วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

Public Figure ความสับสน และความเสื่อมของรัฐบาลทหาร

จำนวนผู้เข้าชม Counter for tumblr

ต้องบันทึกไว้ในหลักศิลาว่า นักการเมืองที่มาจากทหาร และสับสนในสถานะตัวเองว่าเป็นนักการเมืองหรือไม่ หรือเป็นอัศวินม้าขาวเข้ากอบกู้สถานการณ์ชั่วครั้งชั่วคราว หมดหน้าที่แล้วก็ไป ดังนั้น จึงไม่ทันได้ส่องกระจกชะโงกดูเงาตัวเองว่า นี่คือนักการเมือง คือบุคคลสาธารณะ ที่มีสถานะแตกต่างจากคนทั่วไป

ตรรกะเรื่อง “นาฬิกายืมเพื่อน” ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน คือตรรกะเพี้ยน และอาจสร้างความงุนงงสงสัยให้กับ ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการนิด้าว่า นิด้าโพล ที่แสดงข้อมูลความเชื่อ หรือไม่เชื่อในนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร ว่ายืมเพื่อนมาหรือไม่ เป็นเรื่องชี้นำสังคม ทั้งที่เป็นผลโพลที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อถือในบุคคลสาธารณะ

หาก ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ เข้าใจว่าผลโพล ซึ่งได้แสดงระเบียบวิธีไว้ชัดเจน เป็นความเสียหายกับสถาบัน ก็ควรรับรู้ว่า นั่นกลับเป็นการลดทอนเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความสง่างามของลูกผู้ชายชาติทหารชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

กล้าทำ ก็ต้องกล้ายอมรับ และต้องยอมเปียกปอน เมื่อตัวเองมายืนอยู่ในบทบาท “บุคคลสาธารณะ”
นี่คือหลักคิดที่แสดงถึงความกล้าหาญทางวิชาการ และต้องรับได้กับผลโพลของ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ที่การปิดกั้น กลับกระตุ้นให้คนสนใจโพลมากขึ้น และไม่ควรกังวลว่า สังคมข้างนอกจะคล้อยตามผลโพลครั้งนี้ เพราะหากท่านยังตีนไม่ลอย ก็ต้องรู้ว่านี่คือความเชื่อพื้นฐานของชาวบ้านทั่วไปอยู่แล้ว

ข้อมูลเชิงสถิติ มีขึ้นก็เพียงยืนยันว่า อารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้าน ที่ฟังคำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรรณ แล้ว เหมือนพวกเขากินแกลบไม่ได้กินข้าวนั้น มีนัยสำคัญที่บุคคลสาธารณะที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต้องใคร่ครวญ

สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะกลัวอำนาจ สถาบันการศึกษาเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะกลัวอำนาจแต่อธิบายไปอีกทางหนึ่ง มันก็คือความเลวร้ายไม่ต่างกัน ปรากฏการณ์เรื่องนาฬิกายืมเพื่อนครั้งนี้ ทำให้คนในรัฐบาล และสังคมทั่วไป จะต้องเรียนรู้และเข้าใจเรื่องบุคคลสาธารณะมากขึ้น

ความเป็น บุคคลสาธารณะหรือ Public Figure นั้น มีสถานะแตกต่างจากบุคคลทั่วไป คนที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ถือเป็นนักการเมือง และจัดอยู่ในประเภทบุคคลสาธารณะ ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่

เมื่อเป็นบุคคลสาธารณะแล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครองในความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าบุคคลอื่น เพราะความเป็นส่วนตัวที่มิใช่เรื่องส่วนตัวโดยแท้ เช่น เรื่องภายในครอบครัวของเขา อาจเป็นเรื่องส่วนตัวที่มีประเด็นเชื่อมโยงกับประโยชน์สาธารณะ เช่น เรื่องนาฬิกาของประวิตร วงษ์สุวรรณ การมีนาฬิการาคาแพงไว้ในครอบครอง เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่เมื่อนาฬิกาหลายเรือนนั้น เป็นทรัพย์สินที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ประเด็นส่วนตัวก็เป็นประเด็นสาธารณะ ที่จะอ้างความเป็นส่วนตัวไม่ได้

หากพล.อ.ทั้งสอง ประยุทธ์ จันทร์โอชา และประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังไม่เข้าใจว่าตัวเอง คือ บุคคลสาธารณะที่จะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทั้งในเรื่องการเมือง และเรื่องส่วนตัว ก็เฝ้ารอจุดจบของเขาว่าจะเป็นอย่างไร

วันนี้อำนาจคับฟ้า ปิดปากสื่อให้พูดไม่ได้เต็มคำ อำนาจทำให้สถาบันการศึกษาหวาดกลัว แต่อำนาจที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักนิติธรรม คือความเป็นธรรมตามกฎหมายนั้น จะต้องถูกท้าทาย และสู้กันถึงที่สุด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1165 วันที่ 2 - 8 กุมภาพันธ์ 2561)


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์