‘ส้มเกลี้ยง’
ผลไม้ประจำถิ่นจังหวัดลำปาง ปลูกมากที่อำเภอเถินและอำเภอแม่พริก ในเขตพื้นที่ตำบลที่มีแม่น้ำวังไหลผ่าน
ได้แก่ ตำบลเถินบุรี ตำบลล้อมแรด ตำบลแม่ปะ และตำบลแม่ถอด
และพื้นที่อำเภอแม่พริกตามแนวแม่น้ำวังซึ่งติดกับอำเภอเถินนั่นเอง
ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทั้งสองอำเภอรวมพื้นที่กว่า 1,500 ไร่
จากอดีตส้มเกลี้ยงเป็นผลไม้ที่ขายดีตลอดปี
แต่หลังจากสภาพสังคมเปลี่ยนไป ผลไม้ และขนมในท้องตลาดมีความหลากหลายมากขึ้น
ทำให้ความนิยมทานส้มเกลี้ยงผลสดลดลง
ชาวสวนส้มเกลี้ยงก็หากรรมวิธีแปรรูปเป็นน้ำส้มเกลี้ยงคั้นสดขายตามงานเทศกาล
บางรายมีศักยภาพในการออกไปขายนอกพื้นที่ก็ออกงานมหกรรมสินค้าโอทอปต่างๆทั้งในลำปางและต่างจังหวัด
ทำรายได้เพิ่มนอกเหนือจากการขายผลสดหน้าสวน
แนวคิดในการแปรรูปส้มเกลี้ยงก็ยังเป็นเพียงความฝันของชาวสวนที่จะนำผลส้มเกลี้ยงสู่กระบวนการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าที่เป็นอยู่ หากแต่ยังขาดความรู้และเครื่องมือ
ที่ถูกต้องเหมาะสม
นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้นำข้อมูลจากการลงไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ปลูกส้มเกลี้ยงของลำปาง
มีความเห็นว่า
เป็นผลไม้ที่สมควรได้รับการพัฒนาให้เป็นสินค้าอัตลักษณ์ของลำปางที่มีศักยภาพอีกรายการหนึ่ง
จึงนำเข้าในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดจังหวัดลำปาง ด้านเกษตรปลอดภัย
เกษตรอินทรีย์ และแปรรูปเกษตร ภายใต้โครงการ “ ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐานแบบครบวงจร” เบื้องต้น สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง
ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ลงพื้นที่ประชุมหารือกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกและแปรูปส้มเกลี้ยงบ้านเกาะหัวช้าง
ม.1 ต. พระบาท วังตวง อ.แม่พริก จ.ลำปาง เพื่อหาแนวทางพัฒนาส้มเกลี้ยง
เพื่อหาแนวทางการยืดอายุและเก็บรักษาน้ำส้มเกลี้ยง
รวมถึงการนำผลผลิตส้มเกลี้ยงไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆครบวงจร ภายในปี 2561-2562
ดร.ชุติมา
เอี่ยมโชติชวลิต รองผู้ว่าการบริหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ระบุว่า
ผลผลิตส้มเกลี้ยงของลำปางที่ดีต่อการพัฒนาแบบยั่งยืนคือสามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งปี
มีจุดเด่นด้านรสชาติและกลิ่นหอมทั้งทานสดและนำมาคั้นเป็นน้ำส้มเกลี้ยงคั้นสด และสิ่งที่น่าสนใจจากความต้องการของเกษตรกรที่นำผลส้มเกลี้ยงไปคั้นสดขายได้ราคากว่าขายผลสดเป็นกิโล
ซึ่งวิธีถนอมน้ำส้มคั้นสดให้มีรสชาติดี แต่หากคั้นไว้นานจะเสียรสชาติ อาจจะต้องนำนวัตกรรมการแปรรูปมาช่วยเพิ่มมูลค่า
เช่นน้ำส้มเกลี้ยงแช่แข็งหรือ แยม
ซึ่งทางสถาบัน วว. มีห้องเย็นและ โรงงานแปรรูปผลไม้ที่จังหวัดแพร่ ที่สามารถเชื่อมโยงการพัฒนากันได้
นอกจากนี้ ยังมองว่า
การพัฒนานำเปลือกส้มเกลี้ยงไปสกัดเป็นสารที่ใช้ประโยชน์ในหมวดผลิตภัณฑ์อาหาร
และเครื่องสำอางได้เช่นกัน
บุญพิน คำภีระแปง หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกส้มเกลี้ยง
บ้านเกาะหัวช้าง ต. พระบาท วังตวง
อ.แม่พริก บอกว่าส้มเกลี้ยงถือเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวอำเภอแม่พริกและอำเภอเถิน ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกแบบใช้ปุ๋ยคอก
ปลอดสารเคมี จึงเป็นที่นิยมบริโภค
สร้างรายได้ตลอดปี โดยทั่วไปจะขายผลสดให้กับพ่อค้าคนกลาง
หรือเกษตรกรนำไปขายเองตลาด สดและขายตามงานเทศกาล กิโลละ 20 บาท ส่วนตนมักจะนำผลสดไปแปรรูปขายเป็นน้ำส้มเกลี้ยงคั้นสด
ตามงานมหกรรมสินค้าโอทอปในราคา แก้วและ 30 บาท ซึ่งมีรายได้ดีกว่า
“ช่วงเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงที่มีผลผลิตมาก
ขายไม่ทันซึ่งเกษตรกรมีความต้องการพัฒนาด้านแปรรูปต่างๆ
เพื่อนำผลผลิตที่ล้นตลาดดังกล่าว ไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆให้เกิดรายได้มากกว่าปล่อยทิ้งทำปุ๋ย เกษตรกรมีความหวังว่า
หากได้รับการพัฒนาการแปรรูปจะช่วยต่อยอดสอดคล้องกับการส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์ส้มเกลี้ยงของลำปาง
และยังจะช่วยเพิ่มช่องทางอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังจะมีผลดีต่อการท่องเที่ยวดึงดูดให้คนต่างถิ่นเข้ามาเที่ยวลำปางได้ชิมส้มเกลี้ยงในท้องถิ่นได้อีกด้วย”
การต่อยอดการพัฒนาอย่างจริงจังในเรื่องของผลผลิตส้มเกลี้ยงลำปาง
กำลังจะเดินหน้า เมื่อผลการศึกษาและแนวทางการพัฒนาถูกวางอย่างเป็นระบบ
เพื่อส่งต่อให้เกษตรกรและชาวอำเภอเถินและแม่พริกได้เข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปที่ถูกทิศทาง
ตำนานส้มเกลี้ยงลำปาง จะถูกส่งต่อไปในรูปของผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย
คู่กับการรักษาอัตลักษณ์ท้องถิ่น
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น