วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2561

สี่ล้อเล็กเล่าตำนาน 42 ปี รับใช้มั่นคง ส่งถึงปลายทาง

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

ในหมู่บ้านของเรา ไม่มีใครไม่รู้จักลุงเล็กกับรถมาสด้าแฟมิเลียคู่ใจของแก ไม่ว่าดึกดื่น หรือก่อนย่ำรุ่ง หากมีใครโทรศัพท์เรียกใช้บริการ ลุงเล็กไม่เคยเกี่ยง และพร้อมจะลุกจากที่นอนอุ่นๆ เพื่อมารับเราไปส่งยังจุดหมายปลายทางเสมอ

เรามักเห็นลุงเล็กในชุดเสื้อ-กางเกงขายาวสีน้ำเงิน ที่สำคัญก็คือ ขับรถอย่างคนที่เคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เราไม่รู้ว่าลุงเล็กยึดอาชีพนี้มากี่ปีแล้ว แต่เดาเอาว่า ชีวิตหลังพวงมาลัยของลุงนั้น น่าจะผ่านร้อนหนาวมายาวนานไม่น้อย เคยถามลุงเล็กเหมือนกันว่า ลุงเล็กมีวันหยุดไหม ชายชราร่างผอมตอบแต่เพียงว่า “ไม่มีวันหยุดหรอก เพราะอีกไม่นานก็คงจะหยุดยาวแล้วล่ะ” ถ้าลุงเล็กเลิกขับรถจริงๆ คนในหมู่บ้านเราก็แย่น่ะสิ

ในบรรดาคนขับรถสองแถวเล็ก หรือที่คนลำปางเรียกกันติดปากว่า “รถสี่ล้อ”  มีหลายคนอายุเกิน 60 ปี ทว่าก็ยังรักชีวิตอิสระบนท้องถนนเกินกว่าจะหันหลังให้อาชีพนี้ได้ ผู้เฒ่าเหล่านี้เมื่อถึงเวลาไปต่ออายุใบขับขี่ บางคนที่สมรรถภาพในการมองเห็นและร่างกายยังเอื้ออำนวยก็จะได้รับการอะลุ่มอล่วย ขณะบางคนเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งถึงกับต้องขอร้องให้เลิกขับรถเถิด เพราะลุงเหล่านั้นอายุ 70 กว่าปีเข้าไปแล้ว

นอกเหนือจากรถสี่ล้อของลุงๆ เหล่านี้แล้ว เมืองลำปางยังมีรถสี่ล้อวิ่งรับ-ส่งผู้คนในเมือง (รถสีเขียว-เหลือง) รวมแล้วมากกว่า 257 คัน แบ่งออกเป็น 3 สาย ได้แก่ สาย 5 (วงกลม-นาก่วมใต้) จำนวน 180 กว่าคัน สาย 6 (วงกลม-สถานีขนส่ง) จำนวน 42 คัน และสาย 7 (วงกลม-ประตูชัย) จำนวน 35 คัน ซึ่งแต่ละสายยังแบ่งเป็นรถวิ่งวนกับรถคิว ทั้งนี้ แต่ละสายจะมีหัวหน้าสายของตนเอง เพื่อคอยประสานงานระหว่างคนขับรถกับสหกรณ์เดินรถลำปาง จำกัด เพราะในแต่ละเดือนจะมีการประชุมแจ้งข่าวสารต่างๆ 

คนขับรถสี่ล้อทุกคนเป็นสมาชิกสหกรณ์เดินรถลำปาง จำกัด พวกเขามีสวัสดิการที่ดีจากสหกรณ์ฯ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ในการกู้เงิน การผ่อนชำระค่ายางรถยนต์ เงินปันผลในแต่ละปี ได้รับการดูแลในกรณีเจ็บป่วยและเสียชีวิต มีทุนสนับสนุนการศึกษาบุตร ฯลฯ

“ไม่เพียงคนขับรถสี่ล้อสีเขียวเหลืองนะครับ แต่ยังรวมถึงรถสี่ล้อที่วิ่งระหว่างอำเภอ รถตู้ รถแท็กซี่ ก็ขึ้นตรงกับสหกรณ์ฯ ทั้งหมด” สอน คำชาย ประธานกรรมการสหกรณ์เดินรถลำปาง จำกัด ให้ข้อมูล

“หากจะนับกันจริงๆ สหกรณ์เดินรถลำปาง จำกัด ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 โดยพ่อเลี้ยงป็อก ตอนนั้นอาจเป็นการรวมตัวกันแบบหลวมๆ แล้วมาจดทะเบียนในรูปแบบสหกรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2523 ” ประธานกรรมการฯ กล่าวเพิ่ม

