วันนี้ วันที่ 8 มีนาคม
พ.ศ. 2561 ใครจะขึ้นเครื่องไปกรุงเทพฯ ณ
สนามบินลำปางคงต้องนั่งรถไปขึ้นเครื่องที่สนามบินเชียงใหม่
เพราะสภาพอากาศขมุกขมัวจนไม่สามารถทำการบินได้
นับวันปัญหามลพิษทางอากาศยิ่งหนักหน่วง หมอกควันบ้านเรานั้น ไม่เพียงบดบังทัศนะวิสัย แต่ยังปกคลุมจิตสำนึกของคนต้นเหตุจนมืดมัว
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง สถานการณ์นี้ได้เผยให้เห็นความเสียสละอันยิ่งใหญ่เจ้าหน้าที่และจิตอาสา
ผู้ขะมักเขม้นบุกป่าฝ่าดงเข้าไปดับไฟป่าด้วยหัวใจที่น่ายกย่อง โดยเฉพาะกลุ่มมะค่าหลวงและเครือข่ายของพวกเขา
ซึ่งทำงานนี้มาอย่างยาวนานสม่ำเสมอ และอย่างเงียบ ๆ กระทั่งปีนี้ที่สถานการณ์หมอกควันรุนแรงจนผู้นำกลุ่มต้องออกมาเรียกร้องให้คนลำปางทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา
ลงมือทำอะไรสักอย่างดีกว่าเอาแต่พร่ำบ่น
มีภาพเผยแพร่ออกมาเป็นภาพเปรียบเทียบจุดความร้อนจากดาวเทียมที่รายงานโดย
NASA
ภาพหนึ่งใช้ระบบ MODIS พบจุดความร้อนในจังหวัดเชียงใหม่เพียง
3 จุด ขณะที่อีกภาพหนึ่งใช้ระบบ VIIRs แต่พบจุดความร้อนมากถึง
618 จุด ซึ่งเราจะเห็นว่า
ความต่างของ 2 ระบบนี้สูงมาก
การนับจุดความร้อนของภาครัฐเราใช้ภาพดาวเทียมจากระบบที่เรียกว่า
MODIS
เป็นตัวชี้วัดของแต่ละจังหวัดในการจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่า ซึ่งอาจจะได้ข้อมูลในการตัดสินใจเชิงนโยบายไม่เพียงพอ
เพราะปัจจุบันเชื่อไหมว่า
ชาวบ้านบางแห่งรู้แม้กระทั่งช่วงเวลาที่ดาวเทียมผ่านโซนประเทศไทย
จึงสามารถหลบเลี่ยงที่จะเผาในช่วงนั้น แล้วไปเผาช่วงเวลาอื่นแทน
(นี่ขั้นเทพขนาดนั้นจริง ๆ หรือ) ดังนั้น แม้ไม่มีจุดความร้อนในภาพถ่ายดาวเทียม
ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีหมอกควันเกิดขึ้น
นอกจากนี้ บางหน่วยงานยังคงเลือกใช้ PM
10 AQI รายงานถึงผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าที่จะกำหนดใช้ PM
2.5 AQI ซึ่งมีอันตรายมากกว่าหลายเท่า
มลพิษทางอากาศที่เรียกว่า Particulate
Matter ซึ่งเป็นวัตถุที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร (นักวิทยาศาสตร์เรียก PM 2.5)
หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 30 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์เท่านั้น
! มันจึงอันตรายมาก เพราะสามารถผ่านอวัยวะที่ทำหน้าที่กรองโดยธรรมชาติได้
หาก PM 2.5 ซึมเข้าผนังหลอดเลือดฝอยในปอด
ก็จะไหลตามระบบไหลเวียนต่าง ๆ ของร่างกาย ถ้ามีจุดอ่อนที่สมอง
เส้นเลือดในสมองอาจแตกได้ หรือหากมีจุดอ่อนที่เส้นเลือดหัวใจ
เส้นเลือดหัวใจอาจตีบได้
การเกิดของ PM 2.5 และ PM 10 (มีขนาด 10 ไมโครเมตร)
เกิดจาก 2 กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือ กระบวนการทางฟิสิกส์
ซึ่งเกิดจากลม หรือพายุพัดพาเอาฝุ่นละอองแล้วมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ
กับกระบวนการทางเคมีในอากาศ ซึ่งมีสารที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า การจราจร โรงงานอุตสาหกรรม และครัวเรือน เช่น
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โลหะหนัก ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนตรัสออกไซด์
รวมทั้งการทำปฏิกิริยาเคมีกันเองของสารเหล่านี้ในอากาศอีกด้วย
องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำว่า
ความเข้มข้นของ PM 2.5 ไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร (1 ไมโครกรัม เท่ากับ 1
ใน 1 ล้านกรัม) แต่จากรายงานพบว่า
มีประชากรเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ของโลกเท่านั้น
ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัยจากมลพิษดังกล่าว
สำหรับประเทศไทยเรามีมลพิษดังกล่าวสูงถึงประมาณ 3 เท่าของระดับในคำแนะนำ
การแก้ปัญหาด้วยการพ่นน้ำน่าจะช่วยให้อากาศสดชื่นสำหรับคนในบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น
เนื่องจากประสิทธิภาพการใช้น้ำจับฝุ่นขึ้นอยู่กับขนาดของละอองน้ำ
ละอองน้ำจากเครื่องพ่นน้ำทั่วไปอาจสามารถช่วยจับ PM 10 ได้มาก
แต่จะมีผลจับ PM 2.5 ได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์
ยังนึกไม่ออกว่า ปัญหาหมอกควันเมืองลำปางและเมืองอื่น
ๆ ทางภาคเหนือจะคลี่คลายไปในทิศทางไหน ระหว่างนี้ขอให้ทุกคนไปหาหน้ากาก N
95 หรือผ้าปิดจมูกชนิดกรองพิเศษ เพื่อป้องกัน PM 2.5 มาใส่อย่างพร้อมเพรียงก่อนก็แล้วกัน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1170 วันที่ 9 - 15 มีนาคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น