อธิบดีกรมส่งเสริมฯสั่งตรวจสอบกองทุนทั่วประเทศ
หลังพบทุจริตเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลตำบลแม่เมาะ ล่องหนกว่า 3 ล้าน
พบเซ็นเบิกเงินผิดระเบียบตั้งแต่ปี 57-59 นิติกรเข้าแจ้งความเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง และส่ง กทจ.ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย
ด้านพนักงานสอบสวนเร่งรวบเอกสารส่ง ป.ป.ช.ฟัน
เมื่อวันที่
2 มี.ค.61 ที่ผ่านมา นายเอกชัย คำใส นิติกรชำนาญการ
เทศบาลตำบลแม่เมาะ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พ.ต.ท.ยงศักดิ์ มาวงษ์ หัวหน้าพนักงานสอบสวน
สภ.แม่เมาะ
เพื่อเอาผิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกรณีงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพของเทศบาลตำบลแม่เมาะ
หายไปกว่า 3 ล้านบาท ในช่วงปี 2557-2559
โดยในเบื้องต้นได้มีการแจ้งความดำเนินคดี รวม 6
คนด้วยกัน
ทั้งนี้
สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเดือน ธ.ค.59 ทางเทศบาลตำบลแม่เมาะ
ได้ดำเนินการตรวจสอบพบความผิดปกติทางการเงินของบัญชีระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นเทศบาลตำบลแม่เมาะ
พบว่ามีการเบิกถอนเงินสดในบัญชีธนาคารของกองทุนฯ
เกินงบประมาณของระเบียบกองทุนกำหนดไว้ ซึ่งระเบียบของกองทุนฯ
ผู้มีอำนาจการสั่งจ่ายเบิกถอนเงิน ต้องเบิกถอนได้ไม่เกิน 5,000 บาท และจะต้องลงนามผู้มีอำนาจเบิกจ่าย 2 ใน 4 คน
แต่พบว่ามีการเบิกถอนเงินตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.57 ถึงวันที่ 4 ก.ย.59 มากกว่า 30 ครั้ง ซึ่งการถอนแต่ละครั้งจะมียอดเงินอยู่ระหว่าง 20,000-80,000 บาท รวมเป็นเงินกว่า 3 ล้านบาท
หลังจากพบความผิดปกติเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในจึงได้แจ้งให้นายกเทศมนตรีทราบ
จากนั้นเดือน ม.ค.60 ทางเทศบาลตำบลแม่เมาะ
จึงได้รายงานไปยังอำเภอและจังหวัด
เพื่อขอให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น
หากนายกเทศมนตรีเป็นผู้สั่งแต่ตั้งคณะกรรมการและเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยสั่งการในรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริง
ย่อมถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีดังกล่าว
และอาจทำให้การสอบสวนข้อเท็จจริงไม่โปร่งใส
เนื่องจากนายกเทศมนตรีได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นเทศบาลตำบลแม่เมาะ
นางวิลาวรรณ
สุวรรณสา นักวิชาการตรวจสอบภายในชำนาญการ เปิดเผยว่า ในปี 58 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของเทศบาลตำบลแม่เมาะ
ได้มีการวางแผนตรวจสอบระบบการจ่ายเงินของหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นเทศบาลตำบลแม่เมาะ
แต่ในปีนั้นก็ไม่ได้มีการตรวจสอบ เนื่องจากทางกองสาธารณสุขฯ ขอเลื่อน และไม่ส่งเอกสารมาให้
จึงได้ขอตรวจสอบอีกครั้งในปี 59 โดยขั้นตอนการตรวจสอบจะมีแผนการปฏิบัติงานประจำเดือนที่ได้รับการอนุมัติจากนายกเทศมนตรี
เพื่อแจกแจงให้ทุกกองว่าเราต้องการเอกสารไรบ้าง
โดยแต่ละกองจะต้องเตรียมเอกสารเพื่อรอรับการตรวจสอบ
โดยหลักแล้วจะมีการตรวจสอบตามเอกสาร
ถ้ามีการเบิกเงินออกไปเอกสารที่จะต้องมีคือ ตัวโครงการ รายงานการประชุม
หลักฐานการจ่ายเงิน และรายงานผลการดำเนินโครงการ เป็นต้น
แต่ที่พบคือเอกสารไม่ครบถ้วน เช่น ไม่มีตัวโครงการ ไม่มีหลักฐานการจ่ายเงิน
เมื่อร้องขอเอกสารเพิ่มเติมแต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ
จึงต้องทำการตรวจสอบตามรายการรายรับ-รายจ่ายของบัญชีธนาคาร โดยได้ทำเรื่องขอรายการบัญชีย้อนหลังไปทั้งหมด
3 ปี คือ ปี 57-59
และตรวจสอบย้อนจากรายการถอนเงินออกจากบัญชีว่าใช้จ่ายในด้านใดบ้าง และนำไปเทียบเคียงกับเอกสาร
แต่ปรากฏว่าไม่มีเอกสารหลักฐานที่ระบุได้ว่านำเงินไปใช้จ่ายอะไร นอกจากนั้นยังพบว่ามีการเบิกจ่ายเงินไม่ตรงตามระเบียบที่กองทุนกำหนดไว้
นางวิลาวรรณ กล่าว
สำหรับเรื่องนี้
ได้มีลูกจ้างของเทศบาลตำบลแม่เมาะรายหนึ่ง
เดินทางไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.แม่เมาะ เมื่อวันที่ 5 ม.ค.60 ว่า ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.57
