วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

มนต์เสน่ห์แม่เมาะ-เกาะคา ขุนเขา-สายน้ำ-ร่องรอยยุคโบราณ แม่เหล็กท่องเที่ยวที่รอการพัฒนา

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

อาจไม่ต้องรอให้สมบูรณ์แบบ หรือที่เขาเรียกว่า “เพอร์เฟค” เพราะความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง เมื่อการท่องเที่ยวในยุคนี้มีสถานที่มากมายรอนักท่องเที่ยวให้มาพักผ่อนหย่อนใจ  ยิ่งปี 2561 รัฐบาลประกาศให้เป็น ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืนเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการท่องเที่ยวในเมืองไทยนำรายได้ไปหมุนเวียนเข้าในแหล่งชุมชนกันให้มากขึ้น

แม่เมาะก็เป็นหนึ่งในดินแดนแห่งโอกาสเรื่องการท่องท่องเที่ยว เพราะมีเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ ที่จัดทุกปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน หากมองเป็นโอกาส ชาวแม่เมาะก็น่าจะได้เปรียบกว่าที่อื่นอยู่ไม่น้อยเพราะงานนี้โปรโมทแบบยิ่งใหญ่ทุกปี

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในอำเภอแม่เมาะ ไม่ได้มีแค่เหมืองลิกไนต์และโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่ที่แห่งนี้ยังมีเรื่องราว (Story) อีกมากมาย เพราะเป็นดินแดนที่เคยมีภูเขาไฟในอดีต ซึ่งยังมีให้เห็นในปัจจุบัน แต่ต้องเดินเลาะภูเขาขึ้นไปชม หรือชมจากที่สูงด้วยพาหนะทางอากาศ  นี่ก็เป็นโอกาสที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว แต่ก็ถือว่าเป็นจุดแข็งที่เดียวในประเทศไทยหากพัฒนาให้เป็นจุดที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ กับเส้นทางธรรมชาติ รวมถึงวิถีชุมชนที่อยู่ในเส้นทางขึ้นชมภูเขาไฟเข้าด้วยกัน ก็จะเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ขายคนไทยและชาวต่างชาติให้มาเยี่ยมชมที่น่าสนใจ

ปล่องภูเขาไฟลำปางที่ว่านี้ มี 2 ปล่อง ชื่อว่า ปล่องภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟู และ ปล่องภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดด ผาคอก หมายถึงเขาที่มีผากั้นล้อมรอบ  หินฟู หมายถึงหินที่มีลักษณะเป็นรอยแตกฟู มีน้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ หรือตะกรันภูเขาไฟ (Scoria)  ส่วน จำป่าแดด เป็นชื่อของต้นไม้ที่ขึ้นเป็นจำนวนมากในบริเวณปล่องภูเขาไฟ  ปล่องภูเขาไฟทั้งสอง ตั้งอยู่ไม่ห่างกันโดยอยู่คนละฝั่งถนน สายเข้าเหมืองถ่านหินแม่เมาะ เลี้ยวขวาเข้าวัดเวียงสวรรค์ เลยวัดไป 3 กม. จะมีทางเดินขึ้น ศาลาชมวิวบนยอดเขา ซึ่งสร้างอยู่บนปากปล่องของภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟู ส่วนปล่องภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดด ไม่มีทางขึ้น

ปล่องภูเขาไฟที่อำเภอแม่เมาะสามารถ เชื่อมโยงเรื่องราวกับปล่องภูเขาไฟที่เขตอำเภอเกาะคา มีลักษณะเป็นเนินยาวขนานไปกับแม่น้ำวัง  บริเวณปล่องภูเขาไฟพบการหลากของชั้นลาวา นับได้ 5 ชั้น  พื้นที่โดยรอบปัจจุบันเป็นหมู่บ้านชุมชน และ ยังเป็นเส้นทางทางเชื่อมโยงกับภูเขากระจกและแหล่งภูเขาที่พบซากมนุษย์ดึกดำบรรพ์ “มนุษย์เกาะคา” และภูเขาแห่งนี้มีถ้าให้เที่ยวชมหลายแห่งในเขตหมู่บ้านหาดปู่ด้าย ต.นาแส่ง อ.เกาะคา ซึ่งขณะนี้ทางอำเภอและจังหวัด กำลังส่งเสริมพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง

นอกจากภูเขาไฟแล้วที่แม่เมาะ ยังมีแหล่งเที่ยวทางธรรมชาติที่ไม่แพ้ที่ใด อย่างเส้นทางเที่ยวชมภาพเขียนสีโบราณประตูผา อายุกว่า 3พันปี และแหล่งท่องเที่ยวที่มาแรงคงไม่พ้น “ผาหอบ” ชาวบ้านจัดทำแพให้ลาก และถ่อไปในลำน้ำแม่จางที่อยู่ระหว่างหุบเขา หน้าผาสูง ที่นี่นักเที่ยวหลายคนให้ฉายาว่า “กุ้ยหลินเล็กๆ”  ข้อดีคือที่นี่ ตั้งอยู่ไม่ห่างจากตัวอำเภอแม่เมาะหรือไม่ห่างจากเส้นทางไปชมภูเขาไฟมากนัก จากเดินทางมาด้วยรถยนต์หรือปั่นจักรยานก็เข้าถึงได้โดยง่าย เพราะเป็นพื้นที่ป่าชุมชนบ้านแม่เกี๋ยง หมู่ที่ 7 ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

