วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2561

พันธ์ใหม่LP1สับปะรดลำปาง ผ่าทางตัน แก้ปัญหาครบวงจร

จำนวนผู้เข้าชม Home Remedies For Wrinkles

จังหวัดลำปางหนุนพัฒนาแก้ปัญหาผลผลิตสับปะรดลำปางครบวงจร ต่อยอดการปลูกแบบไร้สารเคมี ใช้นวัตกรรมเพาะเนื้อเยื่อ ผลิตต้นพันธุ์สับปะรดลำปาง LP1 และหน่อพันธุ์สับปะรดผลสดพันธุ์  MD-2 ตอบโจทย์ขายผลสดได้ราคา

รอยยิ้มอิ่มใจของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดลำปางกว่า 100 รายกำลังจะเบ่งบานไปพร้อมๆกับ ช่างเอก หรือ กฤษณะ สิทธิหาญ เกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ผู้ปลูกสับปะรด เจ้าของแปลงปลูกสับปะรดอินทรีย์ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) จังหวัดลำปาง ที่คนในวงการเกษตรรู้จักผลงานของเขา จนขนานนามว่า “กฤษณะโมเดล” ซึ่งเขาได้มุ่งมั่นทดลอง ปลูกสับปะรดอินทรีย์ ไร่สารเคมี ภายใต้หลักการ.. ทำน้อย แต่รายได้มาก ทำสับปะรดปลอดสารเคมี มีคุณภาพขายราคางาม แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาตามที่ลานนาBizweek เคยนำเสนอเรื่องราวไปก่อนหน้านี้  

จากผลสำเร็จดังกล่าว มีเกษตรกรอีกหลายรายเข้าร่วมแนวทางการปลูกสับปะรดอินทรีย์ 120 รายที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)  และเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าขณะนี้ ทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาแนวยั่งยืน จึงเข้ามาสนับสนุน งบประมาณจากวงเงิน 2.8 ล้านบาท ในปี 2561 และ ต่อเนื่องปี 2562 วงเงิน 5.7 ล้านบาท  ตามยุทธศาสตร์จังหวัดลำปาง ด้านเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ และแปรรูปเกษตรภายใต้โครงการ ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐานแบบครบวงจรเพื่อ ส่งเสริมการผลิตสับปะรดปลอดภัยสู่เกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก  การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร และสร้างมูลค่าเพิ่มภายใต้แนวคิดเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้ ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีความหลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 

ซึ่งจะต่อยอดการพัฒนาไปจนถึง การผลิตหน่อพันธุ์สับปะรดผลสดพันธุ์  MD2 ซึ่งเป็นสายพันธ์ที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ขณะเดียวกัน มีเป้าหมายจะพัฒนาจนถึงการผลิตต้นพันธุ์สับปะรดลำปาง LP1 ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งจะกลายเป็นสับปะรดสายพันธุ์ลำปางที่ถูกพัฒนามาจากสายพันธ์ปัตตาเวีย มีผลขนาดใหญ่ รสชาติดี เป็นสินค้าเกษตร และแปรรูปที่มีอัตลักษณ์ของลำปาง

ขณะเดียวกันทางจังหวัดได้เชิญ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต รองผู้ว่าการบริหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตร แปรรูปอาหารและ การตลาด เข้ามาพบปะหารือร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดแปลงใหญ่ ที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตรสับปะรด บ้านเสด็จ ต.บ้านเสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง เพื่อหาแนวทางพัฒนาต่อยอด และยกระดับกระบวนการผลิตสับปะรดปลอดสารเคมีออกสู่ตลาดแบบครบวงจร  ให้ขายได้ทั้งปีและได้ราคาสูง  การนำใบมาใช้ประโยชน์ รวมถึงการแก้ปัญหาสารไนเตรทหรือสารเร่งในแปลงปลูก  ซึ่งทางคณะนักวิจัย ได้เสนอให้นำโมเดลการพัฒนาสับปะรดที่เคยทำไว้ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาปรับใช้ ในการแก้ปัญหาและพัฒนาสร้างอัตลักษณ์สับปะรดลำปางที่มีศักยภาพ เช่น การทำจุลินทรีย์จากสับปะรดที่สามารถสร้างสารเอททีลีน ซึ่งใช้สำหรับการปลูกสับปะรดนอกฤดูการซึ่งจะส่งผลให้กระบวนการเพาะปลูกเป็นอินทรีย์  100 % ทั้งนี้ จะต้องวางแนวทางศึกษาวิจัยลงลึก และเสนอให้ทางจังหวัดวางแผนงานบูรณาการความร่วมมือจากหลายฝ่ายในปีนี้

