ปรากฏการณ์ความขัดแย้งเรื่อง
สลากกินแบ่ง 30 ล้าน
อาจเป็นการให้ความรู้ด้านกฎหมายกับประชาชน
โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ฝากความหวังไว้กับกองสลาก ทุกวันที่ 16 และวันสิ้นเดือน ในขณะเดียวกันสังคมก็ได้เห็นเรื่องหวย 30
ล้าน คล้ายละครโรงใหญ่ มีทนาย มีคู่ขัดแย้ง มีพยาน
อีกทั้งฝ่ายที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เข้ามามีบทบาทสำคัญคล้ายเป็นเรื่องพิพาทของตัวเอง
ทนายหลายคน กลายเป็นเซเลปในชั่วข้ามคืน ทั้งทนายของคู่ความ ทนายนอกคดี
ด้วยรายการประเภททอล์คทั้งหลาย ที่เปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้ได้แสดงบทบาท
กลายเป็นดาราหน้ากล้อง ที่ไม่ว่ารายการไหนก็ต้องได้เห็นหน้าเขา ความเห็น
มุมมองในแง่กฎหมาย ที่พวกเขาแสดงออก ที่พวกเขาตอบคำถาม นับว่ามีประโยชน์
ในการให้ความรู้กับผู้บริโภคข่าวสาร ที่อาจไม่เข้าใจแง่มุมของกฎหมายบางเรื่อง
ความยอกย้อนซ่อนเงื่อน (Mystery) ความต่อเนื่อง (Consequence) ความผิดปกติ (Unusualness) ความขัดแย้ง (Conflict) เรื่องที่มนุษย์สนใจ (Human
Interest) อารมณ์ (Emotion)
ล้วนเป็นองค์ประกอบคุณค่าข่าว ที่ทำให้ข่าวนี้อยู่ในตลาดได้ยาวนาน เป็นข่าวขายได้ และสร้างเรทติ้งสูง
เมื่อพูดถึงข่าวประเภท Human
Interest ที่กระทบความรู้สึกและอารมณ์ของผู้คน
หรือตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้ อยากเห็นของมนุษย์ ข่าวหวย 30 ล้าน มีคุณสมบัติครบถ้วน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ข่าวนี้ดูเหมือนจะจบ
หรือลดความสำคัญลงไปแล้ว หลังจากมีความชัดเจนในเรื่องคดี แต่มันไม่จบง่ายๆ
ในทางทฤษฏี ข่าวหวย 30 ล้าน ที่จัดอยู่ในประเภท Human Interest มักเป็นข่าวที่วูบวาบไปตามสถานการณ์
ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์สาธารณะ หรือมีสาระอันใด
อยู่ที่ความสนใจของสังคม เมื่อคนเลิกติดตาม ความสนใจลดลง ข่าวนี้ก็จะหายไป
ไม่ต้องให้ความใส่ใจมากนัก
แต่ข้อสังเกต คือ จำเป็นหรือไม่ ที่ Human
Interest จะต้องไร้สาระ และวูบวาบหายไปอย่างรวดเร็วเสมอ
คำตอบคือไม่จำเป็น ข่าวประเภทนี้ก็มีสาระได้ มีเนื้อหาที่สะท้อนคุณค่าบางแง่มุมได้
เช่น ข่าวการโต้แย้งกรรมสิทธิ์หวย 30 ล้านเรื่องนี้ มันสะท้อนให้เห็นกระบวนการสอบสวนของตำรวจ ที่ไม่ชัดเจน
ไม่โปร่งใส เป็นปรากฎการณ์ที่ยืนยันว่า การปฎิรูปตำรวจ
โดยเฉพาะกระบวนการสอบสวนนั้น เป็นความจำเป็น เร่งด่วน
มันสะท้อนให้เห็นว่า
ความเชื่อถือในตัวบุคคลนั้น ไม่ได้อยู่ในสถานะหรืออาชีพที่เขาทำ เช่น
อดีตข้าราชการตำรวจ กับครูสอนศีลธรรม
แต่ในความมีคุณค่านั้นเอง
ก็มีความไร้สาระปนเปื้อนอยู่ เพราะหลังการเดินทางของข่าว
ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
เหลือพื้นที่ที่ควรรายงานให้ผู้บริโภคข่าวสารรับรู้ คือขั้นตอนทางกฎหมาย ความคืบหน้าของคดีความที่เกี่ยวข้อง
ก็กลับมีข่าวต่อเนื่องที่เต็มไปด้วย Hate Speech ข่าวร้องมารยาททนายความ
ข่าวพยานในคดีถูกหลอกใช้ให้เป็นเหยื่อความขัดแย้ง ข่าวทนายโพสต์ข้อความเสียดสี
และแสดงราคาความเป็นทนายที่เหนือกว่าทนายคนอื่น ข่าวที่เลยเถิดไปถึงการดึงนายกรัฐมนตรีเข้ามาเกี่ยวข้อง
ซึ่งเป็นเรื่องเลอะเทอะอย่างยิ่ง
สื่อก็พยายามเสาะหา ประเด็นเล็ก ประเด็นน้อย
ที่ไร้สาระเหล่านี้ มาต่อชีวิตข่าวหวย 30 ล้าน
โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเรทติ้ง ไม่มีเรื่องอื่น ต่อให้ทนาย
หรือคนที่ถูกเชิญมาออกรายการ จะพูดจาเลื่อนเปื้อน ไม่มีสาระ ไม่มีเหตุผล
สร้างความเกลียดชังเพิ่มขึ้นอย่างไร ก็ไม่สำคัญ ก็ไม่คิดว่านี่เป็นความรับผิดชอบ
ต่อคนอ่าน คนดู คนฟัง ที่เขาควรเสพข่าวที่ไม่มีพิษ มีภัย และเป็นสาระกับชีวิต
เราจะต้องตกอยู่ในหล่มโคลนแห่งความไร้สาระนี้อีกนานเพียงใด
และอีกนานเพียงใด ทนายความจะรู้ว่าอาชีพนี้ไม่ใช่อาชีพ ที่ต้องคุยโวโอ้อวด
กล่าวอ้างสรรพคุณ อีกนานหรือไม่ ที่สื่อควรจะต้องกลับไปทำหน้าที่ “หมาเฝ้าบ้าน”
ทำข่าวทุจริตคอรัปชั่น ที่กำลังเบ่งบานราวดอกเห็ดแทบทุกตารางนิ้วของสังคม
หรือเราจะรอให้สื่อร้าย ทนายเลว
เกิดขึ้นเต็มบ้าน เต็มเมือง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1172 วันที่ 23 - 29 มีนาคม 2561)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น