ถึง วันที่ 21 พ.ย. 59 ผู้แจ้งให้รับมอบจากข้าราชการรายหนึ่งในเทศบาลให้ไปเบิกเงินและถอนเงินบัญชีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น
เทศบาลตำบลแม่เมาะ ต่อมาได้มีหน่วยงานตรวจสอบภายในพบว่าเงินในบัญชีหายไป
ตนได้ถูกบังคับให้รับสารภาพว่าเป็นผู้เอาเงินไปและให้นำเงินมาคืนรวบเป็นเงินจำวน
390,625 บาท ซึ่งผู้แจ้งเกรงว่าจะได้รับอันตรายเพราะถูกข่มขู่ว่าไม่ให้พูดเรื่องนี้กับผู้ใด
จึงมาลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ต่อมา เมื่อวันที่ 10 ม.ค.60 ลูกจ้างรายเดิมได้มาลงบันทึกประจำวัน
ว่าตนเองถูกข้าราชการรายเดียวกันบังคับให้ระบุชื่อของตนเองในเช็คบัญชีกองทุนฯ
จำนวน 5 ครั้ง และให้นำไปเข้าบัญชีธนาคาร
ธกส.แม่เมาะของตนเอง และให้ถอนเงินทั้งหมดไปให้ข้าราชการคนดังกล่าว
กระทั่ง
เมื่อเดือน พ.ย.60 จังหวัดลำปางได้แจ้งผลการสอบสวนข้อเท็จจริง เป็นหนังสือตอบกลับมายังเทศบาลตำบลแม่เมาะให้นิติกรดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี
กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว รวม 6 คน เนื่องจากพบว่ามีการทุจริตเงินกองทุนดังกล่าวจริง
นายเอกชัย
คำใส นิติกรชำนาญการ เทศบาลตำบลแม่เมาะ กล่าวว่า ขั้นตอนมี 3
แนวทาง คือ ส่วนของการดำเนินคดีทางอาญา
ได้ดำเนินการร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.แม่เมาะแล้ว
บุคคลที่เกี่ยวข้องยังคงเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา
ซึ่งเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องทำการสอบสวนว่าใครเป็นผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจนก่อน
ถ้าเข้าข่ายฐานความผิดการทุจริตตามกฎหมายของ ป.ป.ช.
พนักงานสอบสวนก็ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.กลางภายใน 30
วัน
และมีการตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนต่อไป
อีกขั้นตอนคือการเอาผิดทางวินัย
เรื่องนี้ทราบว่ามีการร้องเรียนทาง ป.ป.ช.ไปแล้วด้วย
ซึ่งเรื่องก็จะมาบรรจบกันที่ ป.ป.ช.
ขั้นตอนที่
2 คือ การเอาผิดทางวินัยในส่วนของข้าราชการ กระบวนการสอบสวนทางวินัย
เป็นอำนาจของนายกเทศมนตรี
แต่กรณีที่ผู้บังคับบัญชามีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย
จึงต้องส่งเรื่องให้ กทจ.พิจารณาคัดเลือกว่าใครจะเป็นคณะกรรมการสอบสวนวินัย
และส่งมาให้นายกเทศมนตรีแต่งตั้ง สัปดาห์หน้าจะเสนอแนวทางนี้ไปทางจังหวัดต่อไป และขั้นตอนที่
3 คือ เอาผิดทางละเมิด ตามกฎหมายผู้ว่าราชการจะเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้
แต่ทราบว่าทางจังหวัดได้หารือไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
เพื่อให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง นายเอกชัย นิติกรชำนาญการ กล่าว
ด้าน
พ.ต.ท.ยงศักดิ์ มาวงษ์
หัวหน้าพนักงานสอบสวน สภ.แม่เมาะ กล่าวว่า
ในเบื้องต้นทางนิติกรเทศบาลตำบลแม่เมาะ
ได้แจ้งความร้องทุกข์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวน 6 คน
แต่ยังไม่ได้ระบุว่ามีใครบ้าง
เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมหลักฐานเอกสารต่างๆ
ที่จะต้องนำมาส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวน
หากได้หลักฐานทั้งหมดแล้ว ทางพนักงานสอบสวนก็จะต้องรวบรวมนำส่งให้กับทาง
ป.ป.ช.พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้
จากกรณีที่เกิดขึ้นในเทศบาลตำบลแม่เมาะ
ทางอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้เทศบาลและ อบต.แห่งอื่นๆ ที่มีกองทุนในลักษณะเช่นนี้
ดำเนินการตรวจสอบว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งทางอธิบดีได้ติดตามข่าวสารและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน สำหรับการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ
ของปี 61
นายกฯได้สั่งการให้กองคลังเข้ามาดูแลเรื่องการเงินการบัญชีของกองทุนฯ ซึ่งเดิมกองสาธารณสุขจะดูแลรับผิดชอบเองทั้งหมด
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น