วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

กฟผ.ยันไม่ใช่ไซยาไนต์สารเคมีรั่วไหลทำลาย 6 พันลิตร

จำนวนผู้เข้าชม

กฟผ.แม่เมาะยันสารที่รั่วไหลไม่ใช่ไซยาไนต์  ทำการแก้ไขปัญหาแล้วโดยการถ่ายเทกรดไฮโดรคลอริก ทั้งหมด 6,000 ลิตร ลงในบ่อใต้ดิน เจือจางกับน้ำและใช้ด่างผสมให้เป็นกลาง ส่วนแท็งก์บรรจุเดิมที่รั่วใช้เวลาแก้ไข 2 วันเสร็จ  คนงานภายในโรงไฟฟ้ายังคงทำงานตามปกติ  ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจแก่ประชาชนพื้นที่โดยรอบ

หลังจากเกิดกรณีพบกรดไฮโดรคลอริค (HCL) หรือกรดเกลือ รั่วไหลในปริมาณเล็กน้อย บริเวณวาล์วที่เชื่อมต่อตัวถังเก็บสารเคมีกับตัวท่อส่งสารเคมี ระหว่างการทดสอบระบบ ในพื้นที่โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ  จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 6 พ.ค.61 ที่ผ่านมา

ความคืบหน้า วันที่ 7 พ.ค.61 นายเลอศักดิ์ กุลเสถียร วิศวกรชำนาญการ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง และตัวแทนเจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง  พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำปาง  เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุการณ์รั่วไหลของกรดไฮโดรคลอริคภายในพื้นที่โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7   เพื่อตรวจติดตามการแก้ไขปัญหา  โดยเบื้องต้น ตรวจสอบแล้วพบว่าสารเคมีที่รั่วซึมนั้นคือกรดเกลือซึ่งมีไว้สำหรับใช้ปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมสำหรับนำไปใช้ในโรงไฟฟ้า หลังเกิดเหตุ กฟผ. ก็ได้มีการแก้ไขปัญหาได้ตามมาตรการที่ได้แจ้งไว้ ผลการระงับเหตุเป็นที่น่าพอใจ ทางสำนักงานอุตสาหกรรมฯ จึงไม่ได้มีความกังวลใด เนื่องจากเห็นว่าเป็นจุดรั่วเล็กน้อยที่เกิดจากการติดตั้งเครื่องจักร อีกทั้งไม่ได้สร้างผลกระทบใดต่อชุมชน

นายอติชาติ โซวจินดา ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7   กล่าวยืนยันว่า กรดไฮโดรคลอริค (HCL) หรือกรดเกลือ เป็นเพียงแค่กรด ไม่ใช่สารไซยาไนต์ที่เป็นสารพิษอันตราย ตามที่มีข่าวออกไป เพราะในพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ ไม่ใช้สารพิษในการทำงานเด็ดขาด โดยหลังเกิดเหตุ ทางอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางได้ลงพื้นที่ตรวจสอบทันที และรวมทั้งได้ส่งวิศวกรชำนาญการ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางเข้ามาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  และส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูยังจุดเกิดเหตุ และตรวจสอบรายละเอียดต่างพบว่ายังมีการทำงานปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ  ส่วนจุดเกิดเหตุนั้นมีการกั้นบริเวณห้ามเข้าใกล้ภายในระยะ 10 เมตร ไม่ส่งผลต่อการทำงานแต่อย่างใด

 สำหรับการแก้ไขในเบื้องต้น นายอติชาติ กล่าวว่า  ในครั้งแรก มีการพบรอยรั่วตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.61 แต่ยังรั่วไม่มาก ทางบริษัทมีแผนที่จะถ่ายเทสารเคมีออกจากแทงก์นำไปเก็บไว้ในรถบรรทุกก่อน เพื่อไม่ให้เสียสารเคมีไปสามารถนำกลับมาใช้ได้ และทำการซ่อมแซมตรงจุดที่รั่ว แต่ไม่ทันการณ์เพราะมีการรั่วไหลเพิ่มมากขึ้น จึงต้องยอมทิ้งสารเคมีทั้งหมด 6 คิว หรือเท่ากับ 6,000 ลิตร เพื่อความปลอดภัยของคนงานและพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

เนื่องจากเกิดการรั่วไหลบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างตัวถังเก็บสารเคมี และท่อที่จะส่งไปใช้ในการปรับคุณภาพน้ำ ซึ่งมีกรดไฮโดรคลอริกอยู่ในตัวถังประมาณ 6 คิว   ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการระบายกรดไฮโดรคลอริคที่อยู่ในตัวถังลงในบ่อคอนกรีตใต้ดินซึ่งมีความจุได้ถึง 50 คิว  และทำการเจือจางกับน้ำ จากนั้นผสมด่างลงไปให้น้ำมีความเป็นกลาง น้ำในส่วนนี้ก็จะอยู่ในคุณภาพที่เป็นมาตรฐาน เป็นน้ำสะอาดแล้วจะนำไปไว้หมุนเวียนใช้งานในพื้นที่โครงการต่อไป ส่วนการซ่อมแซมส่วนที่รั่วไหลนั้น คาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายใน 2 วัน  จึงจะกลับมาทดสอบเดินเครื่องต่อไป  ในส่วนคนงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในงานอื่นๆก็ยังคงมาทำงานตามปกติ  ส่วนบริเวณจุดเกิดเหตุจะมีเฉพาะคนงานที่แก้ไขในส่วนท่อที่รั่วไหลเข้ามาทำงานเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการ (EHIA) อย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ และสามารถตรวจสอบได้เพราะหลังเกิดเหตุฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในจังหวัดและส่วนกลางได้เข้ามาตรวจสอบและติดตามข้อเท็จจริงถึงในพื้นที่ เพื่อยืนยันได้ว่าไม่ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแต่อย่างใด

สำหรับความคืบหน้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนฯ ได้ดำเนินการไปแล้ว 97 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบการเดินระบบ โดยกำหนดจะแล้วเสร็จและเปิดเดินระบบได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 13 พ.ย.61 นี้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1178 วันที่ 11 - 17 พฤษภาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์