำเตาชีวมวลต้องผ่านกระบวนการที่เป็นมลภาวะสะสมมากมาย แต่การใช้ดินมาปั้นและเผาจะได้เป็นอิฐทนไฟ ความร้อนเพิ่มขึ้นจากเดิม 30 เปอร์เซ็นต์  ใช้ก่อไฟได้หมดทุกอย่างในเตาเดียว และสามารถนำเอาเศษชีวมวลที่เผาไหม้แล้วไปทำถ่ายอัดแท่งได้อีกด้วย   

ซึ่งเตาประเภทนี้ได้ส่งประกวดในโครงการพลังงานบ้างทุ่งของกระทรวงพลังงานระดับประเทศ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  ซึ่งได้จดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว

สำหรับเตาซุปเปอร์อั้งโล่ จะมีอายุการใช้งานทนกว่าเตาปกติทั่วไป ซึ่งขายกันอยู่ที่ราคา 100 กว่าบาท  แต่ใช้งานได้ประมาณ 1 ปีก็แตกเสียหาย แต่เตาซุปเปอร์อั้งโล่นี้ราคาสูงขึ้นหน่อย เตาถ่าน 250 บาท  เตาทูอินวัน  300 บาท  และเตาชีวมวล 500 บาท แต่จากการทดลองแล้ว อายุการใช้งานสูงสุดได้ถึง 5 ปี ถึงจะมีรอยร้าวรอยแตกก็ยังใช้ได้อยู่สูงสุดนาน 7 ปี

นายธนชัยกล่าวถึงการต่อยอดในชุมชนว่า  ตนได้เป็นวิทยากรไปสอนการผลิตทุกอำเภอใน จ.ลำปาง รวมถึงต่างจังหวัดที่สนใจ  ไปมาแล้วมากกว่า 30 แห่ง  แต่จุดอ่อนที่พบคือมีปัญหาเรื่องการรวมตัว เช่น อุปกรณ์ต่างๆถ้า อบต.สนับสนุนมา จะนำมาทำที่บ้านก็ไม่ได้ ต้องมีกลุ่มรวมกันไปทำที่ อบต. สุดท้ายก็ไม่มีใครอยากจะไป รวมทั้งจากประสบการณ์ที่ทำมาจะเห็นว่าถ้าทำเองในครัวเรือนจะดีกว่า แต่ถ้าอยากทำจริงๆขอให้รวมกลุ่มกันอย่างน้อย 3 คน และขอให้มีความแข็งแรง มีความร่วมมือกัน มีความจริงใจและตั้งใจก็จะทำได้ ซึ่งตนพร้อมที่จะถ่ายทอดวิชาให้กับชุมชนอย่างเต็มที่


(หนังสือพิมพ์ล านนาโพสต์ ฉบับที่ 1167 วันที่ 16 - 22 กุมภาพันธ์ 2561)


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์