“สมัยนั้นเมืองลำปางมีแต่รถเมล์คันใหญ่ วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารในเมืองไม่ค่อยสะดวก รถสองแถวเล็กจึงเกิดขึ้น แรกๆมี 100 กว่าคัน วิ่งทั้งต่างอำเภอและในตัวเมือง ยังไม่จัดแยกเป็นคิวเหมือนทุกวันนี้” เขาว่า

บทบาทของสหกรณ์เดินรถลำปาง จำกัด ไม่เพียงมอบสวัสดิการเพื่อดูแลคนขับรถ แต่ยังมีบทลงโทษที่เอาจริงกับคนขับรถผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง หรือวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ฯ ทั้งนี้ กฎเหล็กของสหกรณ์ฯ ก็คือ เน้นการบริการ โดยคนขับรถต้องมีมารยาททั้งคำพูดคำจาและการปฏิบัติตัวอย่างดีต่อผู้โดยสาร แต่งกายเรียบร้อยด้วยชุดเสื้อ-กางเกงสีน้ำเงิน และห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด

เรื่องที่มีคนร้องเรียนมากที่สุดคือเรื่องอะไร??

ส่วนใหญ่คือเรื่องการขับรถประมาทและเรียกเก็บค่าโดยสารแพงเกินเหตุ ซึ่งหากใครเจอพฤติกรรมเช่นนี้  สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ จดจำทะเบียนรถไว้ แล้วแจ้งมายังสหกรณ์ฯ โดยตรงที่โทรศัพท์ 0-5422-3431 ทางสหกรณ์ฯ จะลงโทษด้วยการตักเตือนก่อนในครั้งแรกและครั้งที่สอง แต่หากยังทำผิดอีกก็อาจลงโทษรุนแรงถึงขั้นไล่ออก และไม่มีสิทธิ์กลับมาขับรถรับจ้างได้อีกเลย แต่สำหรับความผิดโทษฐานดื่มสุราขณะขับรถ หรือลวนลามผู้โดยสารนั้น มีโทษสถานเดียวคือ ไล่ออก

ในยุคที่ใครๆก็มีรถส่วนตัวกัน รถสี่ล้อยังตอบโจทย์อยู่ไหม??

ประธานกรรมการฯ ยิ้มก่อนตอบว่า “ผมดูจากการชำระเงินกู้ของสมาชิกนะครับ ไม่มีใครขาดส่งเลย ทั้งยังมีคนขับนำรถรุ่นเก่าไปเปลี่ยนเป็นรถรุ่นใหม่ นั่นหมายความว่า รายรับของเขายังสม่ำเสมอ สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีคนใช้บริการรถสี่ล้ออยู่นั่นเอง”

ล่าสุดสหกรณ์เดินรถลำปาง จำกัด กำลังดำเนินการจัดทำจุดจอดรถสี่ล้อทั้งหมด 10 จุดในตัวเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ตลาดเก๊าจาว วัดท่าคราวน้อย สถานีตำรวจภูธร โรงเรียนอนุบาลลำปางฯ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม บริเวณช่อง 8 เก่า ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดทำป้ายจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร พร้อมเบอร์โทรศัพท์ของสหกรณ์ฯ เพื่อทางสหกรณ์ฯ จะได้ประสานงานกับคนขับรถว่าหากอยู่ใกล้จุดที่ผู้โดยสารโทรศัพท์มา ก็ให้ไปรับโดยเร็ว

ถึงแม้รูปแบบการให้บริการจะมีแนวโน้มพัฒนาไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น แต่เราหวัง และเชื่อว่าคนลำปางอีกมากก็คาดหวังในเรื่องที่เรียบง่ายที่สุด นั่นคือ มารยาทในการใช้รถใช้ถนนร่วมกันระหว่างรถสี่ล้อและยานพาหนะอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาคงต้องยอมรับความจริงว่า หลายคนเบือนหน้าหนี และต่างเข็ดหลาบกับการถูกโก่งราคา สะท้อนให้เห็นความไม่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตนเอง อีกทั้งลดทอนภาพลักษณ์ของรถสี่ล้อไปอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม การกู้คืนคงไม่ถึงกับยากนัก หากคนขับรถจะร่วมมือร่วมใจกัน เช่นนั้นเราเชื่อว่า รถสี่ล้อจะถึงจุดที่พัฒนาแล้วอย่างแท้จริง

                                                                                                             กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1171 วันที่ 16 - 22 มีนาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์