เส้นทางเดินเข้าไปถึงจุดนั่งแพ จะต้องเดินเท้าเข้าไปราว 300 เมตร เมื่อไปถึงจะมีชาวบ้านที่ให้บริการแพ ซึ่งจะเป็นแพแบบดึงเชือก ไม่ติดเครื่องยนต์ และยังมีเรือคายัค โดยคิดค่าบริการล่องแพ คนละ 50 บาท  คือไปชมถ้ำรูปหัวใจ มองจากด้านนอกเห็นเป็นรูปหัวใจซ้อนกัน หากเดินเข้าไปในถ้ำซึ่งไม่ลึก มองออกมาจะเห็นเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว หรือรูปหัวใจ ก็แล้วแต่จินตนาการ

เรื่องราวแห่งขุนเขาที่แม่เมาะถึงเกาะคา ถึงถือว่าเป็นเสน่ห์ที่น่ายล เพียงแค่ขาดการพัฒนาเชื่อมโยงให้เป็นโปรแกรมเที่ยวที่เกิดมูลค่า สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างจริงจัง การเดินทางไปเที่ยวถ้ำอาจจะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเฉพาะที่ชอบการผจญภัย ชอบเที่ยวธรรมชาติ ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่เพียงนักเที่ยวในไทยแต่ ตลาดชาวต่างชาติกลับเป็นกลุ่มสำคัญ เมื่อเทียบกับแหล่งเที่ยวภูเขา แถบประเทศเวียดนามกลาง จังหวัด กวางบิ่ง (Quang Binh) ที่คนทั่วโลกรู้จักในนามดินแดนร้อยถ้ำ และมีแม่เหล็กใหญ่ที่ดึงดูดนักผจญภัยทั่วโลกคือ ถ้ำเซินด่อง” (Son Doong Cave) กลายเป็นทริปทัวร์ป่าในถ้ำใหญ่ ที่นักเที่ยวทั่วโลกจองเพื่อไปเยือนสักครั้งในชีวิต  สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นปีละหลายพันล้านบาท 

เมื่อมี จุดขาย ก็ต้องสร้าง “จุดแข็ง”

การท่องเที่ยวธรรมชาติหากมองให้ทะลุถึงกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ หรือยิงเป้าให้ถึงกลุ่มบริษัทที่ขายทัวร์ให้นักเที่ยวชาวต่างชาติ ชาวบ้านชุมชนรอบข้าง ทั้งที่พัก อาหาร สินค้าชุมชน ก็พลอยได้ผลประโยชน์ หากเชื่อมโยงกับชุมชนโอทอป ชุมชนเกษตรวิถีพอเพียง หรือ หมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งแม่เมาะมี ถึง 2 แห่ง คือ บ้านเมาะหลวง ต.แม่เมาะ และหมู่บ้านจำปุย ต.บ้านดง ที่นักท่องเที่ยวต่างถิ่นแวะเข้าไปจับจ่าย หรือแม้แต่แค่ถ่ายรูปก็ได้ผลในทางบวก เพราะภาพที่เขาถ่ายในสถานที่เหล่านั้นจะถูกแชร์แบ่งปันผ่านโลกออนไลน์เย้ายวนชวนให้ผู้พบเห็นอยากมาเยือนด้วยเช่นกัน

เมื่อถึงวันที่การท่องเที่ยวถูกแบ่งปันไปในโลกออนไลน์ มันหมายถึงโอกาส ที่ต้องรับพัฒนาเชิงรับให้เต็มที่ เอาแค่ เรื่องภูเขา กับสายน้ำ แหล่งร่องรอยยุคโบราณ ก็สร้างมูลค่าจากทรัพย์แผ่นดินส่งผลต่อคนในชุมชนท้องถิ่น ทราบว่าผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางก็ได้เดินทางไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวผาหอบด้วยเช่นกัน หากเป็นข่าวดี อาจจะมีงบประมาณลงไปสนับสนุนการพัฒนาบ้าง แต่ประเด็นคือใคร? จะมีส่วนร่วมในเส้นทางในการพัฒนาและใครจะเป็นพลังสำคัญช่วยผลักดันให้เรื่องเล่าขุนเขาที่แม่เมาะ เกาะคา กลายเป็นทริปปลายทางฝัน เป็นแม่เหล็กสร้างรายได้เข้าชุมชน อีกทางหนึ่ง และต้องถาม และตอบกันอย่างจริงจังว่า รายได้การท่องเที่ยวที่ผ่านมา..ถึงมือชาวบ้านและชุมชนที่แท้จริงหรือยัง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1177 วันที่ 4 - 10 พฤษภาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์