นอกจากนี้ยังได้พูดคุยถึงประเด็นพัฒนาการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบที่ทันสมัย นอกเหนือจากแค่เป็นสับปะรดกวน  รวมถึงการแปรูปอื่นเช่น น้ำยาล้างจาน น้ำส้มสายชู นำสับปะรดพร้อมดื่มต่างๆ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาลำปางเคยได้ศึกษาไว้บางส่วนและมีกลุ่มเกษตรกรทำอยู่แล้ว  แต่ยังขาดการต่อยอด ยกระดับให้แปรรูปที่มีมูลค่าทางการตลาด

นายกฤษณะ สิทธิหาญ ซึ่งเป็น เกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ผู้ปลูกสับปะรด เจ้าของแปลงปลูกสับปะรดอินทรีย์ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)จังหวัดลำปาง กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ทางจังหวัดให้ความสำคัญและช่วยผลักดัน และสนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาเกษตร สับปะรด ให้ยกระดับขึ้น จากเดิมที่ตนทำคนเดียว จากการคิดและทดลองการทำสับปะรดปลอดสารเคมีได้ผล โดยใช้เครื่องมือการเกษตรที่ดัดแปลงขึ้นช่วยเพิ่มศักยภาพผลผลิต ขายได้ราคาสูง ให้สามารถส่งต่อ ขยายวงไปยังเกษตรกรรายอื่นมาร่วมเป็นเครือข่ายกันกว่า 100 ราย เพื่อเป้าหมายสับปะรดลำปางจะยกระดับการขายผลสดเข้าโรงงาน เป็นการขายรูปแบบอื่นๆ ให้วงจรผลิตและการตลาดสมดุลกัน ในอนาคตอันใกล้นี้

“เดิมทีสับปะรดของลำปางยังไม่มีความชัดเจนเรื่องของการตลาด ว่าตกลงจะปลูกขายเข้าโรงงานหรือขายผลสด เพราะถ้าปลูกขายเข้าโรงงานก็จะเน้นที่น้ำหนัก ขนาด ไม่สนใจรสชาติ แต่ถ้าเจอปัญญาผลผลิตล้นตลาด หรือโรงงานไม่รับซื้อในบางช่วงที่ผลผลิตจังหวัดที่อยู่ใกล้โรงงานมีผลผลิตดี เราก็เสียเปรียบเพราะเรามีระยะทาง ค่าขนส่งสูงกว่า แต่หากขายผลสดเราก็ยังตอบโจทย์เรื่องรสชาติที่ดีไม่ได้   เกษตรกรที่ปลูกแบบคละกันไปก็เจอปัญหาการตลาด ดังนั้นหากเรา มีการพัฒนาสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์การขายผลสด หรือพัฒนากระบวนการปลูกให้สามารถผลิตสับปะรดที่มีขนาดตามความต้องการเข้าสู่โรงงานแปรรูปได้ จะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด จากนี้เรามีแนวทางและงบประมาณดำเนินการที่ชัดเจนซึ่งทางจังหวัดสนับสนุน มีหน่วยงานรัฐเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง จะช่วยแก้ปัญหาสับปะรดลำปางยั่งยืนได้ครับ”     

สับปะรด MD-2 จัดว่าเป็นพันธุ์ที่นิยมในวงการค้าและตลาดโลก โดย สับปะรด MD-2 มีสัดส่วนการตลาดในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปถึงร้อยละ 95 สามารถแย่งตลาดจากสับปะรดพันธุ์สมูทเคยีนและสับปะรดพันธุ์อื่นๆ ที่เคยครองความนิยมของผู้บริโภคลงได้อย่างสิ้นเชิง เป็นการพลิกประวัติศาสตร์ในวงการค้าสับปะรดผลสดของโลก หากลำปางได้รับการส่งเสริมให้ปลูกแบบปลอดเคมี ขายในรูปแบบของผลสด จะได้ราคาสูง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1174 วันที่ 6 - 19 เมษายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์