ใช่เพียงโบราณสถานในพระนครศรีอยุธยาที่มีผู้คนสนใจไปตามรอยละครบุพเพสันนิวาสกันจนเนืองแน่นเท่านั้น
แต่ยังมีคำพูดติดปากอย่างคำว่า “ออเจ้า” ให้พูดเล่นกันอย่างสนุกสนานทั่วแว่นแคว้น
บุญเตือน ศรีวรพจน์
ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสรรพนาม
“ออเจ้า” ว่า คำนี้ปรากฏในจดหมายเหตุลาลูแบร์ และปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 4 ในอักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2416 ทั้งยังปรากฏในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน โดยมีการใช้คำว่า “ออเจ้า”
และคำว่า “ออ” ในตอนพลายแก้วแต่งงานกับนางพิม กล่าวถึงช่วงที่นางทองประศรี
(มารดาของพลายแก้ว) นำผู้ใหญ่ไปสู่ขอนางพิมพิลาไลยกับนางศรีประจัน
(มารดาของนางพิม) ที่มีการใช้คำว่า “ออเจ้า” เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 (แทนนางศรีประจัน) กับบุคคลระดับเดียวกัน และใช้คำว่า “ออ”
นำหน้าชื่อเป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 (บุคคลที่ถูกกล่าวถึง) โดยเรียกพลายแก้วว่า
“ออแก้ว” ดังในบทเสภาว่า
“จะขอพรรณฟักแฟงแตงน้ำเต้า
ที่ออเจ้าไปปลูกในไร่ข้า
ทั้งอัตคัดขัดสนจนเงินตรา จะมาขายออแก้วให้ช่วงใช้”
ทั้งนี้
ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์วิเคราะห์ว่า “ออเจ้า” นั้น
ใช้กับบุคคลที่เสมอกันไปจนถึงบุคคลที่ต่ำกว่า หรืออ่อนกว่า ใช้เรียกได้ทั้งชายและหญิง
สำหรับคำว่า “ออ” ใช้เรียกผู้อื่นที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้า ส่วนใหญ่นิยมใช้ในคนชั้นสูง
ขณะเดียวกัน ด้านที่เกี่ยวกับล้านนาของเราก็คือ
ภูมิหลังของหลวงสรศักดิ์ หรือพระเจ้าเสือ ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า
พระองค์ท่านน่าจะเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับสนมชื่อพระนางกุสาวดี ธิดาของเจ้าเมืองเชียงใหม่
ในยุคนั้นคนอยุธยามองคนล้านนาว่าเป็นลาว และยังดูถูกว่าต่ำต้อย ภายหลังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงได้ยกพระนางกุสาวดีให้แก่พระเพทราชา
ทั้งที่ขณะนั้นพระนางทรงพระครรภ์แล้ว พระราชโอรสของพระนางกุสาวดีกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนี้
ก็คือพระเจ้าเสือ ซึ่งพระเพทราชาทรงเลี้ยงดูในฐานะบุตรบุญธรรม
กระทั่งพระเพทราชาได้ขึ้นครองแผ่นดินต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
และเมื่อพระเพทราชาเสด็จสวรรคต
พระเจ้าเสือก็ได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาพระนาม
“สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8”
นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่ง
เมื่อถึงวันละครฉาย ถนนหนทางจะโล่ง ผู้คนมารวมตัวกันอยู่หน้าทีวี ฟินและอินกับบทบาทของตัวละครตรงหน้า
ทั้งยังนำมาซึ่งปรากฏการณ์หลายอย่างที่พลิกโฉมสังคมไทยในชั่วข้ามคืน
ขอแนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่เราคิดว่าน่าสนใจ
ซึ่งจะทำให้การดูละครสนุกขึ้น เพราะความเข้าใจว่า “อ๋อ”
ที่เป็นเช่นนั้นเช่นนี้เพราะ...ไม่ใช่ “เอ๊ะ” อะไรยังไง เช่น “การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์” “วัด-เจดีย์
ในและนอกกรุงศรีอยุธยา” และ “หอกข้างแคร่
บันทึกการปฏิวัติในสยามและความหายนะของฟอลคอน”
เล่มนี้เป็นบันทึกที่แปลจากฉบับลายมือเขียนของพันตรี โบชอง นายทหารฝรั่งเศส ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส
สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองละโว้ในช่วงการปฏิวัติสมเด็จพระนารายณ์อย่างตรงไปตรงมา
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น